การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” (3)

การประสบกับ “ความมีความหมาย” ไม่ว่าจะในรูปของการที่ “ความหมาย” กลายเป็น “ความมีความหมาย” หรือการขยายขอบเขต “ความมีความหมาย” หรือการที่ “ความมีความหมาย” เปลี่ยนไปอันเป็นผลจากการต่อสู่กับ “ความมีความหมาย” ดั้งเดิม กระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยสมรรถนะสำคัญที่เรียกว่า “การผันแปรทางจินตนาการ” ซึ่งจะส่งผลเมื่อมีความเหมาะเจาะระหว่างความคิดและความรู้สึก องค์ประกอบสำคัญในการใช้สมรรถนะดังกล่าวก็คือ “ทิศทาง” เช่น อุดมการณ์

การสังเคราะห์ความรู้ครั้งนี้เป็นการอาศัยข้อมูลจาก “กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ของ “แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ระยะที่ 3” การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันอยู่ในบริบทของการศึกษานี้ นับว่าเป็นการท้าทายฐานคติแห่งการไตร่ตรองเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณ” เหตุผลสำคัญเนื่องจากจุดสนใจในการพัฒนาจิตวิญญาณที่พิจารณาก็คือ “เด็ก” อะไรคือฐานคติที่เผชิญการท้าทาย การนิยาม “จิตวิญญาณ” ไม่ว่าจะในแบบที่เน้นศาสนาหรือแบบที่เน้นอัตถิภาวะนั้นต่างก็มีลักษณะเปิด หรืออีกนัยหนึ่ง นิยามมีลักษณะเชิงโครงสร้าง คือ เป็นการกล่าวถึง “เป้าหมายของชีวิต” (ในความหมายของ “ความมีความหมายของชีวิต”) เท่านั้น หาได้มีการระบุไม่ว่าเนื้อหาของเป้าหมายชีวิตนั้นคือสิ่งใด หรืออีกนัยหนึ่ง หากกล่าวในกรอบการสังเคราะห์ครั้งที่แล้ว การนิยามจำกัดอยู่กับการชี้ว่าต้องมี “ทิศทาง” แต่มิได้มีการระบุว่าอะไรคือเนื้อหาของทิศทางนั้น

สาเหตุประการหนึ่งมาจากลักษณะของ “ทฤษฏี” ที่ต้องมีความกว้างขวางครอบคลุม เพื่อให้สามารถอธิบายหรือแม้กระทั่งวัดบุคคลที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างกันไปได้ อย่างไรก็ตาม แม้ในระดับนี้ ก็ยังเป็นไปได้ว่าจะมีการศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหา เช่น ผลของการเลือกเนื้อหาที่มีต่อสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ดังที่มีข้อสังเกตประการหนึ่งในการสังเคราะห์ความรู้ครั้งที่แล้วว่ายามที่เผชิญความสูญเสีย ผู้ที่นับถือศาสนาต่างกันจะปล่อยวางได้เร็วช้าต่างกัน อีกเหตุผลสำหรับลักษณะเชิงโครงสร้างของการนิยาม “จิตวิญญาณ” ก็คือความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงข้อถกเถียงว่า “อะไรควรเป็นเป้าหมายชีวิต” (หรือ “อะไรควรเป็นความหมายของชีวิต) เหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุผลทางวัฒนธรรม หากจะกล่าวให้ชัดเป็นเหตุผลตามแบบเสรีนิยมของตะวันตก

การท้าทายที่ว่าอยู่ในรูปแบบใด ประการแรก หากจุดสนใจของการพิจารณาเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณเป็นผู้ใหญ่ การเปิดโอกาสให้เลือกเนื้อหาให้แก่เป้าหมายชีวิตของเขาย่อมเป็นไปได้ง่ายกว่า แม้ในบางแง่มุมอาจมีความปรารถนาที่จะแลกเปลี่ยนว่าเนื้อหาที่เขาเลือกนั้นน่าพึงปรารถนาหรือ “สมควร” หรือไม่ ในทางตรงข้าม ในกรณีที่จุดสนใจเป็นเด็ก เป็นการยากกว่าที่จะกล่าวถึงการเลือกเนื้อหา ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดทางวุฒิภาวะ เช่น ความสามารถในการไตร่ตรอง และขอบเขตของข้อมูลโดยทั่วไปยอมรับกันว่าเป็นหน้าที่ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษา ที่จะสอนเด็กว่าอะไรควรหรือไม่ควรเลือก อีกประการหนึ่งที่ซ้อนขึ้นไปก็คือแม้มีความพยายามรับแนวคิดนี้เข้ามาโดยเข้าใจผิดว่าเป็น “สิ่งสากล” แต่อันที่จริงสังคมไทยมิได้เป็นเสรีนิยม นั่นคือ สังคมไทยยังเชื่ออยู่ว่ามีเนื้อหาอันแน่ชัดสำหรับ “เป้าหมายชีวิต” เช่น “ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” “รักถิ่นเกิด” “รักประชาธิปไตย” “เศรษฐกิจพอเพียง” อาจมีคำถามว่าตะวันตกมิได้เห็นว่าเด็กขาดวุฒิภาวะและต้องการคำชี้นำหรอกหรือ คำตอบคือใช่ แต่โดยอุดมคติแล้ว จะถือว่าเนื้อหาแห่งการชี้นำนั้นก็คือเสรีนิยม ข้อนี้ควรเข้าใจอย่างไร

แนวคิดสำคัญคือ “อัตตาณัติ” (autonomy)2  แนวคิดดังกล่าวเป็นกรอบสำหรับทำความเข้าใจ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” “สิทธิ” หรือ “เสรีภาพ” ของตะวันตกในปัจจุบัน ผู้ที่คุ้นเคยกับจริยธรรมการแพทย์จะคุ้นเคยกับบางมิติของแนวคิดดังกล่าว เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าแก่นแกนของ “อัตตาณัติ” อันเป็นเรื่องของการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองก็คือ “การตัดสินใจเลือก” อันประกอบด้วยกระบวนการตัดสินใจและข้อมูลอันเป็นวัตถุดิบแห่งกระบวนการตัดสินใจ แก่นแกนนี้คือสารัตถะความเป็นมนุษย์ด้วย ฉะนั้น การพิจารณาเพียงองค์ประกอบนี้ก็เพียงพอต่อการพิจารณามนุษย์ทั่งมวล หรือ “มนุษย์ที่สมบูรณ์”

—————————————–

2 ดู Harris (1992)