การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (22)

ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร และสุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค โดยกำหนดภูมิภาคละ 2 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยในแต่ละภูมิภาคกำหนดให้เก็บข้อมูลในโรงพยาบาล 5 แห่ง และโรงเรียน 5 แห่ง โดยใช้การสุ่มโรงพยาบาลและโรงเรียนตามความเหมาะสม (Convenient sampling) รวมเก็บข้อมูลกับโรงพยาบาล จำนวน 25 แห่ง และโรงเรียน 25 แห่ง ซึ่งผลที่ได้ในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในระบบสุขภาพจำนวน 471 คน และในระบบการศึกษาจำนวน 384 คน รวมทั้งสองกลุ่มเป็นจำนวน 855 คนโดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (ร้อยละ 81.7) มีสถานภาพสมรสทั้งโสด (ร้อยละ 48.2) และสมรส (ร้อยละ 47.9) ใกล้เคียงกัน เกือบสามในสี่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 72.9) รองลงมาคือจบการศึกษาระดับปริญญาโท (ร้อยละ 19.2) เมื่อพิจารณาถึงประเภทของกลุ่มตัวอย่าง เกือบครึ่งหนึ่งเป็นครูและอาจารย์ในระบบการศึกษา ร้อยละ 44.9 นอกนั้นเป็นบุคลากรในระบบสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยาบาล ร้อยละ 32.6 นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังครอบคลุมถึง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคกลาง (ร้อยละ 21.1) ภาคเหนือ (ร้อยละ 21.6) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 21.3) ภาคใต้ (ร้อยละ 16) และกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 20.9) สำหรับอายุของกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉลี่ยมีอายุ 37.2 ปี และมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยเฉลี่ย 13.6 ปี

การวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วยขั้นตอนทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณในการทำงาน และขั้นตอนหรือกระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณ จากเอกสารทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย แนวคิด ทฤษฎี เครื่องมือวัด การพัฒนา และงานวิจัย

ขั้นตอนที่ 2 สังเคราะห์และสรุปความหมาย องค์ประกอบ แนวทางในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content validity) โดยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยพิจารณาทั้งความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา

ขั้นตอนที่ 4 ปรับปรุงแก้ไข ความหมาย องค์ประกอบ และแนวทางการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา ได้ร่างเครื่องมือวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา จากการทบทวนวรรณกรรมและจากผู้ทรงคุณวุฒิ

ขั้นตอนที่ 5 ทดลองใช้เครื่องมือกับกลุ่มตัวอย่างรวมในระบบสุขภาพและระบบการศึกษาจำนวน 855 คน

ขั้นตอนที่ 6 นำข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้เครื่องมือวัด นำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor Analysis) เพื่อหาองค์ประกอบของจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา

ขั้นตอนที่ 7 หาคุณภาพเครื่องมือวัดจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา โดย

– ค่าอำนาจจำแนกรายข้อ โดยใช้การวิเคราะห์ค่าสหสัมพันธ์คะแนนรายข้อกับคะแนนรวม (Item-total correlation)

– ค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือวัด (Reliability) โดยการหาค่าความเชื่อมั่นแบบความสอดคล้องภายใน (Internal consistency) ด้วยวิธีการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient)

นอกจากนี้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้างต้น ผู้วิจัยได้วิเคราะห์เกณฑ์ปกติซึ่งแสดงค่าพื้นฐานของคะแนนรวมและคะแนนในแต่ละองค์ประกอบเพื่อประโยชน์ในการใช้เปรียบเทียบเพื่อการพัฒนาเมื่อนำแบบวัดไปใช้ต่อไป

สรุปผลการวิจัย

คณะผู้วิจัยจะนำเสนอการสรุปผลการวิจัยจากผลที่ได้จากกระบวนการวิจัยในแต่ละขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับจิตวิญญาณในบริบทต่างๆ รวมทั้งในกลุ่มผู้ทำงานด้านสุขภาพและการศึกษา พบว่า การวิจัยด้านจิตวิญญาณส่วนใหญ่เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย แบบทดสอบเกี่ยวกับจิตวิญญาณ แบบวัดการรับรู้ทางจิตวิญญาณ แบบวัดจิตวิญญาณตามแนวจิตวิทยา แบบวัดจิตวิญญาณในการทำงาน แบบสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบบันทึกจากการสังเกตพฤติกรรม วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยที่พบคือเพื่อทำการศึกษาความหมาย ลักษณะ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีจิตวิญญาณและการพัฒนาจิตวิญญาณในการทำงาน รวมถึงผลของจิตวิญญาณต่อผลลัพธ์ของการทำงาน พฤติกรรมการทำงาน ความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ โดยผลการวิจัยพบว่าจิตวิญญาณหมายถึงความต้องการตามธรรมชาติของบุคคลที่จะมีสุขภาพดี ค้นพบความหมายและเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งจิตวิญญาณเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายในอย่างความเชื่อทางศาสนา ความมีสติปัญญา ความต้องการของบุคคล รวมทั้งปัจจัยภายนอกอย่างวัฒนธรรม สภาพในชุมชน นโยบายของหน่วยงาน มาตรฐานการทำงาน ลักษณะงานหรืออาชีพและลักษณะหรือภาวะผู้นำของหัวหน้างาน

2. จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณพบว่า นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศต่างก็ได้ให้ความหมายและอธิบายคุณลักษณะของสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่แตกต่างกันออกไป และได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเช่นศาสนา และค่านิยมทางสังคมในการตีความหมาย คณะผู้วิจัยตัดสินใจเลือกใช้นิยามของ นงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) เป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญในการสรุปนิยามและองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณที่จะถูกนำมาใช้การการพัฒนาเครื่องมือประเมิน ซึ่งประกอบไปด้วยสุขภาวะทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น 18 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1) เมตตากรุณา อยากช่วยเหลือ

2) จิตใจอ่อนโยน เข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น

3) เป็นมิตร เป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย

4) รับผิดชอบ

5) ยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย

6) เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

7) จัดการ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้

8) เข้มแข็ง อดทน

9) เสียสละ

10) มุ่งมั่น ทุ่มเท

11) มองโลกในแง่ดี

12) ยอมรับและให้อภัย

13) มีพลังแห่งการเรียนรู้

14) กล้าหาญ

15) คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ

16) อ่อนน้อมถ่อมตน

17) ประสานความแตกต่าง

18) พอเพียง