อุ้มบุญ(50)การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 5

แม้ครอบครัวที่เป็นต้นแบบก็ปัจจุบันก็ไม่ได้แข็งแรง ในแง่ของคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายหรือคู่สมรสที่ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมายว่าควรจะมีสิทธิด้วยหรือไม่ ก็คิดว่าก็ควรมีสิทธิ แต่ว่าต้องมีเงื่อนไขคือ เช่น จะต้องมีผู้ให้ปรึกษาเข้าร่วม อาจจะมีนักสังคม จิตแพทย์ เข้ามาช่วย ดิฉันคิดว่าผู้ที่เป็นเพศเดียวกันก็อาจปรับใช้เงื่อนไขนี้ เป็นการเปิดโอกาส

ข้อชี้แจง

ขอชี้แจงอยู่สองเรื่องคือ

เรื่องที่ 1 เรื่องกรรมการในร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ซึ่งสำนักงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนฯ ร่าง ไว้ มาตราหนึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เรียกว่า คชจพ. ประกอบด้วย นายกแพทยสภาเป็นประธาน ประธานราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ เป็นรองประธาน ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์หรือผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงพัฒนาสังคม ผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ผู้แทนกรรมการสตรีและครอบครัว เป็นกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการเจริญพันธุ์ จำนวน 2 คน ด้านเวชพันธุศาสตร์จำนวน 1 คน ด้านปรัชญาและจริยศาสตร์ 1 คน ด้านกฎหมาย 1 คน ด้านสิทธิเด็ก 1 คน ด้านกิจการสตรี 1 คน และผู้อำนวยการกองโรคศิลปะเป็นเลขานุการ

วรรคสอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรค 1 ต้องเป็นสตรีไม่น้อยกว่า 3 คน เพราะเขาบอกว่า ผู้ชายไม่ค่อยรู้เรื่องก็เลยเขียนไปแบบนี้ นี่คือโครงสร้างล่าสุดที่อยู่ในร่างเรื่องหนึ่งที่จะชี้แจง

เรื่องที่สอง ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หมอมีสิทธิปฏิเสธหรือไม่ถ้ามีผู้มาขอรับบริการเรื่องนี้ คณะวิจัยได้พูดถึงประเด็นนี้ในหน้า 13 ว่า สิทธิต่างๆ ที่จะเป็นสิทธิในรัฐธรรมนูญก็ตาม สิทธิของผู้ป่วยก็ตาม เป็นการรับรองสิทธิทั่วไปที่ประชาชนพึงได้รับจากบริการทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้หากมีความแตกต่างได้ตามสถานภาพของบุคคล และลักษณะโรคภัยในแต่ละกรณี ซึ่งการขอรับบริการในกรณีมีบุตรยาก โดยใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ไม่อาจถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะได้รับเหมือนกันทุกกรณี เพราะว่าไม่ใช่กรณีที่จะเปรียบเทียบได้กับการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นอาการของโรคโดยแท้ ดังนั้นหากมีการรับรองสิทธิในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่รัฐ ในการให้สวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลจนเกินขอบเขต ก็จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขที่เคร่งครัดและจำกัดกรณีไว้เท่าที่จำเป็น อีกทั้งต้องจำกัดขอบเขตของภาระที่รัฐจะให้การสนับสนุนในระดับที่สมเหตุสมผล

ความเห็น 7

องค์กรที่กำกับดูแลโดยตั้งคณะกรรมการขึ้น มีความเห็นว่า ต้องถามตัวเองก่อนว่ามันถึงเวลาหรือยัง โครงสร้างองค์กร (infrastructure) ของเรามีความพร้อมหรือไม่ ถ้าดูตัวอย่างจากประเทศที่ดำเนินการก่อนหน้าประเทศไทย อย่างเช่น อังกฤษ ก่อนที่เขาจะมี HEFA (Human Embryo and Fertilization Association) (check) ใช้เวลา 10 กว่าปี โดยมีแนวปฏิบัติ (guideline) มาก่อน เมื่อทุกอย่างพร้อม มีคนรู้เรื่องเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และตั้ง HEFA ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย การตั้งองค์กรเช่นนี้ เช่น ปัจจุบันนี้HEFA ใช้เงินหกล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเข้ามาควบคุมดูแล ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ เงินนี้เอามาจากคนไข้ โดยทุกคนที่จะทำ ART จะ ต้องจ่าย HEFA license fee โดยคนไข้เป็นคนจ่าย เพราะฉะนั้นอยากให้เข้าใจว่าทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย การที่เราตั้งคนขึ้นมาทำก็ต้องมีค่าใช้จ่าย

อีกเรื่องหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลง การออกเป็นกฎหมายและการจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้ยากมาก และข้อกำหนดต่างๆในกฎหมายบางครั้งไม่ได้ดูแนวปฏิบัติ เช่น ในอิตาลี ถ้ากระตุ้นไข่ได้ 10 ใบ เก็บไข่ได้ 3 ใบ ถ้าเก็บใบที่ 4 ก็ผิดกฎหมาย

ในหลายประเทศรัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงิน แต่ในประเทศไทย ผู้ป่วยเองเป็นผู้จ่ายเงิน การที่จะไปออกกฏหมายบังคับในสิ่งที่เราไม่ได้ให้ คือคนไข้จ่ายเงินเองหมดแต่เราไปบีบบังคับเขาว่า ไอ้โน่นห้ามไอ้นี่ห้ามทำแล้วเราให้เขาทำอะไรบ้าง ปัจจุบันคนรวยเท่านั้นที่ทำ ART คนจนทำไม่ได้

ปัญหารีบด่วนควรไปแก้กฎหมายตรงนี้ก่อนหรือไม่ว่า เราควรให้เท่าเทียมกันว่าคนไม่มีสตางค์สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ก่อนหรือไม่ ทำไมเราจึงต้องรีบออกกฎหมายควบคุมเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีความเห็นว่าเรายังไม่มีความพร้อม ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมามาก ถ้าคนไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แล้วจะออกกฎหมายควบคุมเทคโนโลยี จะมีปัญหาผลพวงตามมา ในเยอรมันคนชอบพูด เยอรมันสร้างตัวอ่อนได้ไม่เกิน2-3 ตัว ตัวที่เหลือเลี่ยงไปหมดบอกว่าตัวอ่อน2 pn (อธิบายเพิ่ม) ไม่ใช่ตัวอ่อน

การออกกฎหมายในต่างประเทศบางที่ก็มีปัญหาเยอะมาก สิ่งที่เขาทำคืหนีไปรับบริการในประเทศใกล้เคียง เช่นเราบอกว่าเราไม่มีคาสิโนในไทยแล้วข้ามไปปอยเปต ถ้าบังคับเข้มงวดเกินไป ก็จะไปใช้บริการ ART โน่นไปอยู่ปอยเปต ข้ามพรมแดนไปนิดเดียว ประเทศไทยต้องการเป็น medical hub หรือไม่ คือถ้าเป็น medical hub เราควรออกกฏหมายขณะนี้หรือไม่ และถ้าเราออกกฎหมายเข้มงวดเกินไป การแพทย์จะหยุดพัฒนา แพทย์คือคนที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ถูกซื้อตัว ขณะนี้ก็หายไปเยอะแล้ว ถ้ากฎหมายออกมาอีก และเข้มงวดเกินไปก็จะทำงานไม่ได้

การออกกฎหมายคุมเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นดาบ 2 คมจริงๆ เพราะควรจะต้องระมัดระวัง คืออย่าก้าวกระโดดเร็วเกินไป การออกกฎหมายเห็นว่าต้องมีเวลาที่เหมาะสม และพร้อมทุกฝ่าย ทุกคนพร้อมไหมพร้อมจะไปด้วยกันหรือยัง ถ้าเรายังไม่พร้อมผมว่าเสี่ยงมาก จะออกตอนนี้ ขอบคุณครับ

ความเห็น 8

ประเด็นที่ 1 การคุ้มครองตัวอ่อนน่าจะมองไปถึงไข่และอสุจิด้วย ควรจะคุ้มครองในลักษณะคล้ายกัน ทั้งในเรื่องการบริจาค การใช้ ไข่หรือสเปิร์มของผู้บริจาค

ประเด็นที่ 2 การออกกฎหมายมาควบคุมคงเป็นเพียงแต่เป็นกรอบคุ้มครองสิทธิ์ คงตีกรอบว่ามาตรฐานเกี่ยวกับวิชาชีพ ซึ่งกฎหมายคงไม่ลงในรายละเอียด และอาจจะโอนให้แพทยสภาเป็นคนออกกฎระเบียบต่างๆ

กฎหมายน่าจะออก อย่างกว้างๆ ในขณะเดียวกันก็รับรองสิทธิหรือกำหนดหน้าที่ เช่น การสมรสไปขอให้คนอื่นตั้งครรภ์หรือมีกระบวนการตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วไม่รับผิดชอบอย่างนี้กฎหมายอาจจะบังคับว่าให้มีหน้าที่รับผิดชอบเด็กที่จะเกิดมานี้จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือพิการ พิการก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบส่วนอำนาจหน้าที่หรือการใช้อำนาจปกครอง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักกฎหมายแพ่งอยู่แล้วคือ หมายความว่ากฎหมายที่ออกคงไม่ใช่ไปควบคุมละเอียดยิบ