การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (18)

การไม่มีทั้งจิตวิญญาณ และจิตวิญญาณที่เป็นจริงทางจิตวิทยาในเรื่องของคุณลักษณะของบุคคลที่สำคัญ

แบบวัด SES ได้รับความสนใจจากนักวิชาการในรุ่นต่อมา และนำมาปรับใช้เป็นแบบวัดทางจิตวิญญาณชุดต่างๆ อาทิเช่น Spiritual Experiences Scale (SAS) ที่พัฒนาโดย Howden (1993) ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 28 ข้อ ใช้วัดจิตวิญญาณใน 4 ด้าน ได้แก่ Purpose and meaning in life, Innerness or Inner resources, Unifying connectedness และ Transcendence มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า ตั้งแต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง (Strongly disagree) จนถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง (Strongly agree) โดยตัวอย่างข้อคำถาม คือ My inner strength is related to a belief in a Higher Power or Supreme Being

The Spiritual Assessment Inventory (SAI) เป็นแบบวัดอีกชุดหนึ่งที่อยู่บนพื้นฐานของการวัด Spiritual maturity จากมุมมองของ Judeo – Christain perspective แบบวัดนี้สร้างขึ้นโดย Hall & Edwards (2002) ในปี ค.ศ. 1996 ประกอบด้วยข้อคำถาม 43 ข้อ มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ เพื่อประเมินคุณลักษณะต่างๆ ของ Spiritual, Maturity and Awareness รวมทั้งคุณภาพชีวิต (Life quality) อย่างไรก็ดีเครื่องมือนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่น ทำให้เป็นข้อจำกัดของการนำไปใช้ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามพัฒนาจากการวัดทางจิตวิญญาณเข้าสู่การวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

ในปี ค.ศ. 1991 แบบวัด The Index of Core Spiritual Experiences (INSPIRIT) ถูกสร้างขึ้นโดย Kass et. al. (1991) มีเป้าหมายของการวัดคือ เพื่อประเมินสององค์ประกอบสำคัญของจิตวิญญาณ คือ ประสบการณ์ (Experience) ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระเจ้า และการรับรู้เกี่ยวกับพระเจ้า แบบวัดนี้เป็นแบบวัด แบบสั้นประกอบด้วยข้อคำถาม 7 ข้อ โดย 6 ข้อแรก เป็นการให้คะแนนตามความแตกต่างของการตอบในแต่ละข้อ ส่วนข้อ 7 มีทั้งหมด 13 ส่วน โดยส่วนสุดท้ายเป็นการให้ผู้ตอบอธิบายถึงประสบการณ์เชิงจิตวิญญาณ

The Spiritual Scale (SS) เป็นแบบวัดที่พัฒนาโดย Jagers & Smith (1996) ประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 20 ข้อ ออกแบบบนฐานคิดจาก Afro-cultural perspective ซึ่งเป็นมุมมองวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อในชีวิตหลังความตาย ดังนั้นจึงมีการวัดจิตวิญญาณด้วยข้อคำถามเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องกรรมและชีวิตหลังความตาย

จากเครื่องมือการวัดจิตวิญญาณ เมื่อนำมาพัฒนาและใช้เป็นเครื่องมือการวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ไม่เพียงแต่เป็นการวิเคราะห์จิตวิญญาณเชิงจิตวิทยา (Psychological spirituality) เท่านั้น แต่การวัดสุขภาวะจะสามารถแสดงให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากการมีจิตวิญญาณที่เหมาะสม จากการศึกษาของ Heaton, Schmidt และ Travis (2004) พบว่า มีเครื่องมือมากมายที่ได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และได้ศึกษาปัจจัยที่บ่งชี้ถึงความมีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สุขภาพดี มีความสุข มีปัญญา ประสบความสำเร็จ และการบรรลุเป้าหมาย พบว่าในแต่ละปัจจัยนั้นมีเครื่องมือและตัวแปรที่สามารถนำมาใช้วัดสุขภาวะในแต่ละด้านได้ดังนี้

1. สุขภาพดี

เครื่องมือ ได้แก่ แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมที่แสดงถึงการดูแลสุขภาพในที่ทำงาน

ตัวแปร ได้แก่ สุขภาพผิวหนัง ความดันเลือด ความแข็งแรงของหลอดเลือดหัวใจ การมีเครื่องมือในการรักษาและดูแลสุขภาพเบื้องต้นในที่ทำงาน อัตราการเข้าโรงพยาบาลของบุคลากร เป็นต้น

2. มีความสุข

เครื่องมือ ได้แก่ แบบวัดเกี่ยวกับความสุขต่างๆ แบบวัดทางอารมณ์

ตัวแปร ได้แก่ ความมั่นคงทางอารมณ์และบุคลิกภาพ เป็นต้น

3. มีปัญญา

เครื่องมือ ได้แก่ แบบทดสอบการพัฒนา การยึดติด และการบรรลุอัตตา (Ego) แบบทดสอบการใช้เหตุผลและหลักการเชิงจริยธรรม แบบวัดการเติบโตทางจริยธรรมและการสะท้อนจริยธรรมทางสังคม แบบทดสอบสติสัมปัญชัญญะ การยับยั้งชั่งใจ และแรงจูงใจทางเพศ

ตัวแปร ได้แก่ พฤติกรรมความเป็นผู้นำ การพัฒนาภาวะผู้นำ เป็นต้น

4. ประสบความสำเร็จ

เครื่องมือ ได้แก่ แบบวัดความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การประเมินผลการปฏิบัติงาน

ตัวแปร ได้แก่ ผลการปฏิบัติงาน ผลประโยชน์ ความพึงพอใจของลูกค้า ความคิดสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เป็นต้น

5. การบรรลุเป้าหมาย

เครื่องมือ ได้แก่ แบบวัดความพึงพอใจในงาน แบบสำรวจตนเองและสุขภาวะทางจิตใจ

ตัวแปร ได้แก่ ความพึงพอใจในงาน สภาวะจิตใจ

นอกเหนือจากการเลือกตัวแปรหรือออกแบบเครื่องมือที่เหมาะสมแล้ว การสร้างข้อคำถามเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ Hill and Pargament (2003) ซึ่งศึกษาการวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณโดยเน้นตัวแปรทางด้านศาสนาและพฤติกรรมทางศาสนา กล่าวถึง การสร้างข้อคำถามในแบบวัดเช่นนี้ว่า ควรเป็นข้อคำถาม (Illustrative item) ที่ให้ภาพพจน์ทางอารมณ์สูง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบสามารถใช้จินตนาการ ประสบการณ์ ความรู้สึกในการตอบ ตัวอย่างข้อคำถามจำพวกนี้ อาทิเช่น

ตัวอย่างคำถามปลายปิด

1. ฉันมีประสบการณ์ส่วนตัวที่แสดงถึงสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดที่มีต่อพระเจ้า

2. ในขณะที่ฉันกำลังตอบคำถามเกี่ยวกับพระเจ้า พระเจ้าอยู่ในความคิดคำนึงของฉัน และทำให้ฉันสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้

3. ฉันตระหนักรู้ถึงพระเจ้าได้ในทุกครั้งที่ฉันต้องการ

4. การกระทำทั้งหมดในชีวิตของฉันมีพื้นฐานมาจากศาสนา

5. เหตุผลที่ฉันสวดมนต์ก็เพราะฉันเต็มใจที่จะสวดมนต์

6. ในความคิดของฉัน ฉันมีคุณค่าในสายตาผู้อื่น

7. ฉันมักบอกให้คนอื่นสวดมนต์และอวยพรให้ฉัน

8. ฉันมักไม่เห็นด้วยกับครอบครัวหรือเพื่อนในประเด็นเกี่ยวกับศาสนา

9. เมื่อความศรัทธาทางศาสนาของฉันสั่นคลอน ฉันจะรู้สึกผิด

10. ฉันรู้สึกว่าพระเจ้าไม่ยุติธรรมกับฉัน

11. บางครั้งการดำเนินชีวิตที่เคร่งครัดทำให้ฉันรู้สึกเครียด

ตัวอย่างคำถามปลายเปิด

1. คุณรู้สึกใกล้ชิดกับพระเจ้าอย่างไรบ้าง

2. บ่อยครั้งแค่ไหนที่มีคนมาทำให้คุณรู้สึกรักและห่วงใยอย่างถึงที่สุด คุณแสดงออกแค่ไหน และอย่างไรบ้าง

นงเยาว์ มงคลอิทธิเวช และคณะ (2552) ได้เสนอแนะวิธีการในการวัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณไว้ดังนี้

1. การสังเกตพฤติกรรมการกระทำที่แสดงออกมาถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งภาวะปกติและเมื่อมีเหตุการณ์บีบคั้นต่างๆ ทั้งกิริยาท่าทาง สีหน้าแววตา น้ำเสียง และเรื่องราวที่พูดคุยกับทุกคน

2. การใช้สถานการณ์จำลอง หรือบทบาทสมมุติ โดยสร้างสถานการณ์ให้เหมือนจริง หรือใกล้เคียงกับของจริงมากที่สุด เช่น ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อชีวิต การบริการที่ต้องรองรับอารมณ์ผู้ป่วย การตัดสินใจเชิงจริยธรรมต่างๆ แล้วเปรียบเทียบกับสิ่งที่ผู้ที่มีการพัฒนาทางจิตวิญญาณเคยทำมาก่อนว่าเหมือนหรือใกล้เคียงกันเพียงใด

3. การให้ทดลองงาน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในสถานการณ์จริง เพื่อประเมินความชอบ ความถนัดและได้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง หรือใช้สถานการณ์เป็นสิ่งเร้า

4. การสัมภาษณ์ โดยให้ผู้ถูกสัมภาษณ์พูดถึงตนเองในประเด็นต่างๆ ครอบคลุมทั้ง 5 มิติของจิตปัญญา เช่น ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เล่าถึงเรื่องความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในชีวิต สิ่งที่ทำให้มีความสุข หรือความทุกข์ที่สุดในชีวิต แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง สามารถจัดการความรู้สึกต่างๆ ได้อย่างไร คิดอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นคิดด้านบวกหรือด้านลบ และทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใด

5. สร้างแบบประเมินสำหรับคัดกรองคนเข้าสู่ระบบ และการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ จากคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 18 ประการ การคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน โดยกลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่ม (กลุ่มความสุข ความสงบ ความอิสระ) นั้น จะเหมาะสมกับงานที่ต่างกัน ดังนี้

กลุ่มที่มีพื้นฐานจากความสุข จะมีความเมตตากรุณา เอื้ออาทร อยากช่วยเหลือ มีความรับผิดต่อหน้าที่ เคารพและให้เกียรติคนอื่น เหมาะที่จะทำงานเป็นด้านหน้า งานให้บริการทั่วไป งานประชาสัมพันธ์ หรือหากเป็นงานด้านสาธารณสุข ก็ควรเป็นงานที่ผู้ป่วยมีอาการไม่เปลี่ยนแปลงหรือรุนแรงมากนัก

กลุ่มที่มีพื้นฐานจากความสงบ จะมีความเข้มแข็งอดทน มุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละ ยอมรับและให้อภัยคนอื่นได้ มองโลกในแง่ดี และสามารถจัดการ ควบคุมตนเองได้ เหมาะที่จะทำงานที่หนัก ยาก ท้าทาย วุ่นวาย งานซ้ำๆ และงานที่เสี่ยง

กลุ่มที่มีพื้นฐานจากความอิสระ จะมีพลังแห่งการเรียนรู้ คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ มีความ กล้าหาญ กล้าที่จะยอมรับสิ่งใหม่และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มีพลังที่จะชักนำหรือสร้างพลังให้กับทีมได้ มีความสามารถในการประสานความแตกต่าง คนกลุ่มนี้เหมาะกับงานที่ต้องริเริ่ม บุกเบิก งานที่ไม่มีแบบแผนแน่นอน หรือแก้ไขปัญหาความขาดแคลนความไม่มีให้สามารถทำให้มีในสิ่งเดิมได้ ทำในสิ่งที่ไม่น่าจะทำได้ให้เป็นสิ่งที่ทำได้

แบบวัดทางจิตวิทยาเป็นการประเมินพฤติกรรมหรือคุณลักษณะต่างๆ ของบุคคลที่มีลักษณะเป็นปรนัย มีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้ และมีความเป็นมาตรฐาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ Objective test และ Projective test และมีรูปแบบการประเมินหลายรูปแบบ เช่น การใช้เทคนิคการวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญ การให้เขียนบรรยายความ และการใช้การสัมภาษณ์ และได้มีการนำความรู้เรื่องการวัดทางจิตวิทยาทั้งแบบ Objective test และ Projective test มาใช้ในการวัดทางด้านจิตวิญญาณและสุขภาวะทางจิตวิญญาณ โดยมีการวิจัยที่มีการใช้เครื่องมือวัดทางจิตวิญญาณและมีการหาคุณภาพของเครื่องมือโดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบ มีการหาความเชื่อมั่นโดยวิธีการหาความสอดคล้องภายในโดยจากค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่า (Fornaciari, Sherlock , Ritchie and Dean, 2005) และเนื่องจากการวัดจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนามธรรมและต้องเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ส่วนบุคคลอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น จึงมีกระบวนการวัดทั้งที่เป็นแบบ Objective test และ Projective test มาใช้ร่วมกันและจะสามารถวัดจิตวิญญาณได้ดีกว่า โดยในต่างประเทศ มีการพัฒนาเครื่องมือทางจิตวิทยาขึ้นมาหลายชุด เช่น The Spiritual Well-being Scale (SWBS) โดย Paloutizian and Ellison (1982) หรือ แบบวัด Spiritual Experience Scale (SES) โดย Beazley (1998) หรือแบบวัด The Spiritual Assessment Inventory (SAI) โดย Hall & Edwards (2002) หรือแบบวัด The Index of Core Spiritual Experience (INSPIRIT) โดย Kass et. al. (1991) หรือ The Spiritual Scale (SS) โดย Jagers & Smith (1996)