1. ทักษะการเรียนรู้ (learning skill) หมายความว่า เด็กใฝ่เรียนรู้และสามารถเรียนรู้ได้จากทุกสถานที่และเวลา
2. ทักษะการใช้ชีวิต (life skill) หมายความว่า เด็กรู้จักใช้ชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง
3. ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT skill) หมายความว่า เด็กรู้จักเสพและใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน
ทักษะทั้งสามประการรวมเรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่21 (21st century skill)
ทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วย การคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการสร้างนวัตกรรม
ทักษะชีวิต ประกอบด้วย การรู้จุดหมายของชีวิต มีแรงบันดาลใจและรู้จักวางแผน กล้าตัดสินใจและรับผิดชอบผลลัพธ์ของการตัดสินใจ ทำงานมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ รู้จักประเมินตนเองและมีความยืดหยุ่น
ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย รู้ทันข้อมูลข่าวสารและรู้จักใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อย่างชาญฉลาด
ทักษะการเรียนรู้
เด็กไทยควรใฝ่รู้และรู้วิธีที่จะเรียนรู้และหาคำตอบด้วยตนเอง ทั้งนี้เพราะปริมาณความรู้ในโลกมีมากมายมหาศาลเกินกำลังที่ระบบการศึกษาใดๆจะชี้ได้ว่าอะไรควรรู้อะไรไม่ควรรู้ และมีมากเกินกำลังที่เด็กจะรู้ไปเสียทั้งหมด ในทางตรงข้ามความรู้มากมายมีให้สืบค้นอย่างหลากหลายในอินเทอร์เน็ตและแหล่งเรียนรู้รอบตัว นอกจากนี้ในโลกที่ซับซ้อนย่อมไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวสำหรับแต่ละคำถามหรือปัญหา
ที่สำคัญกว่าความรู้หรือรู้มาก จึงควรเปลี่ยนเป็นความใฝ่รู้และรู้วิธีที่จะเรียนรู้ รู้ว่าตนเองอยากรู้อะไรและจะไปหาความรู้ได้จากที่ไหน เมื่อได้มาแล้วรู้จักไม่เชื่อในทันทีและตั้งคำถาม จากนั้นจึงค้นหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นเป้าหมายใหม่ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21
กระบวนทัศน์ใหม่คือวิธีหาคำตอบสำคัญกว่าตัวคำตอบเอง เด็กไทยควรเก่งในเรื่องกระบวนการหาคำตอบมากกว่าที่จะหลงเชื่อหรือติดกับกับคำตอบตายตัวใดๆของโจทย์ปัญหาใดๆ
การศึกษาไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนจากการมุ่งมอบความรู้(knowledge)เป็นการพัฒนาทักษะทั้งสามประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการเรียนรู้ การเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้และกระบวนการหาคำตอบสำคัญกว่าคำตอบ ส่วนเรื่องจะให้เรียนรู้อะไรนั้นคำตอบอยู่ที่ชุมชน
เด็กไทยควรรู้จักตั้งข้อสงสัยต่อความรู้ที่ได้รับ ไม่เชื่อในทันทีแม้จะเป็นสิ่งที่ครูหรือผู้ใหญ่พูด เมื่อสงสัย ไม่เชื่อ ขั้นตอนต่อไปอย่างน้อยก็ควรเถียงในใจว่า “อาจจะไม่จริง” หลังจากนั้นอาจ จะทำได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือพูดออกไปตรงๆว่าอาจจะไม่ใช่ ทางที่สองคือตั้งคำถามออกไป ทางที่สามคือไม่พูดไม่ถามแต่ออกไปค้นคว้าคำตอบอื่นๆที่เป็นไปได้
การพูดออกไปและการตั้งคำถามเป็นเรื่องเสียมารยาทสำหรับเด็กไทยอย่างไม่มีข้อสงสัยและเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นต้นเหตุที่จะฉุดรั้งและดึงคุณภาพของเด็กไทยดิ่งเหวลงไปเรื่อยๆเพราะไม่กล้าคิดอะไรเลย การไม่คิดย่อมทำให้ไม่มีทางจะมีจินตนาการตั้งแต่แรก
การตั้งข้อสงสัยและการตั้งคำถามเป็นเรื่องต้องฝึก จะไม่เกิดขึ้นเอง แต่ฝึกได้โดย
1. เด็กไทยทุกคนควรถูกสอนวิธีตั้งคำถามที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาไม่ยอกย้อน ตั้ง
คำถามให้ฟังรู้เรื่องว่าจะถามอะไร ด้วยถ้อยคำที่สุภาพและอ่อนน้อม
2. เด็กไทยทุกคนควรถูกสอนให้รู้วิธีค้นหาความรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะจากแหล่งเรียนรู้ใด
เพื่อให้ข้อสงสัยและคำถามของตนเองมีน้ำหนัก มิใช่สักแต่เถียงข้างๆคูๆโดยไม่มีหลักฐานอะไรรองรับ
3. ผู้ใหญ่เองต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการจุดชนวนทักษะการเรียนรู้ นั่นคือมีท่าทีที่รับฟัง
ครูที่ดีควรมีท่าทีรับฟังเด็กพูดหรือถามด้วยใจเปิดกว้างเสมอ ไม่ตัดสินผิดถูกและไม่ให้ความสำคัญกับคำพูด คำตอบหรือข้อสงสัยของเด็กว่าผิดหรือถูก ต่อเมื่อเด็กสัมผัสได้ว่าครูรับฟังจึงจะเกิดสัมพันธภาพที่ดี เมื่อมีสัมพันธภาพที่ดีครูจึงจะมีโอกาสและหาจังหวะช่วยให้เด็กรู้ว่าเขาควรไปหาคำตอบข้อสงสัยนั้นได้ที่ไหนและอย่างไร ครูจะทำเช่นนี้ได้เมื่อต้องก้าวข้ามตนเองว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องและไม่จำเป็นเลยที่ต้องเก่งกว่านักเรียนและยิ่งไม่จำเป็นเลยที่ต้องตอบคำถามของเด็กได้ทุกคำถาม