การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (16)

พวกเธอไปที่ไหนก็ตาม พวกเธอเป็นนักเรียนโรงเรียนสองแคว ไม่ใช่ไปอยู่ไหนแอบข้างเสาไป กลัวนักเรียนในเมือง ไปกลัวเด็กยุพราช ไปกลัวอะไร เค้าก็เป็นคนเหมือนกัน ผมเคยพูดว่าเค้าไม่ใช่เทวดาที่ไหน เค้าก็เป็นคนเหมือนเธอนั่นแหละ เพราะฉะนั้นคนเรามันจะทำอะไรก็ตามมันอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้ามันรักษาเกียรติ เกียรติไม่ได้หมายความว่าใครมีสตางค์ ใครมียศถาบรรดาศักดิ์ แต่เกียรติมันอยู่ที่การทำหน้าที่นะครับ ไม่ว่าเราจะเป็นครู เป็นภารโรง เป็นอะไรก็ตามนะครับ ถ้าเราเป็นภารโรงเป็นภารโรงที่ดี เราก็มีเกียรติ บางครั้งมีเกียรติมากเป็นครูที่เลวอีกนะครับ เพราะนั้นถ้าเรารักษาเกียรติได้โดยการทำหน้าที่ เราก็อยู่ที่ไหนได้อย่างสง่างาม ก็พยายามบอกกับครู บอกกับนักเรียนอย่างนี้นะครับ

ข้อความนี้แสดงถึงการใช้คำว่า “เกียรติ” “ศักดิ์ศรี” ในความหมายของ “คุณค่าของบุคคล” อันเป็นคุณค่าที่ได้จากการลงมือกระทำหรือการพัฒนาบางอย่าง ความพิเศษของข้อความนี้คือคุณค่าดังกล่าวเป็นไปได้อย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน เนื่องจากเป็นเรื่องของคุณธรรมอันเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถลงมือกระทำได้

ลองหันมาพิจารณาเรื่อง “ศักดิ์ศรี” บ้าง โดยพิจารณาข้อความต่อไปนี้

…แล้วเด็กคนนี้แสบมากวันก่อนเราตีไปทีหนึ่งแล้วเค้าว่าเด็กคนนี้ต้องลักแน่เลยทุกคนก็มุ่งลงมติว่าคนนี้เอาแน่ แกล้งผอ. แน่เลยแต่เราก็ไม่ได้ว่าอะไรพอผมจะไป ครูอธิคมรับไปก่อนเพราะกลัวผมเป็นคนโมโหแล้วใจร้าย แต่ถ้าใจดีก็ใจดี เค้าก็รีบเดี๋ยวผมจัดการเอง เค้าก็พาเด็กคนนี้ไปตะลอนๆ ไป ถามด้วยขับรถกันไปคุยกันไป เด็กก็ไม่ยอมรับ กลางคืนนั้นผมก็ไป เด็กก็หน้าเสีย กลัวผมจะว่า ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมก็เรียนคุยว่าเอาไปไหมลูก ลูกผู้ชายเอาไปก็ยอมรับถ้าไม่เอาไปก็ไม่เอาไปเค้าก็ยืนกรานว่าไม่เอาไป แต่พอกลับมาเสร็จจากลูกเสือมาพอลงรถปุ๊บนี่ เค้าใจเสียปั๊บเลย ผมเห็นเค้าหน้าซีดเลย ผอ.เล่นแน่ ผมก็เรียกเค้าอีกว่าเอาไปไหมเค้าก็ยังยืนกรานว่าไม่เอาไป ผมก็บอกว่าครูนะเชื่อในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเธอ เพราะครูรักเธอ เธอต้องไม่โกหกครู ยอมรับมาลูกถ้าเอาไปก็เอาไป เค้าก็บอกไม่เอาไป พอมาอีก 2 อาทิตย์จริงๆ เด็กคนนั้นไม่ได้เอาไปหรอก เป็นผู้หญิงที่เก็บสมาร์ทการ์ด เก็บบัตรโทรศัพท์ สะสมบัตรโทรศัพท์ เอาไป ก็ไปทำความสะอาดในห้อง ถามผมว่าถ้าผมตีเด็กคนนี้สักแปะหนึ่งเป็นบาปชั่วชีวิตเลย…

…ที่ รร. มีอย่างนึง ว่าถ้าใครลักหรือทำอะไรนี่จะเขียนจดหมายมาสารภาพบนโต๊ะ ผอ. ว่า ลักไปแล้ว บางทีก็บอกครู บอกผมเอาไปแล้วแต่ครูเราก็ยังไม่ตีหรอกจะให้โอกาส ถ้าบอกแล้วเราไม่ตี ก็บอกว่าทีหลังอย่าทำ ถึงมีค่าชดใช้ผมก็จะออกค่าชดใช้ให้ เราก็ถึงได้ว่าถ้าทำผิดไปแล้วหลงผิดไปแล้วนี่ ถ้ากลับมา บางคนกลับมานี่โดนตีเลยนะ แต่เราให้สารภาพทุกครั้ง ยังมีอีกครั้งหนึ่งที่เราเล่าให้ฟัง เด็กลักของประจำ เราก็ให้ครูอีกคนแก้ปัญหา โดยถ้าลักแล้วสารภาพมา ก็คืนเจ้าของไป สารภาพมาแล้วครูก็จะถามทุกครั้งจน เด็กคนนี้ไม่ลักเลยเพราะว่าลักแล้วเอาคืน ลักแล้วเอาคืน เด็กคนนี้ก็ห่างเรื่อยๆ จนเลิก เราก็ใช้กระบวนการนี้แหละมีอะไรเราก็จะถาม แล้วรับสารภาพมาเราก็ไม่ได้ลงโทษอะไร คือ รร. นี่เป็นแหล่งฝึกไม่ใช่แหล่งลงโทษ เราบอก รร.ให้ฝึกแต่ไม่ได้ให้ลงโทษ…

…ถ้าเด็กหนองตาบ่งผู้ชายบอกว่ารับมาอย่างลูกผู้ชาย ถ้าทำผิดไม่ยอมรับ ให้นุ่งกระโปรงเด็กจะโกรธมากกลัวเสียศักดิ์ศรี ฉะนั้นเค้าก็ยอมรับมาว่าเอาก็เอา ถ้าไม่ได้ลักก็คือไม่ได้ลัก เด็กปฏิเสธมาเราก็ไม่ได้ แต่ต้องดูตาเด็กด้วยว่าปฏิเสธจริงไหม แล้วบางครั้งเค้าจะปฏิเสธเป็นอาทิตย์เลย พออาทิตย์ที่ 2 เค้าจะทบทวนชีวิตเค้ามั้ง เค้าจะเขียนจดหมายมาขอโทษว่าที่ทำไปนะเค้าทำเอง แล้วเราก็เรียกมาโดยไม่ได้ลงโทษอะไร…

เห็นได้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หรือ “ศักดิ์ศรี” ในที่นี้มีความหมายตามที่ใช้ทั่วไป คือ “กล้าทำ กล้ารับ” และ “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” ซึ่งสัมพันธ์กับ “กล้าทำ กล้ารับ” ข้อนี้ไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นเด็กผู้หญิงจะมีศักดิ์ศรีได้หรือไม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจได้แก่ “กล้าทำ กล้ารับ” ตอนต้นๆ ได้กล่าวไว้เล็กน้อยเกี่ยวกับความรับผิดชอบ สิ่งนี้มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการตัดสินใจเลือกหรือเสรีภาพ แต่ในการกล่าวถึงการเคารพอัตตาณัติ มักจะมองข้ามไป เหตุผลสำคัญก็เพราะจุดเน้นอยู่ที่การมีสมรรถนะแห่งอัตตาณัติ แทนที่จะอยู่ที่การใช้สมรรถนะนั้นดังกล่าวแล้ว