อุ้มบุญ (40) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 9

1. การเป็นคู่ของกลุ่มรักร่วมเพศมักมีการหย่าร้าง การศึกษาเข้าใจเด็กที่เป็นบุตรของคู่เหล่านี้ในด้านสังคมและอารมณ์จึงต้องคำนึงถึงบริบทของการหย่าร้างไว้ด้วย

อย่างไรก็ดี การศึกษาที่นำครอบครัวของกลุ่มรักร่วมเพศ มาศึกษาเปรียบเทียบกับ ครอบครัวที่มีแม่คนเดียวเลี้ยงลูก ( single parent family ) ก็ยังไม่อาจเป็นการจับคู่เปรียบเทียบที่ดีนัก เนื่องจาก ผลเสียที่พบได้เสมอจากการวิจัยครอบครัวที่มีแม่คนเดียวเป็นหัวหน้านั้น พบว่า มาจากการที่แม่ต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลา และเป็นผลเสียระยะยาวของความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยาตั้งแต่ก่อนหย่าร้าง มีน้ำหนักมากที่สุด ซึ่งไม่เหมือนกับในกรณีของการเป็นพ่อแม่ของคนรักร่วมเพศที่ไม่อยู่กับคู่แล้ว

2. งานวิจัยที่เฉพาะเจาะจงของชายรักร่วมเพศในเรื่องนี้มีน้อยกว่าการศึกษาในกลุ่มลูกของหญิงรักร่วมเพศ จึงขอเสนอผลของการศึกษาในกลุ่มหลังเป็นแนวคิดแทน

จากทั้งคำแถลงของ American Psychiatric Association 2004 American Academy of Pediatrics 200237 ซึ่งประมวลจากงานวิจัยต่างๆและความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่พบว่า ลูกของกลุ่มพ่อแม่รักร่วมเพศจะประสบปัญหาทางจิตใจ ปรับตัวไม่ได้ทางสังคม (เพื่อน ครู สมาชิกอื่นในครอบครัว และเพื่อนของพ่อแม่) ที่ต่างไปจากลูกของกลุ่มพ่อแม่ทั่วไปแต่อย่างใด และไม่พบว่า มีอัตราการที่ลูกถูกทารุณทางเพศต่างจากประชากรทั่วไป ทั้งสองสถาบันจึงไม่แสดงการต่อต้านการที่กลุ่มรักร่วมเพศที่จะต้องการเป็นพ่อแม่ของเด็กไม่ว่าด้วยวิธีใด

อย่างไรก็ดี Huggins 1989 38พบว่า ลูกของหญิงรักร่วมเพศที่มีคู่อยู่ด้วย จะมี self-esteem สูงกว่าเด็กที่มีแต่หญิงรักร่วมเพศเลี้ยงดู ซึ่งอาจอธิบายได้จากผลการศึกษาอื่นๆที่พบว่า ความสุขของเด็กมักแปรตามความสุขของพ่อแม่ หญิงรักร่วมเพศที่มีคู่มักมีสภาพทางจิตดีกว่าผู้ที่ไม่มีคู่ ทั้งยังสามารถเปิดเผยความรักต่อเพศเดียวกันให้ลูก หรือคนรอบข้างได้รับทราบ Paul 1986 รายงานว่า เด็กที่ทราบตั้งแต่เล็กว่า พ่อหรือแม่ของตนเป็นรักร่วมเพศจะปรับตัวได้ง่ายกว่ามาทราบตอนเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว แต่เด็กกลุ่มนี้ จะเลือกที่จะเล่าเรื่องของพ่อแม่เรื่องนี้ให้กับคนที่สนิทมากๆทราบเท่านั้น

ผู้ขอรับการทำ surrogacy ในกรณีพิเศษอื่นๆ

เมื่อมีเทคโนโลยีดังกล่าวเกิดขึ้น นอกจากกลุ่มรักร่วมเพศที่สนใจและปรารถนามีบุตรของตนเองแล้ว ยังมีกลุ่มผู้ที่มาขอรับบริการในกรณีพิเศษต่างๆอีกหลายกลุ่ม ซึ่งเรียกร้องสิทธิทั้งทางกฎหมายและความเข้าใจจากสังคมมาขอเข้ารับบริการด้วย อันได้แก่ ผู้หญิงที่เป็นโสด คู่สามีภรรยาที่มีโรคติดต่อไม่อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีการเก็บไข่ของภรรยาหรือสเปอร์มของสามีหรือตัวอ่อนของตนไว้ แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว แต่มีความต้องการมีบุตรโดยใช้สิ่งที่เก็บไว้อีก เหล่านี้ เป็นต้น อันอาจทำให้เกิดปัญหาในแง่จริยธรรม กฎหมายและสังคมตามมา อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถค้นหาเอกสารที่กล่าวถึงกรณีพิเศษดังกล่าวในแง่เหตุและผลด้านจิตใจโดยเฉพาะได้ คงมีแต่การอภิปรายในกรณีทางกฎหมาย สังคมวิทยา เป็นส่วนใหญ่ จึงขอละไม่กล่าวถึงในการทบทวนเอกสารครั้งนี้

การแจ้งเด็กเกี่ยวกับการเกิดของเขา

แม้ว่า จะยังไม่มีงานวิจัยโดยตรงเกี่ยวกับการแจ้งเด็กที่เกิดจาก surrogacy ว่าสมควรบอกหรือไม่ แค่ไหน เมื่อไร หรืออย่างไร แต่จากที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า CC เกือบทั้งหมดมีความคิดว่า จะบอกเด็กเกี่ยวกับการเกิดของเขา ( แม้ว่าจะไม่ทราบว่า ในทางปฏิบัติเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ) และในแนวคิดทั่วไป ซึ่งมีการอนุมานจากประสบการณ์นับร้อยปีที่ได้จากการดูแลเด็กที่ถูกรับเป็นบุตรบุญธรรม ร่วมกับแนวคิดของนักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องครอบครัวบำบัด ที่พบว่า การมีความลับระหว่างกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นสิ่งบ่อนทำลายครอบครัว ทั้งหมดที่กล่าวมา ล้วนสนับสนุนให้มีการบอกเด็กเกี่ยวกับการเกิดของเขาทั้งสิ้น39

ในที่นี้ จะอาศัยข้อแนะนำบางประการของ Ethics Committee of the American Society for Reproductive Medicine ( ASRM ) 40ในเรื่องการบอกเด็กเกี่ยวการเกิดของเขาในกรณีของการรับบริจาคไข่หรือสเปอร์ม มาแสดง

• ASRM รับว่ามีการเปลี่ยนความเห็นจากเดิมในปี 1993 ที่แนะนำให้เก็บความลับของผู้บริจาคให้เป็นนิรนามกับเด็ก มาเป็นยอมรับให้มีการเปิดเผยหากทุกฝ่ายยินยอม โดยเฉพาะในการรับบริจาคไข่ ( คล้ายในกรณีของ traditional surrogacy ) ในคำแนะนำเมื่อปี 2002 เนื่องจากเหตุหนึ่ง จากที่การศึกษาพบว่า พ่อแม่มักจะเต็มใจจะเล่าให้เด็กทราบเกี่ยวกับการได้รับบริจาคไข่มากกว่าที่ไปรับบริจาคสเปอร์มมา

แนวโน้มในการให้สิทธิทางกฎหมายแก่เด็กที่จะได้รับรู้ข้อมูลพ่อแม่ทางชีววิทยาของตนเองได้ เมื่อต้องการ เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งในยุโรป และออสเตรเลีย ส่วนในอังกฤษเองกำลังจะเปลี่ยนกฎหมายที่จะให้อำนาจเด็กที่อายุครบ 18 เข้ารับรู้ข้อมูลนี้ได้ในเดือนเมษายน 2005 นี้

• ASRM กล่าวว่า ข้อดีของการบอกให้เด็กทราบ ก็เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนา identity ได้อย่างสมบูรณ์ มีความพอใจในตนเอง ไม่ก่อให้เกิดความลับในครอบครัว และไม่พบรายงานของผลเสียต่อเด็กเมื่อมีการบอก ในทางตรงข้าม หากเด็กมาทราบโดยบังเอิญเมื่อโตเป็นวัยรุ่น จากผู้อื่น จะยิ่งทำให้เด็กเกิดปัญหาทางจิตใจ

• ASRM กล่าวถึงข้อค้านในการบอกเด็กไว้ว่า ไม่มีการศึกษาใดที่บอกว่า เด็กที่ไม่ทราบอะไรเลยตลอดชีวิตของเขา จะมีปัญหาทางจิตสังคมแต่อย่างใด พ่อแม่เองก็อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัวไปเรื่อยๆ ไม่อยากเปิดเผยกับใคร บางรายก็เกรงว่า เด็กจะรักตนน้อยลง พ่อแม่บางรายก็แย้งว่า เด็กที่เกิดมาก็มีพันธุกรรมของตนอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง หรือทั้งหมด เพียงแต่ไปฝาก SM ให้ตั้งครรภ์และคลอดเท่านั้น ถือได้ว่า ตนเป็นพ่อแม่อย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่เหมือนกับกรณีของการรับบุตรบุญธรรม จะไปบอกให้เด็กสับสนอีกทำไม เป็นต้น

• ขั้นตอนในการเตรียมและบอกกับเด็ก

• ตั้งแต่ขั้นตอนการให้คำปรึกษาก่อนเข้ากระบวนการ ควรได้มีข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระหว่าง SM กับ CC ว่า จะเปิดเผยข้อมูลการเกิดของเด็กให้ทราบได้แค่ไหน เพียงใด โดยได้มีการพูดคุยกันถึงข้อดีข้อเสียของการที่จะบอกหรือปกปิดให้เป็นความลับกันก่อน

วิธีการบอกเด็ก ไม่ว่า เมื่อไร แค่ไหน นั้น อาจอาศัยคำแนะนำต่อพ่อแม่ที่รับบุตรบุญธรรมมาเป็นแนวทาง ซึ่งมักจะแนะนำให้บอกให้เด็กทราบเร็วที่สุดเท่าที่พ่อแม่คิดว่า ลูกจะเริ่มเข้าใจได้ เริ่มด้วยการเล่าเปรียบเทียบกับนิทานต่างๆ การเน้นที่ความรัก ความต้องการที่จะมีเขาเป็นลูก และเมื่อเด็กโตขึ้น หากเด็กต้องการถามสิ่งใดเพิ่มเติม ก็ค่อยๆตอบเด็กด้วยท่าทีที่เข้าใจ ไม่แสดงความโกรธ จากความรู้สึกเปรียบเทียบ หรือน้อยเนื้อต่ำใจว่า ไม่เห็นกับตนที่ดูแลมา กลับยังคิดถึงคนอื่นอีก เป็นต้น อาจหาอ่านเรื่องเหล่านี้ได้จากwebsite ที่ทาง ASRM ได้แนะนำไว้