การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (14)

เป็นเรื่องของการฝึกจิต ทำสมาธิ และตามกรอบแนวคิดของพระพุทธศาสนา เมื่อมีสมาธิ ก็จะมีปัญญา อย่างไรก็ตาม หากกล่าวโดยกว้าง “จิตวิญญาณ” มีสองความหมาย ได้แก่ ความหมายเชิงศาสนา และ ความหมายเชิงอัตถิภาวะ ในการศึกษาเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” ในสมัยต้น ความหมายเชิงศาสนานับว่ามีบทบาทหลัก ตามนัยยะนี้ “จิตวิญญาณ” เป็นเรื่องของประสบการณ์อันสัมพันธ์กับ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” ในความหมายของสิ่งที่มิอาจประสบได้ด้วยการรับรู้ทั่วไป อันอาจกินความถึงการได้สัมผัสพระเป็นเจ้า หรือการมีประสบการณ์ทางสมาธิ นอกจากนี้ ยังหมายถึงประสบการณ์ทั่วไป ได้แก่ การปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เช่น การเข้าโบสถ์ สวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิ เป็นต้น ในสมัยปัจจุบัน มิติด้านอัตถิภาวะของ “จิตวิญญาณ” มีความชัดเจนมากขึ้น ตามนัยยะนี้ “จิตวิญญาณ” ไม่ใช่เรื่องของศาสนา หากแต่เป็นเรื่องของการเข้าถึงความมีความหมายของชีวิตเป็นสำคัญข้อนี้ครอบคลุมการตระหนักถึงคุณค่าและเป้าหมายแห่งการดำรงอยู่

แน่นอนว่า “จิตวิญญาณ” ในความหมายแรก โดยมากจะสัมพันธ์กับ “จิตวิญญาณ” ในความหมายหลัง เนื่องจากศาสนาเป็นแหล่งคำตอบสำคัญเกี่ยวกับคุณค่าและเป้าหมายในการมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้ว “จิตวิญญาณ” ในความหมายของอัตถิภาวะนั้นมิจำเป็นต้องสัมพันธ์กับศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน มีทัศนะอันทรงอิทธิพลยิ่งขึ้นว่าบุคคลสามารถมีพัฒนาการทางจิตวิญญาณโดยมิต้องข้องเกี่ยวกับศาสนาแม้เพียงนิด ข้อนี้เป็นที่มาของคำว่า “not religious, but spiritual” ด้วยเหตุผลทั้งสองประการนี้ การไตร่ตรองเกี่ยวกับจิตวิญญาณ จึงควรยึดความหมายเชิงอัตถิภาวะเป็นสำคัญ ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิญญาณในฐานะ “การทำจิตนิ่ง” ดังที่แสดงในข้อความจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้างต้น จึงนับว่ายังไม่ใช่แก่นสารของ “จิตวิญญาณ” กล่าวได้ว่า “การทำจิตนิ่ง” เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาจิตวิญญาณ แต่ก็ไม่เชิงจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “จิตวิญญาณความเป็นครู” ที่สังเคราะห์ไว้ตอนก่อนหน้า

ทั้งนี้ก่อนขึ้นส่วนถัดไป มีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ พิจารณาได้ว่าความเข้าใจเรื่อง “จิตวิญญาณความเป็นครู” ดังกล่าวสะท้อนว่าผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เห็นว่า “จิตวิญญาณ” เป็นเรื่องของ “สารัตถะ” (essence) คือ เป็นลักษณะที่นิยามความเป็นสิ่งนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นคุณสมบัติที่หากขาดไปแล้ว สิ่งนั้นจะไม่ดำรงอยู่ต่อไปในฐานะสิ่งนั้น จึงกล่าวได้ว่าหากผู้มีอาชีพครูขาดลักษณะต่างๆ เช่น การเป็นผู้ให้เสียสละ อดทน ฯลฯ ก็ถือว่าบุคคลผู้นั้นขาดความเป็นครู

4.3 ศักดิ์ศรีและคุณค่าของเด็ก

หัวข้อที่มาก่อนเป็นการพิจารณาความเข้าใจเรื่อง “จิตวิญญาณ(ความเป็นครู)” ตามที่ปรากฏในข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หัวข้อนี้จะให้ความสนใจกับข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับ “ศักดิ์ศรี” และ “คุณค่า” ของเด็ก

ดังกล่าวแล้วว่าหากยึดกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นั้นแยกออกจาก “คุณค่าของบุคคล” ข้อนี้จะเป็นการเน้นย้ำว่าไม่ว่าบุคคลจะมีคุณค่าใดหรือไม่ ไม่ว่าคุณค่าจากชาติตระกูล ความร่ำรวย ผลงาน หรือความดีงาม พวกเขาต่างก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกันนั่นเอง หากจะกล่าวให้เข้าใจง่าย เราต้องแยกระหว่าง “คุณค่าของบุคคล” ซึ่งเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล และ “คุณค่าของมนุษย์” อันหมายถึงศักดิ์ศรีของใครก็ตามที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วทำไมบุคคลเหล่านี้จึงมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เหตุผลก็เพราะพวกเขามีอัตตาณัติ สามารถเลือกกำหนดชะตาชีวิตตนเองได้

ข้อนี้ก็ทำให้ฉงนได้เช่นกัน เนื่องจากที่มาของศักดิ์ศรีมีน้ำหนักอยู่ที่การมีสมรรถนะในการตัดสินใจเลือก ไม่ได้อยู่ที่การใช้สมรรถนะดังกล่าว เห็นได้ว่าเมื่อพิจารณาตามกรอบจริยศาสตร์ตะวันตกแล้ว แทนที่จะเป็นเรื่องสูงส่ง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในฐานะแนวคิดตะวันตกที่สังคมไทยเริ่มรับมาใช้ กลับเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับว่าบุคคลจะใช้สมรรถนะของตนเพิ่มคุณค่าให้ตนเองหรือไม่ เพียงใด จึงไม่น่าแปลกใจว่าความกลับหัวกลับหางเช่นนี้จะไปด้วยกันยากกับข้อมูล ทั้งนี้ไม่ต้องกล่าวว่าสังคมไทยที่รับแนวคิดนี้มาใช้นั้นมีความเข้าใจหรือไม่