อุ้มบุญ (46) การประชุมรับฟังข้อคิดเห็นเรื่องกฎหมายกับการปฏิสนธิเทียมและการคัดเลือกทางพันธุกรรม ตอนที่ 1

การกดดันของสังคมผ่านทางสามีและวงศ์ญาติของทั้งสองฝ่าย

เมื่อเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์สมัยใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพันธุกรรมมนุษย์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พอถึงปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สตรีมีบุตรสมดังใจ แต่ยังสามารถช่วยคัดเลือกเพศที่ต้องการ คัดเลือกโรคทางพันธุกรรมบางชนิดทิ้งไป รวมทั้งยังสามารถช่วยให้สตรีที่ไม่มีสามีมีบุตรได้อีกด้วย

บางเทคนิคไม่เพียงเกี่ยวข้องกับบุคคลเพียงสองคนคือสามีและภรรยา แต่เกี่ยวข้องกับผู้บริจาคเชื้ออสุจิ ผู้บริจาคเซลล์ไข่ หรือสตรีอื่นที่ช่วยรับตั้งครรภ์แทน ในบางกรณีผู้บริจาคเซลล์ไข่และผู้รับจ้างตั้งครรภ์แทนเป็นคนละคนกัน ในบางกรณีก็เป็นคนเดียวกัน

เพียงไม่กี่ตัวอย่างที่เล่ามาสามารถสร้างความสับสนให้แก่การสืบสายตระกูลได้โดยไม่ยาก อีกทั้งยังมีคำถามทางจริยธรรมว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์หรือสภาพจิตใจของผู้เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงไร สำหรับกรณีการคัดเลือกเพศและการคัดเลือกทางพันธุกรรมก็สามารถสร้างคำถามทางจริยธรรมให้แก่สังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าอย่างไรจึงเป็นเพศที่พึงประสงค์ อย่างไรจึงเรียกว่าพันธุ์ด้อย อย่างไรจึงเรียกว่าพันธุ์ดี รวมทั้งตัวอ่อนมีสิทธิหรือไม่ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างคำถาม แท้ที่จริงแล้วยังมีคำถามที่ซับซ้อนอีกจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้

แต่ละประเทศมีหนทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นต่างกัน บ้างใช้กลไกทางสังคม บ้างใช้กลไกทางกฎหมาย การตัดสินใจแก้ไขปัญหาหนึ่งมักก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งติดตามมาเสมอ เช่น ในออสเตรเลีย มีกฎหมายให้เปิดเผยชื่อเจ้าของเชื้อบริจาคได้เมื่อเด็กที่เกิดมามีอายุครบ 18 ปี ส่งผลให้จำนวนผู้บริจาคเชื่อให้แก่คลินิกผู้มีบุตรยากลดจำนวนลงจนถึงระดับขาดแคลน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย มีอย่างน้อย 2 หน่วยงานที่กำลังร่างกฎหมายเพื่อกำหนดกติกาบางประการ หนึ่งคือ สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งกรรมาธิการชุดหนึ่งยกร่างกฎหมายที่เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ….. และอีกคณะหนึ่งคือสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กำลังร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ พ.ศ. ….

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยโครงการชีวจริยธรรมและการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่สนใจประเด็นเหล่านี้จึงได้จัดให้มีการทบทวนเอกสารและจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้รับทราบความเป็นมาและช่วยเหลือกันค้นหาหนทางที่จะสร้างกรอบกติกาให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และลดผลเสียลงให้น้อยที่สุด

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ผู้จัดการโครงการชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่