อุ้มบุญ (41) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 10

ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้ทำความเข้าใจกับความต้องการในชีวิตของเขา ( ในที่นี้คือ ความไม่สามารถมีบุตรว่า ส่งผลอย่างไรกับเขาและคู่บ้าง และมีวิธีบรรเทาความรู้สึกเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง กับ ความต้องการมีบุตรของตนเองด้วยการมาขอใช้เทคโนโลยีว่า เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เขาเลือกและต้องการหรือไม่)ให้กระจ่างชัด แล้วค้นหาให้พบแนวทางเพื่อให้บรรลุความต้องการนั้น มิใช่ทำเพื่อการรักษาเปลี่ยนแปลงจิตใจของเขา

ผู้ให้คำปรึกษาควรช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้คำนึงถึงผลของการตัดสินใจของเขาที่อาจเกิดต่อคนอื่นๆรอบข้าง เช่นครอบครัว รวมทั้งเด็กที่จะเกิดจากเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย

  • ผู้ให้คำปรึกษาควรได้ประเมินสภาพทางจิตใจ และวิธีการต่อสู้ปัญหาที่ผู้รับคำปรึกษาเคยใช้อยู่เป็นประจำ ไว้ก่อน
  • เตรียมให้ผู้รับคำปรึกษาทราบล่วงหน้าว่า
  • กระบวนการช่วยการมีบุตรทั้งหมดอาจต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื่องจากความล้มเหลว ซึ่งอาจก่อความรู้สึกผิดหวังเสียใจหลายครั้ง ( โอกาสที่การใช้เทคโนโลยีแต่ละครั้งจะสำเร็จจนสามารถตั้งครรภ์ และคลอดเด็กมีชีวิตออกมาได้ มีต่ำกว่าร้อยละ 25 ) ผู้ให้คำปรึกษาควรมีความไวต่อการรับรู้อารมณ์เหล่านี้จากผู้รับคำปรึกษาตลอดเวลา
  • เด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีการช่วยตั้งครรภ์ทุกวิธีรวมกัน จะมีโอกาสมีความผิดปกติแต่กำเนิดมากกว่าเด็กที่เกิดโดยธรรมชาติ ตั้งแต่ 1.29 เท่า ( Rimm 2004 42) ถึง 2 เท่า ( Hansen 2002 ) 43

ในกรณีของ surrogacy ควรได้มีการอภิปรายประเด็นในการให้คำปรึกษาต่อกับทั้ง CC และ SMดังต่อไปนี้

• ประเมินเหตุจูงใจของ CC ในการเลือกทำ surrogacy ว่ามีเหตุผลทางการแพทย์ หรือสังคมที่เพียงพอ (มิใช่เพียง ไม่มีเวลาว่างจะตั้งครรภ์ หรือกลัวการตั้งครรภ์มีผลกับรูปร่างหรือความสวยงาม)

• ช่วยให้ CC เข้าใจบทบาทของบุคคลที่สามที่จะเข้ามามีส่วนในกระบวนการ

• เน้นให้ทราบว่า สามี หรือภรรยาอาจคิดเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน

• ประเมินสภาพจิตใจของ SM เหตุผลของการมาเป็น SM

• ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจะปกปิดหรือเปิดเผยข้อมูลของบุคคลที่สามกับเด็กที่เกิดมาในอนาคต อภิปรายความยุ่งยากในการจะนิยามความเป็นพ่อแม่กับเด็กทั้งในแง่ชีววิทยา ทางกฎหมาย ทางสังคม หรือทางจิตใจกับทุกฝ่าย และควรบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วย เนื่องจากอาจเกิดข้อโต้เถียงกันภายหลัง

• อภิปรายประเด็นทางกฎหมาย ความเสี่ยงทางการแพทย์ แง่คิดทางศาสนา วัฒนธรรมที่มีกับการทำ surrogacy รวมทั้งที่จะเกิดกับเด็กต่อไปในอนาคต และเตือนผู้รับคำปรึกษาว่า อาจได้รับผลกระทบจากประเด็นเหล่านี้อย่างไร

• ชี้แจงบทบาทหน้าที่ของ SM หรือ donor อื่นต่อครอบครัวผู้รับบริจาคว่าควรมีขอบเขตเพียงใด

• อภิปรายกับ SM ว่า การเข้ามาทำหน้าที่นี้อาจส่งผลกับครอบครัวของเธอเองในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร

• ช่วยให้ SM ได้คิดยืนยันกับตัวเองอีกครั้งให้แน่ใจว่า การมาเป็น SM มิได้เกิดจากการถูกบังคับขู่เข็ญ หรือเพราะอำนาจทางการเงิน

สำหรับแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

American College of Obstetricians and Gynecologists 2004 ได้ให้แนวทางเรื่องต่างๆสำหรับแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับ surrogacy และการให้คำแนะนำแก่ผู้มารับบริการดังต่อไปนี้

• ข้อบ่งชี้ในทางการแพทย์ควรมาก่อนความสะดวกสบายของ CC และสุขภาพของ SM สำคัญกว่าสิ่งที่ SM ต้องการจากการได้เป็น SM เสมอ ดังนั้นควรมีการคัดกรองทั้งในแง่ความเสี่ยงทางสุขภาพกายและจิตใจอย่างเหมาะสมกับทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนเข้าสู่กระบวนการทุกครั้ง

( ตัวอย่างเช่นในอังกฤษ ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการทำ surrogacy ที่ Bourn Hall Clinic 10คือ เมื่อต้องตัดมดลูกจากการเป็นมะเร็ง หรือตกเลือดด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่มีมดลูกแต่กำเนิด มีการแท้งบ่อยครั้ง ล้มเหลวจากการทำ IVF วิธีอื่นๆ หรือมีโรคทางกายใดๆที่ไม่ควรตั้งครรภ์ )

• เมื่อ SM ตั้งครรภ์แล้ว ปัญหาสุขภาพของ SM ที่อาจเกิดขึ้น ก็สำคัญกว่าการจะต้องคลอดบุตรที่แข็งแรงให้ CC ให้ได้เสมอ

• หากเห็นว่า เด็กที่เกิดมาอาจไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี อาจมีอันตราย ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ก็ควรปฏิเสธ

• หากขัดแย้งกับจริยธรรม หรือความเห็นส่วนตัวของแพทย์เอง ก็ควรปฏิเสธหรือส่งให้แพทย์ผู้อื่นดูแลแทน

• ในกรณีที่ SM ถูกจัดหามาโดยตัวแทน agency ต่างๆ ควรเลือกผู้ที่มาจากตัวแทนที่ไม่หวังผลกำไร

• สำหรับเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนกับ SM ควรมีข้อตกลงระหว่างทั้ง SM กับ CC ที่เป็นลายลักษณ์อักษร และตอบแทนกับการที่ SM สละเวลา ให้ความพยายามที่ดูแล ตั้งครรภ์ โดยเสี่ยงกับสุขภาพ ชีวิตส่วนตัว หรือสูญเสียรายได้ที่ควรได้ไป แต่มิใช่กำหนดว่า จะจ่ายค่าตอบแทนเมื่อสามารถคลอดเด็กที่สุขภาพดีให้ CC ได้ ซึ่งจะเท่ากับยอมรับให้มีการซื้อขายเด็กเกิดขึ้น45แพทย์เอง ไม่ควรรับเป็นผู้จัดหา SM มาให้ CC และไม่รับค่าตอบแทนมากไปกว่าการปฏิบัติรักษาทางการแพทย์ที่ได้ทำทั้งจาก SM และ CC

• ไม่ควรแนะนำชักจูงให้หญิงใดหรือผู้ป่วยคนใดมาเป็น SM โดยยกค่าตอบแทนมาจูงใจ

• เก็บรักษาความลับ และจะเปิดเผยต่อเมื่อได้รับอนุญาต

• แพทย์และสถานพยาบาลนั้นควรจัดให้มีระบบในการเก็บข้อมูลเหล่านี้ในระยะยาว พร้อมที่อำนวยความสะดวกเด็กที่เกิดมาและภายหลัง ในอีกสิบยี่สิบปีถัดมาจะเข้ามาค้นหาข้อมูลของการเกิดของเขาได้ตามสิทธิได้

หน้าที่ขององค์กรที่จัดให้มี surrogacy

van den Akker 199927 ได้ทำการศึกษาและแนะนำไว้ตามประสบการณ์ในประเทศอังกฤษว่า

• จะมีผู้มาติดต่อขอรับบริการซึ่งอาจไม่ใช่คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรตามธรรมชาติเท่านั้น แต่อาจเป็นทั้งชายหญิงรักร่วมเพศ หญิงที่ไม่มีคู่แต่อยากมีบุตร องค์กรควรกำหนดนโยบายว่า จะปล่อยให้เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล หรือเป็นเรื่องจริยธรรม

• จากงานวิจัยของเขา ทั้ง CC และ SM มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการการใช้เทคโนโลยีช่วยมีบุตรและ surrogacy น้อยมาก ดังเช่นที่ Jadva 2003 รายงานไว้ว่า ผู้ที่มาสมัครเป็นSM ถึงร้อยละ 68 รู้จัก surrogacy จากข่าวของสื่อ เนื่องจาก ภาพลักษณ์ของกระบวนการนี้ที่ออกไปทางสื่อมวลชนและทั้งสองฝ่ายรับรู้มา มักทำให้มี “ความคาดหวังเกินจริง” กับกระบวนการนี้อยู่เสมอ อันอาจเป็นเหตุทำให้ความผิดหวัง และมี drop out ตามมาสูง ดังนั้น ควรจัดให้มีการให้ความรู้กับทุกฝ่ายก่อนทุกครั้ง

• ควรมีเกณฑ์การคัดเลือกทั้ง CC และ SM อย่างชัดเจน เป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สภาพเศรษฐานะและสังคมให้ครบถ้วน ไม่ใช่ดูเพียงอายุ และสุขภาพร่างกาย ดังที่ปฏิบัติกันทั่วไป ส่วนการที่จะจัดให้มีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับทุกองค์กร เพื่อป้องกันการที่ทั้งสองฝ่ายจะวนเวียนไปหาองค์กรที่รับตนเข้ากระบวนการจนได้นั้น หรือไม่ ยังเป็นข้อถกเถียง

• ควรหาผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการอบรมและมีความชำนาญ ประจำองค์กร อาจมีจิตแพทย์ที่ปรึกษาไว้ในกรณีต้องส่งต่อรักษา

• ประเด็นที่ควรได้กล่าวถึงในการให้คำปรึกษา ได้แก่ การแนะนำทางเลือกอื่นนอกจากการทำ surrogacy ความสำคัญของการมีพันธุกรรมร่วมกับเด็กว่ามีเพียงใด ความยุ่งยากทางกฎหมาย จิตใจและสังคมเมื่อเข้าสู่กระบวนการ ความสัมพันธ์ระหว่าง CC กับ SM ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการคลอด รวมทั้งประเด็นการเปิดเผยข้อมูลกับเด็กในอนาคต และสุดท้ายอาจขอพบครอบครัวของทั้ง SM และ CC เพื่อประเมินว่ายินดีกับการเข้า surrogacy เพียงใด

การตกลงใดๆระหว่างผู้ร่วมกระบวนการทั้งหมดควรบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะยังไม่มีกฎหมายบังคับ ( ซึ่งกฎหมายควรเป็นกลางกับทั้ง CC และ SM ) การปฏิบัติ surrogacy หากทำในวงกว้างต่อไป ไม่อาจเชื่อถือกับคำสัญญา ความไว้เนื้อเชื่อใจส่วนตัว ได้อีกต่อไป