การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (8) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (ต่อ)

เป็นสิ่งที่มาจากอัลลอฮ์ ซึ่งได้ถูกเป่าลงสู่มนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความสูงส่งเหนือสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย

2. จิตใจ หรือ กัลบ์ (Heart) จิตใจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ด้านการรับรู้ การใคร่ครวญ เป็นที่มาของความตั้งใจ ความสนใจ ความเฉลียวฉลาด และสติปัญญา

3. ปัญญา หรือ อากัล (Intellect) ปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความสามารถในการใช้เหตุผล จิตวิญญาณของมนุษย์จะทำหน้าที่ใน 3 ระดับ คือ จิตใจที่ชอบทำแต่สิ่งที่ไม่ดี ทำตามความพึงพอใจและความต้องการของตนเองโดยมีแนวโน้มที่จะกระทำความชั่ว จิตใจที่ยังไม่สมบูรณ์หรือเข้มแข็งมากนัก อาจนำไปสู่ความดีหรือความชั่ว และจิตใจที่สมบูรณ์สงบนิ่งแล้ว (Ultimate peace) เป็นจิตที่ชอบทำแต่สิ่งดี ๆ

นงเยาว์ มงคลอิทธิเวช และคณะ (2552) ได้เสนอว่าองค์ประกอบของสุขภาวะทางจิตวิญญาณนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาทางจิตวิญญาณให้มีการยกระดับสูงขึ้น เมื่อตนเองสามารถพิจารณาให้เข้าถึงความหมายที่แท้จริงขององค์ประกอบทั้งหมดก็จะนำตนไปสู่ความสุข สงบ และอิสระ โดยสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มี 5 องค์ประกอบ คือ

1. การมีเป้าหมาย/ความหมายของชีวิต

2. มีคุณค่า มีความภาคภูมิใจ พึงพอใจในชีวิต

3. มีศรัทธา มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

4. มีความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง

5. มีความสามารถเผชิญและแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในภาวะวิกฤตได้เหมาะสม

นอกเหนือจากนั้น นงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) ได้สังเคราะห์ความรู้ทางด้านการพัฒนาจิตปัญญา (วิญญาณ) จากเรื่องเล่าความสำเร็จของผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบสุขภาพ: พัฒนาการทางจิตวิญญาณและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ผลการศึกษาได้สรุปและสังคราะห์คุณลักษณะของผู้ที่มีสุขภาวะทางจิตปัญญา ประกอบด้วย 18 คุณลักษณะ สามารถจัดได้เป็น 3 กลุ่ม ตามคุณสมบัติของสุขภาวะทางจิตปัญญา ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มความสุข

1. เมตตากรุณา อยากช่วยเหลือ หมายถึง มีจิตใจที่เมตตา สงสาร อยากช่วยเหลือ อยากทำให้คนอื่นมีความสุข อยากช่วยทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น จึงนำมาสู่การทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

2. จิตใจอ่อนโยน เข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น หมายถึง มีจิตใจที่อ่อนโยนทำให้มองเห็นความทุกข์ของคนอื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญ

3. เป็นมิตร เป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย หมายถึง มีความเป็นมิตรกับผู้อื่น พูดคุยอย่างให้ความเป็นกันเอง สามารถเข้าถึงได้ง่าย

4. รับผิดชอบ หมายถึง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองจากจิตสำนึกอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกเวลาราชการ หรือเกินหน้าที่ตนเองหากเห็นว่ามีความจำเป็นและมีผลดีต่อผู้อื่นก็จะทำอย่างเต็มความสามารถ

5. ยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย หมายถึง ก้าวข้ามกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อทำสิ่งที่ดีกว่า

6. เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมายถึง เห็นคนทุกคนมีความสำคัญ มีคุณค่ามีศักดิ์ศรี มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แม้แต่คนที่เสียชีวิตแล้วก็ยังคงต้องให้เกียรติและเคารพในความเป็นมนุษย์ของเขา

กลุ่มที่ 2 กลุ่มความสงบ

7. จัดการ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ หมายถึง สามารถรับรู้และหาวิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้อย่างเหมาะสมและสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งสามารถมองทะลุปัญหาไปสู่สาเหตุที่แท้จริง มองเห็นความงามของสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นถึงความรัก ความห่วงใยที่มีต่อกันของผู้คน

8. เข้มแข็ง อดทน หมายถึง มีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคง ไม่เอนเอียงหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ควบคุมอารมณ์ได้ในทุกสถานการณ์ อดทนต่อการทำงานที่ยากลำบาก อดทนต่อวิถีชีวิตที่ยุ่งยาก

9. เสียสละ หมายถึง มีความเสียสละได้ทุกสิ่งโดยไม่หวังผลตอบแทน ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง เวลา ความสุขส่วนตัวหรือแม้กระทั่งชีวิต

10. มุ่งมั่น ทุ่มเท หมายถึง มีความมุ่งมั่น ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ แรงสติปัญญา เพื่อพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ก็ไม่ย่อแท้ อดทนต่อการทำงานหนักและเหนื่อยล้า แต่ก็มีกำลังที่จะสู้ต่อไป

11. มองโลกในแง่ดี หมายถึง มองโลกในแง่ดีจะเห็นวิกฤติเป็นโอกาสได้เสมอ นำข้อผิดพลาดหรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาเป็นบทเรียนหรือใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำสิ่งที่ดีกว่า

12. ยอมรับและให้อภัย หมายถึง ไม่ถือโทษกับผู้ที่สร้างความปวดร้าวใจ สร้างความทุกข์ สร้างความเสียหายให้ เมื่อพบกับความบีบคั้นทางอารมณ์ สามารถข่มใจ เอาชนะใจตัวเองได้ ไม่ลุด้วยโทสะสามารถใช้คุณธรรมที่สูงส่งในการเอาชนะอำนาจฝ่ายต่ำได้

กลุ่มที่ 3 กลุ่มความอิสระ

13. มีพลังแห่งการเรียนรู้ หมายถึง มีการทำงานทำให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้งาน เรียนรู้คน เรียนรู้สิ่งแวดล้อมและความเชื่อมโยง เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนางานพัฒนาคนให้บรรลุผลสำเร็จและมีความสุข ทำให้เห็นคุณค่าของคนทุกคน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นทั้งในฐานะผู้นำหรือผู้ตามได้อย่างมีความสุข เกิดงานที่สร้างสรรค์ เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย เกิดการพัฒนางานพัฒนาคน และพัฒนาจิตให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

14. กล้าหาญ หมายถึง กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ กล้าที่จะยืนหยัดยึดมั่นทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้อื่น กล้ารับทั้งผิดและชอบในสิ่งที่ตนเองทำ และกล้าเสี่ยง แม้ในสถานการณ์ที่มีอันตรายถึงชีวิต

15. คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ หมายถึง มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำให้สิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ถึงแม้จะมีข้อจำกัดของทั้งคน สิ่งของ งบประมาณ และกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงมีความคิดนอกกรอบ

16. อ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึง เห็นคุณค่าที่แท้จริงของตน ขณะเดียวกันก็เห็นคุณค่าของคนอื่นทำให้พร้อมที่จะให้โดยไม่ทะนงตน และก็ยอมลดตนลง เพื่อรับความรู้คำแนะนำจากผู้อื่นด้วยกิริยาที่อ่อนน้อม

17. ประสานความแตกต่าง หมายถึง สามารถประสานความแตกต่างได้ ต้องเข้าใจบริบท ยอมรับและยืดหยุ่น แยกแยะ และการเชื่อมโยงในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้เกิดการประสานความแตกต่างได้อย่างลงตัว

18. พอเพียง หมายถึง มองเห็นว่าทุกสิ่งคือ กำไร และพร้อมที่จะแบ่งปันให้คนอื่น

Marques, Dhiman and King (2007) ได้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจิตวิญญาณในที่ทำงานว่า เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง (Consistency) และเกิดความเข้าใจในประเด็นร่วมกัน จึงได้กำหนดโครงร่างของข้อสันนิษฐานที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ ดังนี้

1. ข้อสันนิษฐานแรก คือ จิตวิญญาณมีอยู่ในการทำงาน มีหลักฐานมากมายยืนยันว่า ผู้แต่งหนังสือ หัวหน้า และกลุ่มแรงงานในหลากหลายระดับ มีการยอมรับและวิพากษ์วิจารณ์กันเกี่ยวกับกระแสนี้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการปรากฏของจิตวิญญาณในการทำงานเพราะถือว่าสิ่งนี้เป็นความจริงที่มีอยู่

2. ข้อสันนิษฐานที่สอง คือ มีปัจจัย 2 ปัจจัยที่รวมอยู่ในแนวคิดของจิตวิญญาณในการทำงาน ได้แก่

2.1 จิตวิญญาณ เป็นสิ่งที่แฝงอยู่ตลอดการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยจิตวิญญาณมีความหมายถึงสิ่งที่แตกต่างกันสำหรับคนที่แตกต่างกัน

2.2 มีการให้คำนิยามของคำว่าที่ทำงาน ว่าเป็นสถานที่รวมกันของพนักงาน โดยความหลากหลายของที่ทำงานนั้นได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีต และมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของจำนวนที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้ เราสามารถยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ทำงานสามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป

3. สมมติฐานที่สาม คือ ทุกคนมีจิตวิญญาณ ซึ่งจิตวิญญาณถือเป็นปัจจัยแวดล้อม ซึ่งปรากฏอยู่ในที่ทำงานทุกที่ ดังนั้น จิตวิญญาณจึงสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ และเป็นประสบการณ์ให้กับทุกคนและทุกสถานที่ทำงาน

Adler (1992 cited in Marques Dhiman and King, 2007) ได้เปรียบเทียบ จิตวิญญาณ กับ ศาสนา ไว้ว่า จิตวิญญาณนั้นแตกต่างจากสถาบันศาสนา ตรงที่ศาสนานำผู้คนไปสู่พิธีการทางสังคมและศาสนา แต่จิตวิญญาณนำคน ไปสู่ความร่ำรวยแห่งความรู้ ความรู้สึก แรงบันดาลใจ และรู้สึกถึงที่พักภายในตัวเขา โดยจิตวิญญาณทำให้ตระหนักว่า มีอะไรบางอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่แกนกลางของการดำรงอยู่ทั้งหมดไม่ว่าอะไรจะเป็นต้นตอของมัน โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ ดำรงอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต จิตวิญญาณไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งสอน ไม่เป็นความพิเศษ ไม่เกี่ยวกับบาทหลวง และไม่มีเพศ และเข้าไปสู่การเชื่อมโยงกับต้นตอของการดำรงอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าความแตกต่างภายนอกของเราจะเป็นอย่างไร จะมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญเป็นจุดร่วมพื้นฐานของการดำรงอยู่

จากการทบทวนมุมมองและแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับจิตวิญญาณและสุขภาวะทางจิตวิญญาณพบว่า ในปัจจุบัน มีนักวิชาการได้เริ่มให้ความสนใจและมีการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการนำความรู้เรื่องจิตวิญญาณมาใช้กับบุคคลในองค์การต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีมุมมองที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันหลากหลาย ซึ่งยังไม่พบข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นสากล ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณโดยยังคงต้องทำความเข้าใจทั้งเรื่องของมนุษย์ บริบททางสังคม วัฒนธรรมรวมถึงประวัติศาสตร์กันต่อไป สำหรับการศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดและตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนาของบุคลากร ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงเลือกใช้แนวคิดของ นงเยาว์ มงคลอิทธิเวชและคณะ (2552) ประกอบด้วย 18 คุณลักษณะ อันได้แก่ 1. เมตตากรุณา อยากช่วยเหลือ 2. จิตใจอ่อนโยน เข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น 3. เป็นมิตร เป็นกันเอง เข้าถึงได้ง่าย 4. รับผิดชอบ 5. ยืดหยุ่น ปรับตัวง่าย 6. เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 7. จัดการ คุมควบอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ 8. เข้มแข็ง อดทน 9. เสียสละ 10. มุ่งมั่น ทุ่มเท 11. มองโลกในแง่ดี 12. ยอมรับและให้อภัย 13. มีพลังแห่งการเรียนรู้ 14. กล้าหาญ 15. คิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ 16. อ่อนน้อมถ่อมตน 17. ประสานความแตกต่าง 18. พอเพียง ซึ่งคณะผู้วิจัยเห็นว่ามีความชัดเจน ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทของบุคลากรที่เป็นกลุ่มประชากรในการศึกษาวิจัยครั้งนี้