ให้ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันนะครับ ไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นเผ่านั้น เผ่านี้ แต่เราอยู่ด้วยกันอย่างสามัคคี สงบ อย่างสันติ แล้วก็เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน…
…ผมประทับใจที่เด็กพูดว่าเราหนีอะไรก็หนีได้ แต่เราหนีเงาตัวเองไม่ได้ เราเป็นเด็กดอย เราควรภูมิใจในคำว่าเด็กดอยของเรา ผมจะใช้คำพูดนี้ไปสอนเด็กเค้าว่าไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริงของลูกมากกว่าลูก เพราะฉะนั้นลูกรู้แล้วควรทำในสิ่งที่ดี เพราะผมรู้ว่าครอบครัวเค้ามีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีมีเยื่ยงอย่างที่ดีก็เอาอย่างที่ดี…
…เราสอนให้รักแผ่นดินบ้านเกิด แผ่นดินบ้านเกิดนี่เรารักอะไรกัน บางคนอาจจะหัวเราะแต่มันเป็นเรื่องที่เข้าตากรรมการเลยค่ะ ที่เราให้เด็กทำกิจกรรมต่อยอดเรามานำเสนอครั้งสุดท้ายนี่ก็คือ เด็กได้ไป ไปดูควายกัน เอ๊ะ ควายมันมาเกี่ยวอะไรกับครูอาสา จริง ๆ คือเรื่องรักถิ่นกำเนิดเราเนี่ยค่ะ ควายที่มันอยู่ในทุ่งนาเนี่ยนักเรียนเห็น ควายมันก็คือควายอ่ะ ไปดูซิที่เขาว่าโง่เหมือนควาย ทำไมคนโบราณใช้คำพูดคำนี้ ไปดูซิว่าควายปัจจุบันนี้หายไปไหน เมื่อก่อนนี้ควายเป็นยังไงกับเดี๋ยวนี้ เราพาเด็กไปกัน ครูอาสาน้อยไปกันหมดประมาณ 20 คน ไปบ้านลุงคนนึงซึ่งเขาเนี่ยเลี้ยงควาย มี 10 กว่าตัว ให้ลุงเนี่ยเล่าเรื่องควายให้ฟัง ลุงก็จะเล่าความดีของควาย เล่าว่าควายนี่มีประโยชน์ คือเขารักควาย เนี่ยลุงคนนี้เป็นคนที่เลี้ยงควาย แล้วก็รักเขามาเลยอ่ะ แล้วเขาก็เล่าเรื่องควายเนี่ย ประโยชน์ของควายนะ ว่าเนี่ย ที่เขาเกิดมาเขามีประโยชน์ เขาสามารถไถนาให้เรา ดูซิปัจจุบันนี้ กับปัจจุบันโน้น ลักษณะของวิถีชุมชนแตกต่างกัน เมื่อก่อนเราไถนากัน เราทำงานกันไป เราไม่ได้เร่งรีบ เรามีการลงแรง ที่เขาเรียกว่าลงแขกใช่ไหมคะ เราไม่แก่งแย่งชิงดี เรามีกิจกรรมสานสัมพันธ์ เรามีกิจกรรมร่วมชุมชน ปัจจุบันนี้มีแต่เร่งรีบ แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ทะเลาะเบาะแว้งแล้วก็จบลงที่ปัญหาโลกร้อนซึ่งเราไม่คิดถึงควายกันแล้ว เด็ก ๆ ก็จะ เออ เราเกิดมาเราโชคดีแล้วนะ หมู่บ้านเราเนี่ยมันมีควาย ไม่ใช่เราเกิดมาเป็นคนบ้านนอก ห่างไกลความเจริญ จะต้องเข้าไปหาแสงสี เข้าไปอ่ะ ในเมือง ไปร้านเกมส์ ไปเล่นเน็ต อะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วเขาก็จะกลับมาสอนน้องเขา แล้วก็กลับมาสอนจริง ๆ ด้วยค่ะ
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่แนวคิดเรื่องอัตตาณัติทำให้มองข้าม คือความเป็นตัวตนของเรานั้นผูกพันกับวัฒนธรรมอย่างแยกไม่ออก หากมองในมุมเสรีนิยม ก็จะกล่าวว่าแม้เราจะเลือกวัฒนธรรมที่หล่อหลอมตัวตนไม่ได้ แต่เมื่อมีวุฒิภาวะ เราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำตามวัฒนธรรมนั้นได้ ในด้านหนึ่ง ความคิดเช่นนี้สมควรยอมรับ หากเรายังเชื่อในหน้าที่ในการแก้ไขสิ่งผิดที่มีอยู่และสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความคิดเช่นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก ว่านำสู่การดูถูกตนเอง เนื่องจากการรับความคิดเช่นนี้เป็นการรับระบบการให้คุณค่าแบบเสรีนิยมที่เห็นว่าคุณค่ามีฐานอยู่บนการเลือกของปัจเจกบุคคล ในเมื่อระบบการให้คุณค่าแบบเสรีนิยมเป็นเพียงระบบหนึ่ง การรับมาใช้โดยปฏิเสธระบบคุณค่าที่หล่อหลอมตัวเราจึงไม่ต่างไปจากการดูถูกตัวเอง ดังเห็นชัดจากคำถามที่ว่าทำไมจึงยอมคุณค่าที่เรายอมรับมาเป็นร้อยปีด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ไม่เป็นแบบฝรั่ง” คงลืมไม่ได้ว่าระบบคุณค่านี้เป็นการเห็นความมีความหมายของโลกทั้งหมด การปฏิเสธสิ่งที่มีความหมายของบุคคลเช่นนี้ เป็นการปฏิเสธตัวตนทั้งหมดของเขาในเวลาเดียวกัน
ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการยอมรับชาติพันธุ์ รวมถึงวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ หากเป็นเช่นนั้น ก็นับว่ามีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็ก ในความหมายของการเคารพวัฒนธรรมที่หล่อหลอมตัวตนของเขา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังแสดงถึงสิ่งที่ดูขัดแย้ง
…พยายามเติมเต็มกลุ่มที่เค้ายังขาดโอกาส ผมคิดว่าดั้งเดิมเรามนุษย์ถ้ำทั้งหมด เราเองถ้าเรียนประวัติศาสตร์มา เราเองก็เริ่มเรียนรู้จากถ้ำ การใส่กางเกง การศึกษา ทำไมเราได้โอกาสแบบนี้ เราเสวยสุขสบาย แต่คนอีกกลุ่ม บางคนมองว่าอนุรักษ์ไว้ ซาไกก็ให้อยู่บนป่านั้นแหละเหมือนตองเหลือง ทำไมไม่คิดว่าย้อนหลังไป เราก็อยู่ในถ้ำเหมือนกัน ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เขา วันหนึ่งเค้าก็แต่งตัวอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ผมก็คิดตัวที่จะตอบคำถามคือกลไกการศึกษา ผมเชื่อว่าการศึกษาไม่ต้องให้เค้าตลอดชีวิต ให้เขาระยะนึง หลังจากนั้นจะไปพัฒนาตัวเอง ถ้าเราให้ของเราก็ให้ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราให้การศึกษากับเค้า มันจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ในการพัฒนาคนให้พ้นจากวงจรความทุกข์ยาก วงจรความอยากจน แล้วก็มาสร้างสิทธิ ความเท่าเทียมกัน เหมือนคนอื่น อันนี้แหละคือแรงบันดาลใจ…