อุ้มบุญ (54) การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 9

ทางกลุ่มก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าควรจะทำได้หรือไม่ได้ เนื่องจากว่ามองเป็นสองประเด็นด้วยกันคือ

หนึ่ง – ถ้าเรามองว่าตัวอ่อนเป็นสิ่งมีชีวิต การคัดเลือกตัวอ่อนตัวหนึ่งขึ้นมา แล้วตัวอ่อนอื่นที่เราต้องกำจัดทิ้งไปมันเป็นการทำลายชีวิตหรือเปล่า

สอง – ถ้าเราคัดเลือกตัวอ่อนแล้วเราควรจัดการกับตัวอ่อนอย่างไร คือเราควรจะทำลายเขา หรือควรที่จะแช่แข็ง หรือหาวิธีการเก็บรักษาตัวอ่อนนั้นไว้

ประเด็นที่สองเรื่องการคัดเลือกเพศ มีความเห็นว่ายังไม่สมควรให้มีการคัดเลือกเพศ เนื่องจากว่าตัวอ่อนควรจะมีสิทธิในเพศของเขา มองต่อไปว่า หากอนุญาตให้กำหนดเพศได้แล้ว หากเพศใดเพศหนึ่งในสังคมมีมากเกินไป จะเกิดปัญหาสังคมหรือไม่ จะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติในอนาคตหรือไม่ เช่น ถ้าครอบครัวหนึ่งมีแต่ลูกผู้หญิงหมดเลย และต้องการลูกชาย หากเราคัดเลือกเพศให้ได้ จะเกิดผลกระทบกับลูกผู้หญิงหรือ

ส่วนเรื่องการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมไม่ดีหรือว่ามีโรคที่ร้ายแรง ก็ไม่ควรให้เขามีชีวิต แต่หากเป็นโรคไม่ร้ายแรงเช่น เบาหวาน ก็ควรจะมีสิทธิที่มีชีวิตอยู่

ส่วนลักษณะเด่นในเรื่องความสวยความหล่อเราคิดว่าไม่ควรเอาสิ่งนี้มาใช้

กลุ่มที่ 2

ประเด็น: ขอบเขตการคัดเลือกตัวอ่อน

พยายามทำความเข้าใจว่า “การคัดเลือกตัวอ่อน” หมายความว่าอย่างไร มีผู้ให้ข้อมูลว่าในที่นี้จะหมายถึงว่า หาว่ามีสิ่งผิดปกติอะไร จึงมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นจะทำได้อย่างไรและใครเป็นคนตัดสิน มีหลายประเทศได้มีการตัดสินโดยรัฐ เช่น ประเทศไซปรัส ซึ่งรัฐจะเป็นคนตัดสิน หากพบคู่สมรสมีธาลัสซีเมียก็จะเข้าไปแทรกแซงชีวิตสมรสของคู่สมรสนั้น โดยไม่ให้มีการแต่งงานเกิดขึ้น จึงเป็นประเด็นว่าจะทำอย่างไร ใครตัดสิน

สำหรับเรื่องเพศมีความเห็นเป็นสองทาง ทางแรก ไม่ควรแทรกแซงสิทธิบุคคล แต่ควรให้ข้อมูลโดยรอบด้าน แล้วก็ให้คู่สมรสตัดสินใจเอง ทางที่สอง ควร แต่ว่าก็ต้องมีเกณฑ์ เช่น เป็นพาหะของโรค

โดยมีประเด็นสำคัญอีกสองประเด็น คือในแง่ของตัวอ่อนที่จะเอาไปใส่คืน ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป เพราะระยะหลังมีปรากฏการณ์ว่าเป็นในเชิงโฆษณาด้วย ว่าผู้ที่ใส่ตัวอ่อนมากก็จะประสบความสำเร็จสูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อหญิงที่ตั้งครรภ์มาก ก็เป็นข้อที่เราคำนึงว่าตัวอ่อนไม่ควรมาก แล้วก็ควรจะไม่มีลักษณะเป็นการโฆษณาว่าสามารถที่จะเลือกเพศได้ เพื่อให้มาใช้บริการของสถานที่นั้นๆ

ในเรื่องการคัดเลือกพันธุกรรม เห็นว่า ควรแทรกแซงได้เฉพาะกรณีโรคที่ร้ายแรงมาก แต่จำเป็นต้องมีเกณฑ์บางอย่าง

ในเรื่องยีนส์เด่น ไม่ควรกระทำ

ในตอนท้ายได้ปรึกษาหารือกันว่าในการคัดเลือกพันธุกรรม ควรคำนึงถึงเด็กด้วย เพราะว่ามีกลุ่มที่จะพูดถึงว่าให้น้องสามารถที่จะช่วยพี่ได้ อันนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่คำนึงถึงตัวเด็ก

กลุ่มที่ 3

ประเด็น: ขอบเขตการคัดเลือกตัวอ่อน

เห็นว่าควรทำได้ แต่ต้องมีข้อจำกัด โดยแบ่งเป็นสองกรณี คือ

กรณีที่เป็นโรคพันธุกรรมที่ส่งผ่านโครโมโซมเพศ (sex link) เพื่อเลี่ยงกรณีเด็กอาจจะเป็นโรค

แต่ในส่วนการเลือกเพศด้วยเหตุผลทางสังคมหรือของครอบครัว แบ่งเป็น 2 กลุ่มทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเห็นว่า สิทธิของผู้หญิงและผู้ชายควรเท่าเทียมกันที่จะเกิด แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยเห็นว่าขึ้นกับพื้นฐานครอบครัว

ในส่วนของการคัดเลือกพันธุ์ เช่น โรคทางพันธุกรรม มีความเห็นว่าในการเลือกโรคพันธุกรรมที่ร้ายแรงน่าจะเลือกได้ หรือเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาระต่อครอบครัว เช่น Down Syndrome หรือ Hantingtun เป็นต้น

การเลือกตัวอ่อนที่มีลักษณะเด่น ไม่เห็นด้วย และลักษณะแนวคิดแบบ Eugenic โดยเทคโนโลยีปัจจุบันยังทำไม่ได้ ยังไม่สามารถลงไปลึกจนถึงยีนส์

กลุ่มที่ 4

ประเด็น: ขอบเขตการคัดเลือกตัวอ่อน

การคัดเลือกตัวอ่อน ควรทำได้ แต่มีข้อจำกัดคือ

อย่างแรกถ้าเป็นการคัดเลือกเพศ มีความเห็นหลากหลาย ในกรณีที่บอกว่าเห็นด้วยก็จะบอกว่า เห็นด้วยมากในกรณีที่ครอบครัวที่มีลูกมากแล้ว คือกรณีที่มีเพศหญิงหลายคน กรณีเป็น complete family หรือว่าในปัญหาของครอบครัวที่ฝ่ายหญิงถูกกดดันว่าต้องการเพศชาย อย่างนี้ก็มีคนเห็นด้วย สำหรับกรณีที่ไม่เห็นด้วย ก็บอกว่าเพศแต่ละเพศมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ ตัวอ่อนแต่ละตัวก็มีสิทธิเท่ากันเหมือนกันที่จะเกิดมา

แต่ปัญหาคือถ้าเราคัดเลือกตัวอ่อนไปแล้ว ตัวอ่อนที่เหลือจะทำอย่างไรต่อไป จะแช่แข็งหรือว่าจะทิ้งไป ตัดสินใจยากเพราะว่า ตัวอ่อนจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่

ในประเด็นการคัดเลือกเพศ ในกลุ่มก็ยังขัดแย้งกันอยู่ ว่าจะทำได้หรือเปล่า

สำหรับในกรณีที่เป็นการคัดเลือกพันธุ์ ทางกลุ่มเห็นไปในแนวทางเดียวกันคือ เห็นด้วยกับการคัดเลือกพันธุ์ในกรณีเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ร้ายแรง

ส่วนกรณีการคัดเลือกตัวอ่อนที่มีลักษณะเด่น เช่น ฉลาดหรือหล่อ เห็นว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันยังทำไม่ได้ จึงยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน