ถ้ามุ่งวิเคราะห์ตามแนวทางเดิมอันมีลักษณะเน้นโครงสร้าง ก็จะเป็นการละเลยเนื้อหาอันมีบทบาทในการจัดการศึกษาของครู
ทางออกสำหรับประเด็นข้างต้นดูจะง่าย นั่นคือ เสนอแนะให้นำเนื้อหามาพิจารณาด้วย ซึ่งไม่น่าจะมีข้อขัดข้อง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าเป็นการสังเคราะห์ความรู้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่อไปก็คือแนวคิดเรื่อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งมีบทบาทในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ยังไม่มีความชัดเจนในข้อมูล หรือแม้แต่ในสังคมไทยว่าแนวคิดเรื่อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” แบบไทยนั้นเป็นอย่างไร แต่สำหรับตะวันตก กรอบแนวคิดหลักที่ใช้ทำความเข้าใจ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ก็คือ “อัตตาณัติ” นั่นเอง
ข้อนี้จึงเป็นอุปสรรคการนำเนื้อหามาร่วมพิจารณา เนื่องจากตามกรอบแนวคิดนี้ หากเรากำหนดเนื้อหาให้บุคคล โดยมิให้เขาได้เป็นผู้พิจารณาไตร่ตรองด้วยตนเอง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการไม่เคารพอัตตาณัติ ซึ่งหมายความถึงการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง แต่จะมีโรงเรียนไหนในประเทศที่ยอมรับได้ หากเด็กนักเรียนไตร่ตรองดูแล้วเห็นว่าไม่ควร “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” หรือ “รักประชาธิปไตย” ข้อนี้ต่างจากบุคลากรทางสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ อุดมการณ์วิชาชีพของบุคลากรทางสุขภาพนั้นนับเป็นทางเลือก กล่าวคือ บุคคลเลือกได้ว่าจะเข้าสู่วิชาชีพนี้หรือไม่ แต่กรณีของระบบการศึกษานั้น สิ่งที่สืบทอดเป็นที่คาดหวังให้ทุกคนยอมรับ อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ไม่ได้แสดงถึงความเผด็จการแต่ประการใด เนื่องจากนับเป็นความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่แม้เสรีนิยมก็เผชิญ ไม่ต่างกันเลย เสรีนิยมก็ไม่พร้อมที่จะยอมรับเช่นกัน หากบุคคลปฏิเสธเสรีภาพในการเลือก
สมมุติว่าเรายอมรับอัตตาณัติในฐานะกรอบแนวคิดสำหรับทำความเข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิ่งที่ต้องเผชิญอีกประการก็คือปฏิทรรศน์แห่งเสรีภาพ นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าแทรกแซงเสรีภาพของเด็ก เพื่อให้เขาได้มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ข้อนี้มีความเสี่ยงดังที่แสดงไว้ หากไม่ตระหนักว่าการส่งเสริมสมรรถนะการตัดสินใจเลือกของเด็กคือเป้าหมาย ก็อาจลดทอนเด็กลงเป็นเพียงเครื่องมือสู่เป้าหมายของครูได้ ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะดีเพียงใด แต่หากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ถือว่าไม่เคารพอัตตาณัติของเด็ก ในทางตรงข้าม หากเข้าใจผิดว่าเด็กมีอัตตาณัติสมบูรณ์แล้ว โดยปล่อยให้เด็กตัดสินใจเอง ก็นับเป็นการละเมิดอัตตาณัติของเด็กเช่นกัน
หากรู้สึกว่าการทำความเข้าใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยแนวคิดเรื่องอัตตาณัติเป็นการจำกัดเกินไป การไตร่ตรองข้อมูลพบว่าดูจะมีทางที่ก้าวพ้นการใช้กรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติไปได้ แต่สิ่งนั้นก็นำสู่คำถามอื่นๆ ดังที่เห็นข้างต้นว่ามีประเด็นที่เกินไปกว่ากรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ ได้แก่ ความรู้สึกที่สามารถสัมผัสถึงคุณค่าความเป็นคนได้โดยตรง และ คุณค่าทางวัฒนธรรมอันเป็นหนึ่งกับตัวตนกระทั่งไม่น่าจะอยู่ในขอบเขตของการเลือกที่จะรับหรือไม่รับ เช่น วัฒนธรรมของชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบว่าตัวระบบการศึกษาเองมีลักษณะที่นำสู่การกดทับคุณค่าทางวัฒนธรรมเฉพาะ ในบางกรณีก็เป็นไปด้วยการอ้าง “คุณค่าสากล” เช่น สิทธิ ความยุติธรรม หรือความเจริญ บางกรณีก็เป็นไปด้วยการอ้างคุณค่าเฉพาะของไทย เช่น อุดมกาณ์ชาตินิยม
นอกจากนี้ ข้อมูลที่ส่อถึงการมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีความตระหนักถึงการมีอยู่ของความสามารถที่จะรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นหรือไม่ หรือว่าความรู้สึกดังกล่าวมีลักษณะจำกัด เช่น ถ้ารู้สึกถึงความเป็นคนของเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกถึงความเป็นคนของผู้หญิง หากกล่าวในกรอบของการพัฒนาจิตวิญญาณ ข้อนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากกรอบดังกล่าวเชื่อในความเป็นสากลบางอย่าง
นอกจากลักษณะการเป็นกลไกสืบทอดอุดมการณ์บางอย่าง เช่น สิทธิหรือชาตินิยมแล้ว ตัวการศึกษาเองยังมีลักษณะที่นำสู่ข้อสังเกตว่าการศึกษาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจิตวิญญาณ ลักษณะนั้นได้แก่การประเมินเด็กด้วยมิติเดียว ได้แก่ คะแนน รางวัลหรือการสอบเข้าได้ นอกจากนี้ ยังมีลักษณะส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้เด็กรับรู้เด็กคนอื่นในมิติคู่แข่งเพียงมิติเดียว การมองเห็นคนไม่เต็มคนนั้นย่อมสัมพันธ์กับการมองข้ามความเป็นคนของเขาไป อาจนำสู่การลดค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ แม้ข้อมูลจะแสดงร่องรอยการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่มีคำถามว่าความพยายามนี้เพียงพอเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบว่ามีข้อมูลขัดกัน เช่น บ้างก็ส่งเสริมให้แข่งขัน บ้างก็เตือนให้ระมัดระวัง นอกจากนี้ การมุ่งคะแนนหรือการแข่งขันอาจนำสู่การพัฒนาจิตวิญญาณก็ได้ แต่คำถามคือจะทำอย่างไร
ดังกล่าวแล้วว่าในกรณีของเด็กนั้น หากใช้อัตตาณัติเป็นกรอบในการมองจิตวิญญาณแบบอัตถิภาวะ จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอันส่งเสริมอัตตาณัติด้วย ได้แก่ ปัจจัยสี่ การจัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและการส่งเสริมคุณธรรม เรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมและการสอนคุณธรรมพบได้มากมายในข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม มีประเด็นควรตระหนักสองประการ ได้แก่ การจัดสิ่งแวดล้อมและการสอนคุณธรรมไม่จำเป็นต้องสนับสนุนการพัฒนาจิตวิญญาณก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงจิตวิญญาณด้านอัตถิภาวะ อีกประการก็คือการให้การศึกษาเด็ก ดูจะมุ่งทุ่มเทเพื่อพัฒนาด้านกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม รวมถึงคุณธรรมเป็นหลัก การพัฒนาด้านจิตวิญญาณควบคู่ไปด้วยมิใช่เรื่องที่จะพบทั่วไป ข้อนี้สะท้อนเป็นอย่างดีในข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้