5 เด็กได้อะไรจากปฏิรูปการศึกษา

1.โจทย์ปัญหานั้นสัมพันธ์กับชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

2.มีการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็นกลุ่มเพื่อให้ได้ทำงานเป็นทีม

3.สมาชิกของแต่ละกลุ่มมีความหลากหลายในทุกมิติ เช่น เชาวน์ปัญญา ผลการเรียน เศรษฐานะ ชาติพันธุ์ นิสัยใจคอ เป็นต้น

4.ในกระบวนการหาคำตอบเปิดโอกาสให้นักเรียนต้อง “ลงมือทำ” ดังที่เรียกว่า “การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ” หรือ “Active Learning:AL” ดังนั้นการไปทัศนศึกษาหรือการเข้าห้องสมุดทำรายงานจึงยังมิใช่การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

5.การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานมุ่งเน้นกระบวนหาคำตอบมากกว่าตัวคำตอบเอง ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าโลกที่ซับซ้อนนี้ไม่เคยมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

6.การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานไม่ละทิ้งวิชาพื้นฐาน 3 วิชา คือ การอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสมองโดยตรง

7.การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานควรบูรณาการเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย และภาษาอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อคงความเป็นเลิศทางวิชาการ

8.การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานควรตอบสนองวิชาอนาคต 4 วิชาซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ นั่นคือ ความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ ความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม และวิชาความเป็นพลเมือง กล่าวคือเราจัดการศึกษาก็เพื่อให้เด็กๆมีสุขภาวะที่ดี มีเงินใช้ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับความแตกต่าง

9.การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานไม่มุ่งเน้นมอบความรู้ แต่มุ่งเน้นมอบทักษะ 3 ประการคือ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งการใช้เครื่องมือไอทีอย่างชาญฉลาด

10.การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานจะต้องมีการประเมินผลหลังจากปิดโครงการเสมอ ดังที่เรียกว่า After Action Review(AAR) เพื่อตอบให้ได้ว่านักเรียนได้อะไรและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

11.ครูที่มีประสบการณ์จัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานจะต้องมีกลุ่ม Professional Learning Community(PLC) เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีการศึกษา

12.สุดท้าย สามารถพิสูจน์ได้ว่านักเรียนพัฒนาตนเองไปเป็นบุคคลที่มีทักษะชีวิตที่ดี มีความใฝ่รู้และสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้จากทุกสถานที่และเวลา

ในความเป็นจริง โรงเรียนทางเลือกหรือโรงเรียนในระบบที่จัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานไม่สามารถสร้างโจทย์ปัญหาที่ดีที่สุดมีครบทั้ง 12 องค์ประกอบสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีด้วยตนเองได้ แต่ก็ยังดีกว่าการสอนอย่างแข็งกระด้างและมุ่งมอบความรู้จำนวนมากดังที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำกันอยู่ โรงเรียนเหล่านี้ควรมีเครือข่ายช่วยเหลือกันพัฒนาโจทย์ปัญหาที่ดีที่สุด

ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงเชิญชวนโรงเรียนในภาคีเครือข่ายมาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิธีออกแบบการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานให้แก่นักเรียนตามที่เป็นจริง ให้ครูที่ได้ทำงานนี้จริงๆได้บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่นักเรียนของตนเป็นรายบุคคล นั่นคือ “เด็กได้อะไร”

จากการแลกเปลี่ยนตามด้วยการเรียนรู้ โรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนในระบบที่เข้าร่วมงานกับมูลนิธิฯ จะได้เรียนรู้การจัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานของกันและกันอย่างละเอียด เพื่อให้ได้แนวคิดในการปรับปรุงการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานที่มีอยู่ให้มีองค์ประกอบที่ดีที่สุด

โดยมีนักวิชาการการศึกษาที่เข้าใจแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ทักษะ 3 ประการของเด็กทำหน้าที่จดบันทึก ยืนยันงานที่ครูทำ ตีความ และวิเคราะห์การเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐานนั้นอย่างเป็นระบบ

การปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ที่มูลนิธิฯ และโรงเรียนเครือข่ายพยายามช่วยเหลือตนเองนี้เริ่มดำเนินงานโดยไม่มีทุนสนับสนุน เป็นโรงเรียนแต่ละแห่งที่มีความตั้งใจจะช่วยกันปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยโดยเอาเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และลงมือทำตั้งแต่วันแรกภายใต้คำถามว่า “เด็กได้อะไร”

การปฏิรูปการศึกษาที่แท้และจะสำเร็จได้ ควรเป็นโรงเรียนหรือคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นฝ่ายลุกขึ้นเรียกร้อง และร่วมมือผลักดันให้โรงเรียนที่ยังจัดการสอนแบบเดิมให้เปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้เสียใหม่

โรงเรียนทางเลือกหลายแห่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างผลผลิตคือนักเรียนที่ดี แต่ติดขัดที่ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายยังสูงเกินกว่าที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ของประเทศจะรับได้ ดังนั้นเราควรเรียกร้องและผลักดันให้โรงเรียนในระบบทั้งหมดเปลี่ยนตนเองเป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน

เป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมด้านการศึกษาโดยมีผลลัพธ์ที่ดี