อุ้มบุญ (42) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 11

กระบวนการนี้ส่งผลกับระบบความคิดทางครอบครัวของสังคมโดยรวม ไม่ควรจำกัดวงมองแต่ผลอันเกิดแก่กลุ่มคนเล็กๆ

นอกจากนี้ ลักษณะการศึกษาวิจัยมีจำนวนตัวอย่างประชากรที่ไม่มาก และส่วนมาก ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกโดยองค์กร หรือ agency มาแล้ว มาเป็นผู้ให้ข้อมูล ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลที่แตกต่างไปอย่างมาก อาจทำให้มีความโน้มเอียงของข้อมูลที่ได้ไปในทางบวก หรือได้ลักษณะข้อมูลที่ไม่กว้างพอ ในขั้นต้นนี้ ผู้ทบทวนเอกสารคิดว่า การศึกษาด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก น่าจะได้ข้อมูลมากกว่า การสอบถามด้วยแบบสอบถามมาตรฐานที่แจกให้ตอบกลับมาเอง

ข้อด้อยอีกประการหนึ่งของการศึกษาส่วนใหญ่ที่ทบทวนมาคือ เป็นการศึกษาระยะสั้น หรือตัดขวาง ( cross sectional ) ใช้การระลึกความจำ ( recall ) ตอบ ทำให้ยังไม่อาจเห็นภาพสิ่งที่เกิดกับทุกฝ่ายในระยะยาวได้จริง

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้ อาจบอกเราได้ว่า หากมีการเตรียมตัว และควบคุมการทำ surrogacy ที่ดี ก็สามารถทำให้ผลของกระบวนการออกมาในทางที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพอใจได้อย่างน้อย ก็ในระยะสั้น ซึ่งอาจได้แก่มาตรการต่อไปนี้

• การนำกระบวนการนี้เข้าสู่ระบบที่เปิดเผย และมีการควบคุมทั้งคุณภาพการใช้เทคโนโลยี ( โดยองค์กรวิชาชีพแพทย์เอง )

• การเสนอความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้อย่างเป็นจริง ครบถ้วนทุกด้าน ผ่านสื่ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการนำเสนออิสระที่อาจเกินจริง บิดเบือน ชักจูงให้ผู้ขาดความรู้และเสียเปรียบทางสังคมเข้าสู่ระบบ

• ในแง่ของกฎหมายควรครอบคลุมในแง่ต่อไปนี้

• กำหนดลักษณะของ CC และ SM คร่าวๆ เช่น มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่างๆของ CC ไว้ เพื่อป้องกันการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการนี้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การกำหนดว่า CC ต้องเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นการจำกัดสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ หรือสตรีที่ยังไม่แต่งงาน

• ป้องกันการนำกฎหมายนี้ไปอ้างเหมือนกับยอมรับได้ว่า การมาเป็น SM เป็น “อาชีพที่ถูกกฎหมาย” อีกอาชีพหนึ่ง

• การสร้างความเท่าเทียมกันในการต้องการมีบุตรโดยไม่ขึ้นกับฐานะทางการเงิน เช่น อนุญาตให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษานี้ได้ในกรณีที่สมควรต้องเข้ากระบวนการ7

• การบังคับให้ทุกองค์กรที่จัดให้มีบริการนี้ มีการให้คำปรึกษาที่มีรูปแบบและบุคลากรที่มาตรฐาน เพื่อคัดกรอง ให้การดูแลอย่างสม่ำเสมอแม้แต่หลังจบกระบวนการไปแล้ว และพร้อมที่จะช่วยเหลือเด็กที่ต้องการรับรู้ข้อมูลในภายหลัง ตามสิทธิที่มีตามกฎหมาย

• การบันทึกข้อมูล การรักษาและเปิดเผยความลับ และการรายงานสถิติต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาติดตามในอนาคต

• ลักษณะสัญญาระหว่างคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร กับหญิงผู้รับตั้งครรภ์ ควรกล่าวถึง การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม สถานะความเป็นพ่อแม่ ว่า จะได้พบกับเด็ก มีส่วนเลี้ยงดู หรือการยอมให้มีการเปิดเผยการเกิดแก่เด็กแค่ไหน เมื่อใด โดยป้องกันมิให้อำนาจทางการเงินมาทำให้ SM เสียเปรียบด้อยสิทธิลง

• การขอรับเป็นบุตร46 จะใช้จดทะเบียนเหมือนรับบุตรบุญธรรม หรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายในต่างประเทศ การยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเด็กเกิดแล้วเท่านั้น อันอาจทำให้การนำบุตรไปดูแลโดย CC ล่าช้าออกไปจนอาจมีผลต่อพัฒนาการความสัมพันธ์กับเด็ก และจะปรากฏชื่อของ SM ในสูติบัตร ( ไม่ควรปล่อยช่องว่างให้มีการให้เปลี่ยนชื่อมารดาในสูติบัตรได้ โดยอาศัยการอิทธิพลเป็นรายๆไป ควรปฏิบัติให้เหมือนกันทุกราย )

สำหรับตามร่างพระราชบัญญติการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ของไทย 4 มาตรา 24 ที่ให้ CC เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายทันทีนั้น เป็นการลดขั้นตอนดังกล่าว ให้เด็กมีพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมายทันที แต่อาจคล้ายเป็นการบังคับตามสัญญาทางพาณิชย์ที่ผูกมัด แม้การซื้อจองบ้านหรือสินค้าที่ยังไม่มีการจัดทำหรือยังไม่เสร็จก็ยังต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์อีกครั้งเมื่อสินค้าแล้วเสร็จ การบัญญัติเช่นนี้จะทำให้ SM เสียสิทธิในการเปลี่ยนใจขอเป็นแม่หรือไม่ เพราะตามมาตราเดียวกันนี้ อนุญาตให้ผู้รับตั้งครรภ์ฟ้องร้องขออำนาจปกครองเด็กได้ต่อเมื่อเด็กไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมเท่านั้น มิได้ให้ความสำคัญต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ตั้งครรภ์และคลอดมา

• การปฏิเสธความเป็นพ่อแม่ทางกฎหมาย ( ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่าย ) เช่น หาก CC หย่าร้างหรือไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็กต่อด้วยเหตุผลต่างๆ แต่ก็อาจยากสำหรับฝ่ายสามีที่จะปฏิเสธเนื่องจาก surrogacy จะอาศัยสเปอร์มของเขาเสมอ

• สิทธิที่ผู้เป็น SM จะสามารถเปิดเผย หรือต้องการการเป็นผู้ให้ไข่ หรือ เป็นผู้ตั้งครรภ์ของตนทั้งต่อสาธารณชน หรือ ต่อเด็ก

• สิทธิที่เด็กจะได้รับรู้การเกิดของตน หรือการไปค้นหา SM เมื่อเติบโตขึ้น

ใน 2 ประเด็นหลังนี้ ตามร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ 4 มิได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า จะอนุญาตหรือไม่อย่างไร คงมีเพียงมาตรา 54 ที่ห้ามการเปิดเผยชื่อ ประวัติ หรือข้อมูลผู้บริจาคหรือผู้ฝากเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อน ซึ่งอาจก่อปัญหาต่อไปในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ตามมาตรา 24 ที่ให้เด็กได้รับน้ำนมจากหญิงผู้ตั้งครรภ์แทนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนนั้น คงคำนึงถึงความสำคัญของน้ำนมแม่ในแง่การแพทย์เป็นหลัก แต่มีความเป็นไปได้จริงเพียงใด เนื่องจาก SM อาจพอใจที่จะพบเด็กเป็นครั้งคราวเท่านั้นหลังจากคลอด เพื่อให้สภาพจิตใจ ครอบครัว และชีวิตของ SM โดยรวมกลับสู่ปกติเร็วที่สุด

สรุป

การรับตั้งครรภ์แทนหรือ surrogacy ยังถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ที่วิทยาศาสตร์การแพทย์มาสร้างคลื่นกระทบสังคมมนุษย์ในเกือบทุกด้านในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ผลของคลื่นนี้ต่อผู้เข้าสู่กระบวนการนี้โดยเฉพาะเด็กและครอบครัวในทางลึก และต่อแนวคิดของสังคมมนุษย์ในภาพกว้าง เป็นสิ่งที่ควรมีการติดตาม ดูแลอย่างใกล้ชิด การอาศัยกฎหมายหรือข้อบังคับอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างระเบียบของการใช้เทคโนโลยี แต่การสร้างและธำรงความหมายอันยิ่งใหญ่ของความเป็นครอบครัวยังคงเป็นสิ่งที่คนและสังคมต้องเป็นผู้ชี้นำกฎหมาย มากกว่า การให้กฎหมายซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพียงสร้างความชัดเจนและลดความขัดแย้ง แต่มิได้บัญญัติเพื่อความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมมาปกครองความคิดของเรา และควรระวังในการนำกฏหมายไปอ้างความถูกต้องให้เกิดอาชีพรับตั้งครรภ์ตามมากด้วย