การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (20)

แรงจูงใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมือนคนในครอบครัว เชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในเป้าหมายของชีวิตและต้องการถ่ายทอดเรื่องจิตวิญญาณให้ผู้ป่วยได้เข้าใจต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือทัศนคติในทางบวกต่อการทำงานที่เป็นผลมาจากการมีจิตวิญญาณในการทำงาน

Ynag and Mao (2007) ได้ศึกษาความสามารถทางจิตวิญญาณ (Spiritual intelligence) ของพยาบาลเพื่อค้นหาผลของจิตวิญญาณในการทำงานที่มีต่อพฤติกรรมในการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วย เพื่อทดสอบคุณลักษณะส่วนบุคคลกับความสามารถทางจิตวิญญาณ และแนวคิดทางศาสนาที่มีผลต่อความสามารถทางจิตวิญญาณของพยาบาลวิชาชีพจาก 16 โรงพยาบาลในประเทศจีน จำนวน 130 คน ด้วยแบบวัดจิตวิญญาณตามแนวทางของจิตวิทยา (Psycho-Matrix Spirituality Inventroy-PSI) ของ Wolman (2001 cited in Ynag and Mao, 2007) ประเมินใน 7 ด้าน คือ ความศักดิ์สิทธิ์ (Divinity) การดูแลเอาใจใส่ (Mindfulness) โทรจิต (Extrasensory perception) ชุมชน (Community) สติปัญญา (Intellectuality) ความบอบช้ำทางจิตใจ (Trauma) และจิตวิญญาณในวัยเด็ก (Childhood spirituality) คำถามมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า 4 ระดับ และใช้การสัมภาษณ์พยาบาลระดับผู้บริหารในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยจิตวิญญาณในการทำงานของพยาบาล ประกอบด้วย ความเชื่อในแหล่งที่มาของพลังอำนาจ ความสนใจและตระหนักรู้ในกระบวนการของร่างกาย ความสามารถในการคาดการณ์ ความต้องการมีกิจกรรมร่วมกับสังคม ความต้องการอภิปรายหรือแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิญญาณกับผู้อื่นและกระบวนการทางความคิดเกี่ยวกับวิกฤติกาลหรือภาวะฉุกเฉิน ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าความสามารถทางจิตวิญญาณจะช่วยให้พยาบาลเข้าใจความเป็นไปตามธรรมชาติ มีอุดมการณ์ ตระหนักรู้ในแหล่งที่มาของการกระทำ พอใจในสุขภาพและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ส่งผลให้มีพฤติกรรมในการดูแลผู้ป่วยด้วยความรักและความเข้าใจ อย่างไรก็ตามความสามารถทางจิตวิญญาณในการทำงานของพยาบาลไม่มีความแตกต่างกันตามคุณลักษณะส่วนบุคคลอย่างอายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อายุงานและประสบการณ์ ในขณะที่พยาบาลผู้ยึดมั่นในแนวคิดทางศาสนาส่งผลให้มีคะแนนความสามารถทางจิตวิญญาณสูงอันเป็นผลมาจากวัฒนธรรมของชาวจีน ดังนั้นแนวคิดทางศาสนาจึงสามารถร่วมทำนายความสามารถทางจิตวิญญาณได้

ชลลดา ทองทวี จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร ธีระพล เต็มอุดม พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์ และสรยุทธ รัตนพจนารถ (2551) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องของจิตตปัญญาพฤกษา: การสำรวจและสังเคราะห์ความรู้จิตตปัญญาศึกษาเบื้องต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา โดยการรวบรวมประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ความรู้จากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สร้างฐานข้อมูลจิตตปัญญาศึกษาเกี่ยวกับบุคคล กลุ่มหรือองค์กร และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นฐานความรู้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานจิตตปัญญาศึกษา รวมทั้งศึกษาหาประเด็นการวิจัยและสร้างแผนที่ลำดับความสำคัญของการวิจัย (Research priority mapping) ที่เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและนักปฏิบัติด้านจิตตปัญญาศึกษา การศึกษาวิจัยได้ประมวลความรู้ตามบริบททางศาสนา บริบททางสังคมและวัฒนธรรม และบริบททางการศึกษา ครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ประวัติพัฒนาการแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2. เครื่องมือ กระบวนการ และการปฏิบัติเกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา 3. แนวทางการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาสู่วงการต่างๆ 4. วิธีวิทยาการวิจัยทางจิตตปัญญาศึกษา และ 5. การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา ผลจากการศึกษาครั้งนี้ได้ให้นิยามจิตตปัญญาศึกษาว่าหมายถึง กระบวนการเรียนรู้และบริบทที่เป็นเหตุปัจจัยเกื้อกูลต่อองค์ประกอบหรือกระแสแห่งการพัฒนาจากจิตเล็กสู่จิตใหญ่ โดยหยั่งรากลงถึงฐานคิดเชิงศาสนา มนุษยนิยม และองค์รวมบูรณาการ คือจากจิตที่ยึดติดกับอัตตาตัวตนที่คับแคบ อึดอัดกับการมองโลกเป็นส่วนเสี้ยว สู่จิตที่ตื่นรู้ หยั่งรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งเป็นองค์รวม มีความรักความเมตตา ในการสังเคราะห์ผลพบว่าสามารถนำเสนอคุณลักษณะเฉพาะของจิตตปัญญาศึกษาเป็น จิตตปัญญาพฤกษา ซึ่งประกอบด้วย 8 ส่วน คือ 1. ราก หมายถึงฐานแนวคิด ได้แก่ แนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยม และเชิงบูรณาการองค์รวม 2. ผล หมายถึงเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน 3. แก่น หมายถึงองค์ประกอบหรือกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ได้แก่ การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง 4. กระพี้ หมายถึง บริบทของกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติ ได้แก่ สังฆะคือการให้คุณค่าต่อการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ และวัฒนธรรมคือการให้คุณค่าแก่รากฐานทางภูมิปัญญาที่หลากหลายและไม่แยกจากชุมชนท้องถิ่น 5. เปลือก หมายถึง เครื่องมือ การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ของจิตตปัญญาศึกษา 6. เมล็ด หมายถึง ศักยภาพภายในของมนุษย์ทุกคน 7. ผืนดิน หมายถึง วงการต่างๆ ที่นำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ 8. ความรู้ในการปลูกและดูแล หมายถึง การวิจัยสืบค้นความรู้ และการวัดประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา การศึกษาวิจัยยังทำให้นักวิจัยได้เกิดการเรียนรู้ต่อชีวิตของตน เกิดความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาจากการได้มีประสบการณ์ตรง และการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง ตลอดจนคณะวิจัยยังได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน ได้ตระหนักและศรัทธาในคุณค่าของการเป็นผู้นำร่วม (Collective leadership) ผลจากการจัดวงจิตตปัญญาสนทนา คือการได้สร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมในฐานะเครือข่ายนักวิจัยและนักปฏิบัติ โดยได้สืบค้นความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) และบันทึกไว้ (Expl
icit knowledge) ด้วยกระบวนการปฏิบัติต่างๆ ในประเด็นว่าด้วยการสืบค้นตนเอง แผนที่จิต สภาวะจิต ประวัติศาสตร์แนวคิด รูปแบบการปฏิบัติ การวัดประเมิน แนวทางการประยุกต์ใช้ และการวิจัย ผู้วิจัยพบว่า การจัดวงจิตตปัญญาสนทนาเป็นการหาสมดุลระหว่างวิชาการกับประสบการณ์ตรง และพบว่าผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในกระบวนการมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ คณะวิจัยยังได้จัดทำแผนที่ลำดับความสำคัญงานวิจัย พบว่าโจทย์การวิจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการนำแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาไทย

บุบผา ชอบใช้ (2543) ศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับความสามารถทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยในมิติจิตวิญญาณ โดยมีเป้าหมายเพื่ออธิบายสถานการณ์พยาบาลในมิติจิตวิญญาณความสามารถทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ และความคิดเห็นของแพทย์ และญาติผู้ป่วยในการดูแลผู้ป่วยมิติจิตวิญญาณในหอผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นพยาบาลจำนวน 20 คน หัวหน้าหอผู้ป่วยจำนวน 9 คน ผู้ป่วยจำนวน 9 คน ญาติผู้ป่วยจำนวน 3 คน และแพทย์จำนวน 3 คน รวบรวมข้อมูลโดยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัย พบว่า ในด้านสถานการณ์พยาบาลในมิติจิตวิญญาณในหอผู้ป่วย ผู้ป่วยทุกรายมีโอกาสเกิดภาวะวิกฤตทางจิตวิญญาณได้ตลอดเวลา ลักษณะการปฏิบัติงานมักให้ความสำคัญกับปัญหาทางด้านร่างกายก่อน ส่วนการพยาบาลด้านจิตวิญญาณจะกระทำต่อเมื่อพบว่ามีปัญหาหรือได้แก้ไปปัญหาทางด้านร่างกายแล้ว สำหรับด้านความสามารถทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ต่างๆ พยาบาลให้ความสำคัญในการประเมินความต้องการปฏิบัติศาสนกิจขณะอยู่โรงพยาบาลของผู้ป่วยน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ยังคงต้องการปฏิบัติศาสนกิจเหมือนอยู่ที่บ้านเพราะทำให้จิตใจสงบ มีความหวังและกล้าที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยก่อนผ่าตัด พบว่า พยาบาลยังมีความสามารถไม่เพียงพอในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยเผชิญกับความกลัวโดยใช้กลวิธีทางจิตวิญญาณ สำหรับการดูแลผู้ป่วยหนัก พบว่า พยาบาลสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้โดยใช้บุคคลในครอบครัว แต่ส่วนใหญ่ยังมีความสามารถไม่เพียงพอในการตอบสนองความเชื่อและความคาดหวังในชีวิตหลังความตายของผู้ป่วย และส่วนความคิดเห็นของญาติผู้ป่วยและแพทย์ต่อการดูแลและแก้ปัญหาทางด้านร่างกายได้เป็นอย่างดี ส่วนด้านจิตวิญญาณ ญาติทำหน้าที่นี้มากกว่าพยาบาล แพทย์มีความเห็นว่า แม้พยาบาลจะดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง แต่พบว่าพยาบาลแสดงออกถึงความเข้าใจในความต้องการในมิติจิตวิญญาณในระดับที่แตกต่างกันออกไป

จากการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับจิตวิญญาณในกลุ่มผู้ทำงานด้านสุขภาพและการศึกษา พบว่า การวิจัยด้านจิตวิญญาณส่วนใหญ่เป็นการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย แบบตรวจสอบเกี่ยวกับจิตวิญญาณ แบบวัดการรับรู้ทางจิตวิญญาณ แบบวัดจิตวิญญาณตามแนวจิตวิทยา แบบวัดจิตวิญญาณในการทำงาน แบบสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบบันทึกจากการสังเกตพฤติกรรม เพื่อทำการศึกษาความหมาย ลักษณะ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีจิตวิญญาณและการพัฒนาจิตวิญญาณในการทำงาน รวมถึงผลของจิตวิญญาณต่อผลลัพธ์ของการทำงาน พฤติกรรมการทำงาน ความพึงพอใจในงานและความเป็นอยู่ โดยผลการวิจัยพบว่า จิตวิญญาณหมายถึงความต้องการตามธรรมชาติของบุคคลที่จะมีสุขภาพดี ค้นพบความหมายและเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ซึ่งจิตวิญญาณเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายในอย่างความเชื่อทางศาสนา ความมีสติปัญญา ความต้องการของบุคคล รวมทั้งปัจจัยภายนอกอย่างวัฒนธรรม สภาพในชุมชน นโยบายของหน่วยงาน มาตรฐานการทำงาน ลักษณะงานหรืออาชีพและลักษณะหรือภาวะผู้นำของหัวหน้างาน