อุ้มบุญ (51) การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 6

“ตาย” ตามกฎหมายในพจนานุกรมไม่เหมาะสำหรับที่แพทย์จะมาใช้ในเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะที่เทคโนโลยีมันไปไกลกว่านั้นมาก ขณะนี้คำว่าตายจะมีคำจำกัดความเพิ่มขึ้นแล้วว่า หมายถึงสมองตายด้วย การมีคำจำกัดความดังนั้นจึงมีผลทางกฎหมายโดยทางอ้อมเพราะฉะนั้นกฎหมายเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จึงเห็นด้วยว่าถ้าออกกฎหมา ยแบบพระราชบัญญัติ จะมีปัญหาตามมามาก

อีกประการหนึ่งคือ เรื่องการฟ้องร้อง มีกรณีที่มีการฟ้องร้องต่อแพทยสภาแล้วคือใช้เทคโนโยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีปัญหาจริยธรรมคือใช้ฮอร์โมนเร่งการตกไข่ในปริมาณที่สูงเกินขนาด และขาดการควบคุมจนเกิดโรคแทรกซ้อนที่ค่อนข้างรุนแรง ในกรณีนี้แพทยสภาตัดสินลงโทษ และเมื่อเร็วๆ นี้มี เรื่องเสนอผลงานทางวิชาการ อ้างว่าที่ทำมาอัตราความสำเร็จสูงมากประมาณ 2 เท่า กว่าอัตราทั่วไป ในกรณีนี้การนำเสนอที่พยายามบอกว่าอัตราความสำเร็จสูงจะมีลักษณะเป็นการโฆษณาจูงใจ เข้าข่ายคดีมีมูล

ความเห็น 10

ประเด็นสำคัญเห็นด้วยกับเรื่องความเท่าเทียมและเรื่องคนยากจนที่จะเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาด้วย แต่เห็นว่าในสังคมไทยในขณะนี้ออกกฎหมายช้าเกินไป เพราะเนื่องจากว่าประชาชนถูกกระบวนการอย่างทำให้เสียหายหรือถูกหลอก เวลาเดินทางไปเก็บข้อมูลกับชาวบ้านมีชาวบ้านที่บังเอิญรวย เค้ามีลูกพอแล้วที่เชียงใหม่ทำหมันแล้วเค้าไม่มีลูกชายพอมีสตางค์ก็เลยไปแกะหมันและก็ไปทำกิฟท์จะเอาลูกชาย ดิฉันถามว่าแน่ใจได้อย่างไรว่าจะได้ลูกชาย เขาบอกว่า หมอสัญญากับเขาว่า ถ้าไม่ได้ลูกชายหมอจะส่งให้เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่อย่างไรก็แล้วแต่นี่เป็นคำสัญญาหลอกๆ จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกใช้เพื่อนำประโยชน์เข้าตัวมาก และมีการผิดพลาดจำนวนมากซึ่งไม่มีการบันทึกไว้ ผลความล่าช้าต่างๆ ไม่ได้ให้ภาพในด้านที่ไม่สำเร็จและทำความเสียหายให้กับประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นดิฉันคิดว่าเวทีอย่างนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าเราจะได้เกณฑ์หรือไม่ได้เกณฑ์ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญและอยากจะให้เป็นเป้าหมายหลักของเวทีนี้ด้วยว่า เป็นการลงทุนทางปัญญาสังคม อย่าไปคิดว่าเรื่องพวกนี้ซับซ้อนยุ่งยากในการที่จะสื่อสารกับประชาชนได้ทราบ เราน่าจะมีความสามารถที่จะย่อยเรื่องพวกนี้ไปสู่สาธารณะมากๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจแล้วรู้ว่าเรามีทางเลือกหรือไม่มีทางเลือกอะไรบ้าง ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับกระแสความรู้ที่มันซับซ้อนมากขึ้น แล้วเราจะทำอะไรไม่ได้เลยอย่าง GMO เป็นต้น จึงเสนอว่าเราต้องทำอย่างนี้แล้วพยายามย่อยให้กับประชาชน

ความเห็นที่ 11

อยากให้ทำความเข้าใจว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ออกมา และที่ยกมาส่วนใหญ่เป็นตัวอย่างของผู้ไม่ปฏิบัติตามมากกว่า อีกแพทย์ที่ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์จะไม่เป็นข่าว เวลาพิจารณาจึงไม่ควรให้พอมีเรื่องๆหนึ่งขึ้นมาก็ต้องหากฎเกณฑ์มาจำกัดหรือแก้เเรื่องนั้น เลยกลายเป็นให้คนอื่นต้องเดือดร้อนไปด้วยจำนวนมาก

จริงๆ ก็เป็นอย่างตัวอย่างที่ยกมาว่า ชาวบ้านไม่รู้จริงๆ ว่ามีประกาศแพทยสภาและราชวิทยาลัย แม้ว่ามีออกมาชัดเจนว่า เวลาก่อนจะทำต้องขอความยินยอม ( inform consent) และต้องอ่านในรายละเอียดให้เข้าใจ ซึ่งควรจะมีหมด ทุกขั้นตอนจะทำอย่างไร อัตราความสำเร็จเท่าไร ผลเสียมีอะไร ก่อนลงนาม แล้วจึงค่อยทำให้ ไม่ใช่ไปหลอกชาวบ้าน กรณีตัวอย่างที่ยกมาเป็นข้อยกเว้น

เพราะฉะนั้นกฎเกณฑ์ที่สร้างจะเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นขั้นตอน ว่าถึงจุดไหนควรจะทำอย่างไร ไม่ใช่ไปเอาเรื่องที่คนฟ้อง 1 เรื่อง แล้วก็เราก็เอากฎเกณฑ์มาว่าตรงนี้ต้องบังคับหมด มีเป็นขั้นตอน

ข้อชี้แจง

ประเด็นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีตัวกฎหมายมาคุม เป็นเพราะว่าระบบกฎหมายต่างกัน โดย อเมริกาและอังกฤษ เป็นระบบ common law ซึ่งไม่มีตัวบทอ้างอิง ในภาคพื้นยุโรปเป็นระบบ civil law จะอิงประมวลกฎหมาย นี่คือความต่างกัน ในอเมริกามีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นก็จะดูคำพิพากษาว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเป็นอีกแบบหนึ่ง

ในประเทศเราเป็น civil law เหมือนภาคพื้นยุโรป ถ้าเราจะทำอะไรแล้วไม่มีกฎเกณฑ์อิงเลย และเราไม่มีคำพิพากษาอ้างด้วยเพราะเรื่องอย่างนี้ยังไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาเป็นคดีจะยากมาก ถ้าถามว่าอันนี้อิงหลักเกณฑ์อะไร เราเป็นประเทศ civil law เราควรต้องยึดแนวนี้

ผู้ดำเนินรายการสรุป

ช่วงเช้าทุกท่านคงได้เห็นว่าเราก็มีโอกาสทั้งแสดงความเห็นตรงข้ามกันอย่างไรก็ได้ แต่ว่าก็น่าจะได้ความรู้และข้อมูลเพิ่มเติมด้วย จากหลายๆฝ่ายไม่ว่าฝ่ายนักกฎหมาย ฝ่ายนักวิชาชีพ ฝ่ายคนดูแลกติกากลาง รวมถึงพวกเราที่อาจจะไม่ได้มีส่วนรับรู้ ความรู้ที่มันสลับซับซ้อน แต่ก็อยากจะเห็นอะไรที่ดีขึ้นสำหรับสังคม และทุกท่านก็คงจะเห็นอีกประเด็นหนึ่งว่า เวลาที่เราบอกว่าเราอยากจะเห็นกติกา กติกามีได้หลายแบบ ผมหวังว่าบ่ายนี้เราลงไปใน 2 ประเด็นตัวอย่าง ถ้าเป็นไปได้ เราจะช่วยกันเสนอดูว่าเราอยากเห็นกติกาหน้าตาเป็นอย่างไร กติกาควรจะเขียนว่าอย่างไร แล้วควรจะเขียนอยู่ตรงไหน พอจะมีความรู้เท่าที่เราพอจะมีประสบการณ์ อาจจะช่วยทำให้การทำงานตรงนี้ มันเคลื่อนต่อไปได้มากกว่าเรื่องหลักการทั่วไป เรื่องหลักการทั่วๆไปก็มีประโยชน์มากเลย ว่ากลไกลควรจะเป็นอย่างไร กลไกไหนควรเป็นทางออก ทางเลือกซึ่งเราก็ได้คุยกัน โดยใช้ 2 ประเด็นแรกของเช้านี้ ก็หวังว่าบ่ายนี้เราคงลงได้อีก 2 ประเด็น จนกระทั่งได้แนวทางอย่างที่เรียนนะครับว่าทุกท่านเป็นผู้ที่จะเอาของพวกนี้ไปใช้ประโยชน์