อุ้มบุญ (47) การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 2

เทคนิคที่จะมาใช้เพื่อการรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก โดยความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวกับเซลล์สืบพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านไข่หรือเชื้ออสุจิ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หลายรูปแบบ คือ

1. การฉีดเชื้อหรือการผสมเทียม เป็นการนำเอาเชื้ออสุจิของฝ่ายชายฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง แล้วปล่อยให้มีการปฏิสนธิตามธรรมชาติ

2. เทคนิคการทำกิ๊ฟ (Gamete Intrafallopian Transfer GIFT) เป็นการนำไข่ของฝ่ายหญิงที่เก็บมาจากร่างกาย แล้วนำเอาไข่กับเชื้ออสุจิมาใส่เข้าไปพร้อมกันทางหลอดมดลูกโดยผ่านทางหน้าท้องและปล่อยให้ผสมกันทางธรรมชาติ

3. เทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization&Embryo Transfer.IVF&ET) เป็นการเก็บไข่โดยใช้เข็มแทงผ่านช่องคลอดแล้วนำมาผสมกับเชื้ออสุจิในห้องทดลอง เมื่อผสมกันเรียบร้อยแล้วแบ่งตัวในระดับหนึ่งจึงย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปในมดลูก

4. เทคนิคการทำอิกซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection: ICSI) จะทำในกรณีที่ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิน้อยหรือไม่มีเลย ทำโดยการนำเชื้ออสุจิเพียงตัวเดียวมาฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง แล้วรอให้พัฒนาเป็นตัวอ่อนจึงจำใส่กลับเข้าไปในมดลูก

เทคนิคบางประการของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั้น หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและจรรยาแพทย์รวมไปถึงกฎหมายพอสมควร เช่น

– การใช้เชื้ออสุจิ หรือไข่ที่ได้จากการบริจาค

– การคุ้มครองตัวอ่อนนอกครรภ์ เช่น เมื่อมีการผสมภายในห้องทดลองแล้วนำฉีดกลับเข้าไปในมดลูกเพียงตัวอ่อนเดียว ตัวอ่อนที่เหลือสามารถนำมาใช้ในการวิจัยได้หรือไม่ ตัวอ่อนที่เหลือเป็นของใคร

– การตั้งครรภ์แทนหรือการอุ้มบุญ

– การคัดเลือกตัวอ่อนก่อนการฝังตัว ทั้งการตรวจหาโรคที่เกิดจากพันธุกรรม การเลือกเพศ

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ดังกล่าว ที่เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกายเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกตัวอ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม รวมทั้งสามารถเลือกเพศของตัวอ่อนได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นการใช้ประโยชน์จากตัวอ่อนที่เหลือจากการผสมเทียม ซึ่งของเขตทางจริยธรรมในเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน และยากต่อการควบคุมทางกฎหมาย อีกทั้งยังในประเทศไทยเองก็ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว โครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) ได้เล็งเห็นความสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ จึงได้ดำเนินการให้ รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส และ รศ.ดร.ดาราพร ถิระวัฒน์ ทำการรวมรวมและวิเคราะห์องค์ความรู้ในประเด็นและข้อเสนอแนะทางกฎหมายและจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิสนธิเทียม และการคัดเลือกทางพันธุกรรม จึงได้จัดการประชุมเพื่อเสนอเรื่องดังกล่าวต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ โดยได้แบ่งการนำเสนอข้อมูลและการพิจารณาเป็น 4 หัวข้อหลักดังนี้

1. เงือนไขการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิเทียม

2. การคุ้มครองตัวอ่อนนอกครรภ์

3. การตั้งครรภ์แทน

4. การคัดเลือกตัวอ่อน

ข้อสรุปจากที่ประชุม

ประเด็นที่ 1: เงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิเทียม

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเงื่อนไขและขอบเขต ในการใช้เทคโนโลยีปฏิสนธิเทียมหรือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ แนวทางการกำหนดเงื่อนไข และหน่วยงานรับผิดชอบ

ข้อสรุป

1. ควรมีขอบเขตในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อป้องกันการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด อย่างไรก็ตามมีความเห็นว่าควรจะมีทั้งข้อจำกัดและข้อยกเว้นในลักษณะที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ และสอดคล้องกับแนวทางของสังคม

2. เงื่อนไข/ข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยี ที่ประชุมเห็นว่า ควรพิจารณากำหนดไว้พิจารณาจากความเหมาะสมของสังคมและวัฒนธรรมของไทย แต่อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้วย เงื่อนไขที่ควรกำหนดไว้ เช่น

ก. ส่วนใหญ่เห็นว่าควรกำหนดเงื่อนไขการใช้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เฉพาะคู่สมรสแต่ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น การให้บริการควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กที่จะเกิดมาเป็นสำคัญ สำหรับเงื่อนไขที่ได้มีการพิจารณาในส่วนของการตั้งครรภ์แทน ควรกำหนดเป็นเงื่อนไขสำคัญไว้ด้วยว่า คู่สมรสไม่สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติ

ข. ในกระบวนการพิจารณาว่าผู้รับบริการควรได้รับบริการหรือไม่ อาจมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาในด้านความจำเป็นและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของคู่สมรส ซึ่งเป็นการให้ความเห็นนอกเหนือจากแพทย์ผู้ให้บริการ เพื่อเป็นการป้องกันแพทย์จากการถูกฟ้องร้องในเรื่องการปฏิเสธการรักษา และให้เกิดการมองอย่างรอบด้านมากขึ้น

ค. ในกรณีของการตั้งครรภ์แทน นอกจากคู่สมรสที่ขอรับบริการแล้ว ผู้รับตั้งครรภ์แทนก็ควรได้รับประเมินคุณสมบัติก่อนรับตั้งครรภ์ รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการตั้งครรภ์แทนเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ตั้งครรภ์แทนปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม หรืออาจก่ออันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้ แต่อย่างไรก็ดี การรับตั้งครรภ์แทนไม่ควรทำโดยมีเจตจำนงเพื่อการค้า

3. แม้ว่าที่จะประชุมจะเห็นว่า ขณะนี้แพทยสภาเป็นองค์กรสำคัญที่ดูแลในเรื่องดังกล่าว แต่เงื่อนไขและข้อกำหนดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ และเป็นมุมมองจากวิชาชีพเพียงด้านเดียวแพทยสภาพอาจทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางประสานงานไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรวิชาชีพ แต่อาจจัดตั้งเป็นคณะกรรมการกลางที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ทั้งสังคม จริยธรรม และกฎหมาย รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อกำหนดที่ครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวา และเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุก ๆ ฝ่าย นอกจากนี้ แพทยสภาพควรเผยแพร่หลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น