การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (17)

…เราได้กิจกรรมอย่างนี้นะครับ เราบอกว่า เราสอนอะไร เราสอนคุณธรรมมากมายนะครับ เราสอนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เราสอนเรื่องความกตัญญูเนี่ย เล่าอะไรก็แล้วแต่ไม่เกิดครับ พอเด็ก เด็กไปดูของจริงแล้วเนี่ย เด็กเกิดนะครับ มีอยู่เด็กคนหนึ่งนะครับ ย้ายโรงเรียนไป ไปอยู่ทางด่านมะขามเตี้ย อ่า วันเด็กครูก็แจกเสื้อผ้าปุ๊บ เด็กคนนี้ชื่อวันดีเป็นเด็กต่างด้าวครับ เขาก็ได้เสื้อผ้าตัวใหญ่ เขาไม่สามารถใช้การได้ อ่า คุณครูประจำชั้นก็ขอกลับแล้วเปลี่ยนใหม่ เด็กบอกว่าไม่ต้องเขาจะเอาเสื้อผ้าชุดนี้ไปให้แม่เขา เด็ก ครูประจำชั้นเขาไปบอกผู้บริหารเขา ผู้บริหารเขาก็โทรมาหาผมว่าผมมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างไรเด็กถึงมีความกตัญญูขนาดนั้น นะครับ…

…ให้เด็กไปดูแลผู้ป่วย เราก็เอาข้าวไปเลี้ยง เอาอาหารไปเลี้ยง เลี้ยงเอ่อเมื่อเราไปดูแลปุ๊บเนี่ย เด็ก ไปป้อนอาหารเนี่ย เป็นสิ่งที่เราประทับใจเป็นอย่างมากครับ ผู้ป่วยที่จะกลืนอาหารเข้าไปเนี่ย ไม่สามารถกลืนอาหารได้ลงคอ ครับก็ เราก็ถามว่าทำไมลุงไม่ทานครับ เขาบอกว่าตั้งแต่ชีวิตที่เกิดมาเนี่ยไม่เคยมีใครมาป้อนข้าว ลูกเขาไม่เคยมาดูแลเลย เด็กก็ร้องไห้ เด็กก็บอกว่าก็ไม่เคยป้อน อ่า พ่อแม่บ้างนะครับ แต่แม้กระทั่งผู้อำนวยการก็ยังไม่เคยป้อน ก็บอกว่ายังไม่ถึงวันนั้นใช่ไหม ทำไมเราต้องรอให้ถึงวันนั้นด้วย ผมก็ถามตัวเอง ถามนักเรียนว่าทำไมเราต้องให้ถึงรอวันนั้นด้วย ทำไมพ่อแม่เราดี ๆ เราไม่ไปป้อนนะครับ อ่า เมื่อเราพอให้เด็กป้อนข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วนะครับ น้ำตาก็นองหน้าทั้งคนป้อน คนทานอาหาร…

…เด็กบางคนเนี่ยเราให้สัมภาษณ์เขาที่ไปเอ่อ ขาขาด ขาขาดเนี่ยเป็นวัยรุ่นนะครับ เอ่อ ขี่รถซิ่งไปชนกับสิบล้อ เอ่อ ขาขาด อยู่บ้านแล้วอยู่ไม่ได้เพราะพ่อแม่ทำมาหากินก็เลยมาฝากหลวงพ่อไว้ เด็กเราไปถามถึงเบื้องหลังเบื้องลึกของแต่ละคนเนี่ย มันจะซับซ้อนมาก บางคนเนี่ยผิดหวัง ผิดหวังอย่างไร คือ อ่า มีอยู่คนหนึ่งครับ อ่า เขาเป็นอัมพฤกษ์แม่บ้านเขาก็ขาย ขายสมบัติหมดแล้วก็ไปมีชงมีชู้ของเขา เขาก็เล่าให้ฟัง เขาก็ทุกวันนี้เขาก็อยู่กับหลวงพ่อ พอเด็กได้ฟังอย่างนี้แล้วก็สะท้อนว่าสังคมเราไม่ดีแล้วนะ…

ข้อความที่ยกมาแสดงได้เป็นอย่างดีถึงการจัดสถานการณ์ของครูที่ทำให้เด็กได้ตระหนักถึงฐานะความเป็นผู้กระทำของตน อันส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม สังเกตได้ว่าการให้เด็กเผชิญสถานการณ์เป็นการเปลี่ยน “ความหมาย” สู่ “ความมีความหมาย” และการฟังเรื่องเล่าเป็นการสนับสนุนการผันแปรทางจินตนาการ เนื่องจากในความพยายามทำความเข้าใจนั้น ผู้ฟังต้องถอยห่างจากมุมมองของตนเอง และใช้มุมมองของผู้เล่า ข้อนี้แสดงถึงบทบาทของ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” (empathy)

แน่นอนว่าในเชิงตรรกะ สมรรถนะการตัดสินใจเลือกแยกไม่ออกจากความเป็นผู้กระทำ อย่างไรก็ตาม ในเชิงปฏิบัติ เห็นได้ชัดว่าการมองโลกโดยอาศัย “การตัดสินใจเลือก” เป็นมุมมองนั้น แตกต่างจากการมองโลกโดยอาศัย “ความเป็นผู้กระทำ” เป็นมุมมอง ส่งผลให้มีการปฏิบัติต่างกัน คือ ถ้าเป็นประการแรก ครูจะให้ความสนใจกับสมรรถนะการตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นประการหลัง ครูจะมุ่งพัฒนาสำนึกของเด็กว่าตนมีผลกระทบต่อโลกดังเห็นในตัวอย่างข้างต้น

นอกจากการจัดสถานการณ์ด้วยวิธีให้เด็กได้เผชิญและมีบทบาทในสถานการณ์จริงดังกล่าว ยังมีอีกวิธีหนึ่ง นั่นคือ เป็นการมอบหมายความรับผิดชอบ ทำให้ตระหนักถึงความเป็นผู้กระทำของตนเอง เช่น

…กิจกรรมตรงนี้นะครับ…หมายความว่าชวนน้องทำความดี ผมยกตัวอย่างว่า ตอนเช้า รุ่นพี่ เหมือนกับพี่รหัสนะครับ คล้ายคลึงกัน รุ่นพี่ต้องมาก่อน เอ่อ มาโรงเรียนไม่สาย มาถึงโรงเรียน เจอกัน สวัสดีกัน อะไรกันนี่ ชวนน้อง แนะนำน้อง ทักทายกัน พี่จะมาไม่สาย น้องก็จะต้องมาไม่สาย ตรงนี้หมายความว่าชักชวนกันมา อันนี้นำกันไป ถึงเวลาก็ว่าไปกิจกรรม ทำความสะอาดเขตความรับผิดชอบ รุ่นพี่ก็ชวนน้องกันไปทำ กิจกรรมหน้าเสาธงอย่างนี้ตลอด กิจกรรมการเรียนการสอนที่น้องทำไม่ได้ ก็พี่สอนน้อง ก็เป็นกิจกรรมที่เราทำกันอยู่ตลอด…