การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (12)

เราได้เป็นผู้ให้ ผู้ช่วยเหลือ ได้ช่วยเหลือทุกคน นักเรียนเกิดความเสมอภาค …ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ดิฉันจะพยายามทำเป็นแบบที่ดีให้กับลูกๆ และก็สอนด้วยค่ะ เพราะว่าบางครั้งเด็กก็ต้องการชี้แนะเหมือนกันทำไมครูต้องทำแบบนี้ ทำไมครูต้องแต่งตัวแบบนี้ ทำไมครูจึงพูดไพเราะ เราต้องสอนเค้าด้วย เพราะเค้าเหมือนผ้าขาวที่เราจะต้องป้อนเค้า ให้ในสิ่งที่ถูกต้องแก่เค้า เพราะว่าเด็กก็ต้องมีทั้งความดีเติบโตไปพร้อมๆ กับความรู้ที่เค้าจะต้องนำไปเป็นอาวุธในการต่อสู้ในการดำรงชีวิตต่อไป…

ข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรได้ แม้ว่ามีส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความใส่ใจในความเสมอภาคหรือความเป็นธรรม ดังพบในข้อมูลส่วนแรงผลักดันสู่ความเป็นครู แต่ข้อมูลส่วนใหญ่แสดงถึงรูปแบบของการเป็น “ผู้ให้-ผู้รับ” ในความหมายของ “พ่อ(หรือแม่)-ลูก” การมุ่งมอบโอกาสตามสิทธิที่เด็กพึงได้รับ การมุ่งสร้างความเป็นธรรม ดูจะมีนัยเกี่ยวกับความเคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิขั้นพื้นฐานบางอย่าง แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย เห็นได้ว่านัยนี้ดูจะถูกบดบังไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญแก่ความกตัญญูอันเป็นหน้าที่ในการทดแทนคุณ แสดงถึงมิติของการเป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน”

หากเรายังทำความเข้าใจ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” โดยอาศัยกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติอยู่ รูปแบบที่ใช้น่าจะเป็น “ผู้ใหญ่ตัวน้อย” คือ มองว่าเด็กเป็นผู้ที่ครูจะต้องช่วยพัฒนาอัตตาณัติ ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติกับเด็กราวกับว่าเป็นผู้ใหญ่อีกคน มุมมองนี้ไม่ไปด้วยกันกับการมองเด็กเป็น “ผู้รับที่ต้องตอบแทน”

ในเมื่อข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ดูจะยืนยันว่ามีการให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก ข้อนี้ก็แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามว่าแนวคิด “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบไทย” นั้นมีได้หรือไม่ หรือมีในลักษณะใด “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” กับ “คุณค่าของบุคคล” อันเนื่องมาจากผลงานหรือการกระทำบางอย่าง (เช่น กตัญญู) ถือเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่ง ครูไทยเข้าใจแนวคิดเรื่อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นี้ว่าอย่างไร

ข้อนี้มีความสำคัญในอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากการวิเคราะห์ในหัวข้อที่มาก่อนแสดงว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” กับ “อัตตาณัติ” มีความเกี่ยวพันกันแนบแน่น และ “จิตวิญญาณ” (แบบอัตถิภาวะ) ก็มีฐานคติเรื่อง “อัตตาณัติ” (หรือ “เสรีนิยม”) แอบแฝงอยู่ แต่สำหรับบริบทไทย แนวคิดทั้งสาม ได้แก่ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” “อัตตาณัติ” และ “จิตวิญญาณ” มีความเกี่ยวพันกันแนบแน่นหรือไม่

นัยของคำถามจะเห็นได้ชัดขึ้นหากพิจารณาเห็นว่าภายในกรอบแนวคิดเรื่องอัตตาณัติ การพัฒนาจิตวิญญาณนั้น แอบแฝงเป็นส่วนหนึ่งของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เนื่องจากการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือการไม่ขัดขวางและส่งเสริมสมรรถนะด้านอัตตาณัติ และในบริบทการศึกษาก็รวมความถึงการไม่ขัดขวางและส่งเสริมปัจจัยอันส่งเสริมอัตตาณัติ และแก่นแกนของอัตตาณัติก็คือการตัดสินใจเลือก การเลือกที่สำคัญที่สุดและมีนัยต่อชีวิตทั้งมวลของบุคคลก็คือการเลือกเป้าหมายชีวิตในความหมายที่ลึก คือในความหมายของการเลือกให้ความหมายแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือตะวันตก โดยทั่วไปมุ่งเน้นตรงปัจจัยอันส่งเสริมอัตตาณัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณธรรม ในส่วนการพัฒนาสมรรนะการตัดสินใจเลือกก็มิได้มีมาก ส่วนใหญ่ก็จะแฝงอยู่กับการพัฒนาสมรรถนะทางสติปัญญาและการให้ข้อมูลความรู้ผ่านทางการฝึกฝนด้านวิชาการ