อุ้มบุญ (55) การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 10

ต้องมีข้อมูลรอบด้านที่จะทำให้แต่ละท่าน มีและใช้เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ

อีกประเด็นที่เรายังไม่ได้คุยกันแต่คิดว่า ถ้าเราจะทำเรื่องเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เราคงจำเป็นต้องคุยเรื่องโคลนนิ่งด้วย เพราะกำลังมาจ่อหน้าประตู อันที่จริงในต่างประเทศก็มีการโคลนกันเรียบร้อยแล้ว โคลนประเทศนี้ไม่ได้ก็หนีไปโคลนประเทศโน้น ซึ่งก็มีบริษัทรับจ้างทำโคลนนิ่งแล้ว ประเด็นนี้เราก็ควรมาคุยกันด้วยในอนาคตอันใกล้

ความเห็นที่ 2

เรากำลังเจอปัญหามากมาย ตอนนี้เรามีปัญหาเกิดและปัญหาตาย ซึ่งจริงๆแล้ว ปัญหาเกิดและตายมันไม่น่าจะมีปัญหาเลย เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในขณะนี้เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปถึงขนาดนี้แล้ว ถ้ามองดูในสังคมได้เกิดปัญหาขึ้นเยอะ อย่างวันนี้เราคุยเรื่องเกิดซึ่งมีมากและมีหลากหลายความเห็น และยังไม่ลงว่ามันควรจะยังไง จะทำยังไรที่เราจะใช้เทคโนโลยีในขณะนี้ให้ถูกต้องพอเหมาะสมควรพอดี ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่จะดูในภาพกว้าง อาจจะไม่จำเป็นต้องลงเจาะลึกในแต่ละอัน เพราะแต่ละเรื่องเหมือนกันหมดว่า เรากำลัง intervene ธรรมชาติ เรา intervene เพื่ออะไร เพื่อใคร แต่ละคนบอกว่า เขาทุกคนน่าจะมีสิทธิทำอะไรอย่างไรได้ ก็ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะทุกอย่างในโลกนี้มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ในประโยชน์ของปัจเจกบุคคลนั้น มีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ก่อนที่จะสรุปว่าจะทำหรือไม่ทำ เพราะฉันอยากได้ ฉันอยากมี ฉันอยากทำ ฉันไม่อยากทำ เพราะฉะนั้นต้องมองภาพรวมเสียก่อน ไม่ใช่ว่าเราอยู่ตรงไหน ในฐานะที่เป็นหมอไต ถ้าบอกว่าฉันอยากจะเปลี่ยนไตเยอะๆ เอาสตางค์มาให้ฉันเยอะๆ แล้วไม่ได้มองภาพรวมของประเทศว่าปัญหาสาธารณสุขอยู่ตรงไหน เราก็จะตักตวงเอาของเราแล้วอย่างนั้น มันควรหรือไม่ เพราะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือดูภาพรวมทั้งหมดแล้วดูว่าเราอยู่ตรงไหน แล้วเราควรทำอย่างไร

สำหรับเรื่องเราทำได้ ทำไม่ได้ เราอาจจะบอกว่า ความเห็นเราทำได้ ทำไม่ได้ แต่จริงๆ เราอิงบนพื้นฐานของอะไร ตรงนี้มีปัญหาเยอะมากจนต้องแสวงหาผู้รู้ อาจารย์สมศักดิ์กับอาจารย์ประเสริฐ เราก็ได้ไปคุยกับท่านเจ้าคุณพรหมคุณาพร คือ ท่านปยุต เพื่อที่จะขอความเห็นว่าเราควรทำอย่างไรกับปัญหาสังคมที่เป็นเชิงซ้อนในขณะนี้ คือเรามองแต่ปัจเจกบุคคลไม่ได้แล้ว เราต้องมองโดยเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆในสังคมที่เป็นอยู่ เรารู้จริงหรือยังตอนนี้ เมื่อก่อนเราดูว่าคนนี้เป็นโรค เราควรจะยุติการตั้งครรภ์ มันดูง่ายตรงไปตรงมา แต่ใครจะรู้ว่าไม่กี่ปีข้างหน้าเราจะเจอกับปัญหาอะไรอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องถามตัวเองว่าเรารู้จริงหรือยัง และเราทำด้วยเจตนาอะไร

เรารู้จริงแค่ไหน ตามจริงนั้นก็คือถ้าเป็นตัวอ่อนนั้นมีชีวิตแล้ว ในการคัดเลือดตัวอ่อนนั้นแน่นอน ต้องคัดบางตัวขึ้น บางตัวทิ้งไป ทิ้งไปก็เหมือนฆ่า หรืออาจเก็บไว้ ถามว่าเก็บไว้นานเท่าไหร่ แล้วใช้โครงสร้างองค์กรอะไร สิ้นเงินทองไปเท่าไหร่ แล้วได้ประโยชน์จากการเก็บไว้นานอย่างนั้นหรือไม่ ขณะเดียวกันถ้าจะบอกว่าชั้นทำถูกเพราะว่าชั้นทำเพื่อประโยชน์คนอื่น แต่การฆ่าคือการฆ่า มันคงอยู่อย่างนั้นจะไปบิดเบือนธรรมชาติไม่ได้ ความจริงคือความจริง เราต้องยอมรับความจริงว่านี่คือความจริงไม่ได้ทำถูกต้อง ถ้านับถือพุทธศาสนาคือว่ามันคือบาป บาปก็คือบาป แต่จะมาบอกว่าเป็นแค่ตัวอ่อน แต่มันคือชีวิตค่ามันเท่ากัน เพราะฉะนั้นมันต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงว่า ความจริงคืออะไร เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เจตนาคืออะไร ถ้าเจตนาดีก็น่าจะเบาลงไป แต่เราต้องดูว่าความรู้ของเราถ่องแท้หรือเปล่า เรามองเห็นหรือยังว่ามันเกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคมในอนาคตบ้าง ซึ่งอันนี้มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกันดู แล้วมันคงไม่ได้มีข้อสรุปกันง่ายๆ เพราะว่าปัญหามันซับซ้อนมาก ต้องคิดให้ดีว่าเราทำเพื่อใคร ทำเพื่อคนเองหรือเพื่อสังคมโดยรวม หรือเพื่อเฉพาะบางคนที่มีความต้องการอยากได้ ก็จะฝากไว้ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เราก็ต้องช่วยกันคิดด้วย การเอาตัวเองออกแล้วมองว่าสังคมควรจะเป็นอย่างไร

ความเห็นที่ 3

ประเด็นที่หนึ่งก็คือการคัดเลือกตัวอ่อนควรทำหรือไม่ เราต้องเข้าใจตัวอ่อนก่อนว่าคืออะไรก่อนที่เราจะไปพูดว่าควรหรือไม่ควร ตัวอ่อนเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ยังไม่ไม่ข้อยุติ แต่เอาเป็นว่ามีชีวิต แต่จะยอมรับว่ามีชีวิตและมีคุณค่าเหมือนเด็กคนหนึ่งหรือเปล่า เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดี ตัวอ่อนไม่ได้เหมือนกันหมดทุกตัว สมมติว่าตัวอ่อนผสมขึ้นมาได้ 10 ตัว ไม่ได้แปลว่า ตัวอ่อน 10 ตัวมันมีความสามารถที่จะพัฒนาเท่ากัน และขณะเดียวกันไม่ได้หมายความว่าตัวอ่อนทั้ง 10 ตัวปกติเหมือนกันทั้ง 10 ตัว จริงๆ แล้วตัวอ่อนพวกนี้จำนวนไม่น้อยที่มีโครโมโซม มีพันธุกรรมที่ผิดปกติ สมมติมา10 ตัว อาจจะมีซัก 3 หรือ 4 ที่มีโครโมโซมผิดปกติ ท่านทราบหรือเปล่าครับ ดังนั้น ทั่วโลกทุกคนที่ทำ IVF ทำเด็กหลอดแก้ว กำลังจะเดินไปก็คือ ต้องการใส่ตัวอ่อนกลับเข้าไปแค่ตัวเดียว เราต้องการตัวอ่อนที่ดีที่สุด ที่มีคุณภาพ ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ ที่มีโครโมโซมใส่กลับ เพื่ออะไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์แฝด เราไม่ต้องการแฝดสอง แฝดสาม แฝดสี่ อีกแล้ว เพราะว่าการมีครรภ์แฝดเกิดขึ้นมันมีความเสี่ยง เสี่ยงทั้งแม่ เด็ก ค่าใช้จ่ายที่สูง เด็กออกมาอาจจะคลอดก่อนกำหนด เข้าตู้อบ มีปัญหาร้อยแปดตามมามากมาย เราไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการแค่เด็กที่ปกติคนเดียว เพราะฉะนั้นเราต้องการตัวอ่อนที่ดีที่จะใส่กลับหนึ่งตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคัดเลือกตัวอ่อนที่ดี และถ้ามองย้อนกลับไป ไปเป็นพันปี โลกเรามันผ่านการคัดเลือกมาทั้งนั้น พวกเราเองก็เหมือนกัน กว่าจะมาเป็นตัวเป็นตนอย่างทุกวันนี้ ธรรมชาติคัดเลือกมาแล้วทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหลีกหนีไม่พ้น ไม่มีอะไรที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ตัวเราเองที่มายืนอยู่ได้ทุกวันนี้ เราก็เป็นสเปิร์มตัวหนึ่ง ที่ชนะตัวอื่นๆ มาทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องผ่านการคัดเลือก มิฉะนั้นไม่สามารถบังเกิดหรือยืนอยู่บนโลกใบนี้ได้ นี่คือประเด็นที่หนึ่ง

ส่วนว่าตัวอ่อนที่เหลือจะทำอย่างไร ไม่ว่าเราจะคัดหรือไม่คัดก็ตาม ตัวอ่อนพวกนี้ก็ต้องมีวิธีการจัดการอยู่ดี ไม่ว่าจะคัดหรือไม่คัดก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ก็คงว่ากันไปว่าจะทำอย่างไร ถ้าเรายอมรับกันว่ามันมีชีวิตก็ต้องหาวิธีการต่อไปที่เหมาะสม

ส่วนเรื่องการคัดเพศผมว่าเราต้องแยกประเด็นให้ชัดเจนว่าการคัดเพศในปัจจุบัน เราพูดถึงเทคโนโลยีการคัดเพศ มันมีสามวิธีใหญ่ๆ ในปัจจุบันนี้

1. คือวิธีธรรมชาติที่โบราณใช้ คือการสวนล้างช่องคลอดด้วยกรดด้วยด่าง การนับวัน การกินเปรี้ยวกินเค็ม วิธีนี้ทำได้หรือไม่

2. การนำเชื้ออสุจิมาคัดแยกเพศ x กับ y แล้วฉีดเข้าในโพรงมดลูกในวันที่มีไข่ตก ถามว่าอย่างนี้ทำได้หรือไม่

3. การคัดตัวอ่อนที่เกิดขึ้นมาแล้วว่าตัวอ่อนตัวนี้เป็นผู้ชาย ผู้หญิง ก่อนที่จะนำกลับใส่เข้าไปอันนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง คือการทำเด็กหลอดแก้ว การตัดเซลล์ตัวอ่อนมาแยกดูก่อนว่าเป็นชายหรือหญิง จึงจะใส่กลับ วิธีนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมหรือไม่

เราต้องแยกก่อนที่มาบอกว่าควรทำคัดเพศหรือไม่ควรทำ ต้องมาดูกันว่าโดยเทคโนโลยีปัจจุบันมันมีวิธีไหนบ้าง แล้ววิธีไหนเหมาะสมไม่เหมาะสม วิธีไหนมันเกินไป แนวคิดว่าเราต้องยืนอยู่บนความพอดี ไม่มีอะไรที่บอกว่าไม่ได้เลย หรืออะไรที่บอกว่าได้ทุกอย่าง ต้องยืนอยู่บนความพอดีว่า อะไรคือความพอดีมากกว่า ถ้าเรายึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นแหล่ะคือคำตอบ

ส่วนเรื่องการคัดเลือกพันธุกรรมของตัวอ่อน มีคำถามว่าถ้าเราเลือกตัวอ่อนที่ดี ที่ฉลาดได้ ก็ไม่ยุติธรรม ตัวอ่อนที่ไม่เก่ง ไม่หล่อ ไม่สวย นี้คงไม่มีโอกาสเลือก แต่ความจริงถามนิดหนึ่งว่าพี่น้องเราสามสี่คนหน้าตาแตกต่างกันมากไหมครับ มีใครหล่อมาก มีใครฉลาดน้อย มันก็ใกล้เคียงกัน มาจากพันธุกรรมเดียวกัน อาจจะมีความต่างกันนิดหน่อย ที่เราว่าจะไปเลือกคนเก่งไม่เก่ง หล่อมากหล่อน้อย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม เพราะว่าการคัดเลือกกับการตัดต่อพันธุกรรมเป็นคนละเรื่อง ถ้าเราเอายีนส์ฉลาดมาใส่ เรากำลังดัดแปลงพันธุกรรมให้เป็นอย่างนั้น อาจจะไม่เหมาะ แต่ว่าที่เราจะเลือกตัวอ่อนสวยเก่งหล่อ ไม่มีหรอกครับ เนื่องจากพันธุกรมจะใกล้เคียงกัน นี่คือโลกของความเป็นจริง

ส่วนว่าถ้าเราจะเลือกไม่ให้ตัวอ่อนที่มี พันธุกรรมที่เป็นโรค เช่น ธาลัสซีเมีย ดาว์นซินโดม คิดว่ามีประโยชน์และควรทำ เพราะอะไร หนึ่ง ถ้าเราเป็นพ่อแม่เราอยากได้เด็กที่เป็นดาว์นซินโดม อยากมีลูกที่เป็นธาลัสซีเมีย ต้องพาไปให้เลือดทุกเดือน ถ้าเราเป็นพ่อแม่อยากมีลูกเป็นดาว์นซินโดม แล้วเข้าโรงเรียนไม่ได้ หรือ สอง เด็กที่เกิดขึ้น เขาจะมีความสุขหรือ ถ้าเขาเป็นธาลัสซีเมีย ดาว์นซินโดม เขามีความสุข มองเห็นโลกหรูอย่างพวกเราที่ยืนอยู่ทุกวันนี้หรือไม่ ถ้าเขามีความสุขอย่างนั้น เขามีสิทธิที่จะเกิด แต่คิดว่าเขาอาจจะถามตรงกันข้ามว่าทำให้เขาเกิดมาทำไม