การศึกษาและพัฒนาเครื่องมือประเมินและตัวชี้วัดสุขภาวะทางจิตวิญญาณเพื่อการพัฒนา (6) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (ต่อ)

1. สมรรถนะที่ช่วยให้ความหมายกลายเป็นความมีความหมาย และ 2. ภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนจากความหมายสู่ความมีความหมาย โดยภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนจากความหมายสู่ความมีความหมาย ได้ชี้ให้เห็นว่าปกติเราจะอยู่ในภาวะของความมีความหมายอยู่แล้ว โดยสิ่งนี้ก็คือ โลกของเรา ซึ่งแสดงว่า เราอยู่ในภาวะทางจิตวิญญาณในความหมายนี้อยู่เสมอ เหมือนกับที่เราอยู่ในภาวะทางกาย ภาวะทางความรู้สึก หรือภาวะทางความคิดอยู่เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม มีปัญหาว่าที่ผ่านมาเราชี้ว่าจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหรือต้องทำให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของการประสานงานที่เหมาะเจาะของความคิดและความรู้สึก จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเราจะอยู่ในภาวะทางจิตวิญญาณอยู่เสมอได้อย่างไร และถ้าภาวะร่างกายเป็นไปตามปกติ เราก็จะประเมินว่ามีสุขภาวะทางกาย หรือการมีภาวะทางกายที่มีสุข แต่ถ้าภาวะทางจิตวิญญาณเป็นอย่างที่เป็น คือ เข้าถึงความมีความหมายอยู่ในโลกอยู่แล้ว ไม่ว่า โลก นั้นจะกว้างหรือแคบ เราจะสามารถประเมินเช่นเดียวกันได้หรือไม่ว่าเรามีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ในเมื่อข้อมูลในการวิเคราะห์ชี้ว่าบุคคลต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ก่อน จนกระทั่งจิตวิญญาณในฐานะของการเปลี่ยนแปลงจากความหมายสู่ความมีความหมายนั้นได้เกิดขึ้นกับพวกเขา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ทำให้เห็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของจิตวิญญาณ นั่นคือ ในการประเมินภาวะทางจิตวิญญาณว่าเป็น สุข หรือไม่นั้น จะต้องมีองค์ประกอบของ พัฒนาการ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ว่าความตระหนักในความมีความหมายเป็นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ ถ้าในเบื้องต้นเราอยู่ในภาวะของความมีความหมายอยู่แล้ว จะไม่สามารถตัดสินได้ว่าเรามีสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เนื่องจาก ในการศึกษาในครั้งนี้ได้พบกรณีที่ผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เผชิญกับ ความมีความหมายมากเกินไป เช่น มีความรู้สึกร่วมกับผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่กำลังประสบทุกข์ราวกับว่าตนประสบเสียเอง ในกรณีเช่นนี้ ปรากฏว่าเกิดการเสียสมดุลระหว่างความคิดและความรู้สึก ทำให้มิอาจปฏิบัติงานได้ โดยบุคลากรทางการแพทย์ผู้นี้ต้องอาศัยการเสริมพลังด้านความคิดของตน เพื่อมิให้ตนเองถูกครอบงำจากความรู้สึกร่วมนั้นนัยหนึ่งว่า บุคลากรผู้นี้อาศัยความคิดเกี่ยวกับอุดมการณ์วิชาชีพเพื่อก้าวพ้นตัวตนที่กำลังถูกครอบงำด้วยความรู้สึกทุกข์ไปกับผู้ที่ตนดูแล

นอกจากนี้ องค์ประกอบสำคัญของสุขภาวะทางจิตวิญญาณอีกประการน่าจะเป็นเรื่องของ ทิศทาง ที่ช่วยให้บุคคลสามารถกำหนดได้ว่าจะก้าวพ้นจากตัวตนไปในทางใด ในขณะเดียวกัน ทิศทาง ก็จะช่วยให้บุคคลพิจารณาได้ว่าเมื่อใดเป็นเวลาที่ควรจะก้าวพ้นตัวตน ซึ่ง ทิศทาง ดังกล่าวย่อมอยู่ในส่วนของ ความคิด ข้อนี้จึงยืนยันการวิเคราะห์ที่ว่า ความคิด คือสิ่งที่ต้องยึดไว้เป็นหลักเสมอ โดย ความคิด ที่กำหนด ทิศทาง นี้ก็เป็นเรื่องของคุณค่าที่เป็นฐานแห่งการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายที่พบบ่อยก็คือ อุดมการณ์วิชาชีพ หรือ การแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ รวมถึงคุณค่าอันกำหนดด้วยคำสอนทางศาสนาต่างๆ

นอกจากนี้ ปกรณ์ สิงห์สุริยา (2552) ได้สรุปกรอบแนวคิดเกี่ยวกับจิตวิญญาณใน 2 กรอบแนวคิด ได้แก่ กรอบแนวคิดเกี่ยวกับ จิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ และกรอบแนวคิดเกี่ยวกับ จิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรอบแนวความคิดที่ 1 สมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ สามารถมีอิทธิพลก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิตและสุขภาวะทางกายได้ โดยความเชื่อทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหนือธรรมชาติ สามารถทำให้เกิดสมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงว่าสมรรถนะดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นหลังจากบุคคลมีภาวะทางจิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ คือเห็นความมีความหมายของบางสิ่ง และสมรรถนะที่เกิดขึ้นนี้สามารถก่อสุขภาวะทางจิตและทางกายได้เช่นกัน และการคิดเชิงบวกสามารถก่อให้เกิดสิ่งที่คล้ายสมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ และสมรรถนะนี้ก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิต การที่ความคิดความรู้สึกของคนกลายเป็นหนึ่ง สามารถก่อให้เกิดสมรรถนะทางจิตวิญญาณแบบเหนือธรรมชาติ และสมรรถนะนี้ก่อให้เกิดสุขภาวะทางจิต

กรอบแนวความคิดที่ 2 จิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ มีแก่นอยู่ที่การก้าวพ้นตัวตนอย่างต่อเนื่อง โดยการก้าวพ้นตัวตนเป็นการแปลงสิ่งที่เป็นอื่น หรือสิ่งที่แปลกแยกให้มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนอาจมองเป็นการละทิ้งตัวตนเดิมและได้มาซึ่งตัวตนใหม่ หรือมองเป็นการขยายตัวตนออกไป ซึ่งประสบการณ์การก้าวพ้นตัวตนพบได้เมื่อมีกรณีของการที่ความหมายกลายเป็นความมีความหมาย กระบวนการนี้อาจตรงไปตรงมา คือ สิ่งที่เคยมีเพียงความหมายกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับบุคคล หรืออาจเป็นกระบวนการที่ต้องต่อสู้กับความมีความหมายดั้งเดิม และการที่ความหมายจะเปลี่ยนเป็นความมีความหมายนั้นจะต้องมีความเหมาะเจาะระหว่างความคิดและความรู้สึก โดยรวมกล่าวได้ว่า สิ่งนี้ก่อให้เกิดได้ด้วยการผันแปรทางจินตนาการ การผันแปรนั้นอาจใช้วิธีการต่างกัน เช่น คิดเชิงบวก เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทั้งนี้ การผันแปรทางจินตนาการต้องอาศัยความคิดเกี่ยวกับคุณค่าหรือทิศทางกำกับ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่างๆ สนับสนุนทั้งในส่วนของการผันแปรทางจินตนาการและทิศทาง เช่น ตัวแบบที่ดี สัมพันธภาพที่ดี และระบบขององค์การ เป็นต้น