อุ้มบุญ (38) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 7

ในทรรศนะของนักสังคมวิทยาบางคน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีบางคน การเกิดมี surrogacy ขึ้นได้ในสังคม จึงเป็นการทำให้มนุษย์รู้ว่า เรื่อง“สัญชาตญาณความเป็นแม่” นั้นไม่มีอยู่จริง เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถตั้งครรภ์และคลอดโดยยกบุตรให้คนอื่นได้ ( คล้ายกับการยกบุตรบุญธรรมแล้ว ) หญิงยังสามารถรับเงินค่าจ้างตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ด้วย ซึ่งแนวคิดเรื่องนี้ อาจลามไปถึงการโต้แย้งเรื่อง การทำแท้งอีกด้วย

Baslington 2002 18ซึ่งได้ศึกษาโดยการสัมภาษณ์ SM ที่มาจาก self help group ในอังกฤษ เชื่อว่า ลักษณะทางประเพณีสังคมย่อย ( subculture ) ที่ SM ใช้ชีวิตอยู่มีอิทธิพลกับ SM อยู่มาก โดยเฉพาะการที่ SM ได้เข้ากลุ่มที่ SM มารวมกันโดยมีผู้นำที่อาจมาจากองค์กรที่รับจัดให้มีการตั้งครรภ์แทน ( agency ) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจมีแนวโน้มในการรักษาผลประโยชน์ขององค์กรคือ พยายามทำให้ SM มีความตั้งใจในการดูแลครรภ์ให้สมบูรณ์อย่างดีที่สุด และเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจในการที่จะต้องยกบุตรให้ CC หลังการคลอดน้อยที่สุด เช่น ช่วยให้ SM บางคนมองว่า นี่คือการทำงาน เด็กที่อยู่ในครรภ์ไม่ใช่ลูกของตน ไม่ควรรู้สึกผูกพันกันตั้งแต่ต้น ไม่ควรคิดว่า เด็กครึ่งหนึ่งเกิดมาจากไข่ของตน ให้คิดเสียว่า ได้ยกไข่ให้คนอื่นไปแล้ว ( ไม่ว่าจะใช้ไข่ของ SM หรือจาก CC ก็ตาม ) ตอนนี้ก็เพียงแค่ถือครรภ์ต่อไปให้สามีของ CC เท่านั้น

การเน้นย้ำว่า วัตถุประสงค์ของการสมัครมาเป็น SM ตั้งแต่ต้น ก็คือ การมาช่วย “เพื่อนมนุษย์ที่ทุกข์ร้อน” จะเป็นเหมือนการเพิ่มความรู้สึกยิ่งใหญ่มีพลัง (empower) ในการได้เข้ามาเป็น SM ของหญิงเหล่านั้นได้อย่างมาก และจะต้องการทำภารกิจของตนให้ดีสมบูรณ์ SM 7 ใน 14 ราย บอกว่า สิ่งที่ดีที่สุดของการได้เป็น SM ก็คือ จังหวะเวลาที่ได้เห็นหน้าของ CC ที่ดีใจมีความสุขมากตอนที่ CC กำลังมารับอุ้มเด็กไป นั่นเอง

นอกจากนี้ บทบาทของกลุ่ม self-help ในอังกฤษ ก็คือ การพยายามให้ SM ให้ยึดถือคำมั่นสัญญาทางวาจาที่ให้ไว้กับ CC ว่าจะยกเด็กให้กับ CC หลังคลอดอย่างแน่วแน่ เนื่องจาก การทำ surrogacy ในอังกฤษ ยังไม่มีกฎหมายรับรอง ไม่อาจมีสัญญาเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายได้

หลายการศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่มีผลต่อ “ความสบายใจ” ของ SM เมื่อจะต้องมอบเด็กให้ CC หลังคลอดก็คือ การได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับ CC ตลอดมาทั้งก่อน ระหว่างและหลังการตั้งครรภ์ Ragone 1994 18ศึกษา SM จากตัวแทนการจัด surrogacy 6 แห่งพบว่า การทำแบบ”ปิด (closed)” คือไม่ให้ SM กับ CC ได้พบกันเลย ซึ่งถือว่า เป็นการรับจ้างโดยแท้ นั้น SM เองคาดว่า ตนคงรู้สึกโศกเศร้าเมื่อต้องมอบเด็กให้กับ CC เมื่อถึงเวลาคลอดมากกว่า SM ในระบบ”เปิด (open)” ที่ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสรู้จักกัน

( จาก The Human Fertilisation and Embryology Act 1990 ของอังกฤษ 10นิยามว่า แม่ตามกฎหมายคือหญิงที่ตั้งครรภ์ SM ยังทรงสิทธิในการเก็บเด็กไว้เป็นลูก หรือหาก CC ไม่ต้องการรับเด็กไปเป็นลูก SM ก็ต้องรับเลี้ยงต่อ และเมื่อ CC จะรับเด็กไปเลี้ยงก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรับบุตรบุญธรรม คือ CC ต้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย อายุไม่ต่ำกว่า 18 และฝ่ายสามีหรือ/และต้องมีพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับเด็ก โดยที่พ่อแม่ตามกฎหมายยินยอมก่อน และไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนอื่นๆอีก และต้องยื่นคำร้องก่อนเด็กอายุครบ 6 เดือน )

ผลกับเด็กที่เกิดจาก surrogacy

ประเด็นที่ควรศึกษาติดตามคือ

  •  การเจริญเติบโตในทุกด้านของเด็กที่เกิดจาก surrogacy
  •  ลักษณะการเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับ CC โดยเฉพาะที่ว่า เด็กควรได้รับทราบวิธีการที่เขาเกิดมาหรือไม่
  •  ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับ SM

การเจริญเติบโตในทุกด้านของเด็กที่เกิดจาก surrogacy

ในไทย ไม่พบการศึกษากับเด็กที่เกิดจาก surrogacy โดยตรง พบแต่การศึกษาของ ไสววรรณ ไผ่ประเสริฐ 29ที่รายงานว่า เด็กที่เกิดจากเทคนิค ICSI จำนวน 24 ราย มีการเจริญเติบโตทางร่างกายและพัฒนาการทางกล้ามเนื้อปกติ เมื่ออายุ 2 ปี

Sarafini 2001 30รายงานว่า เด็กเหล่านี้ไม่มีความผิดปกติของพัฒนาการระบบวิธีคิด ( cognitive development ) ในเด็กที่คลอดเดี่ยว จากการทำ IVF surrogacy นอกจากนี้เมื่อประเมินลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก ( temperament ) ในด้านความแปรปรวนทางอารมณ์ ( fussiness of mood ) การปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ๆ ( adaptability to new situation ) ระดับการเคลื่อนไหวทั่วไป ( general activity level ) ระดับความสม่ำเสมอในการตอบสนอง( predictability of reaction ) พบว่า เด็กไม่ว่าจะเกิดจาก surrogacy, egg donation หรือเกิดตามธรรมชาติ ไม่มีความแตกต่างกัน ( Golombok 2005)32

ลักษณะการเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับ CC

ในปัจจุบัน ยังไม่พบการตีพิมพ์งานวิจัยที่ติดตามเด็กและครอบครัวที่เข้ากระบวนการ surrogacy ในระยะยาวจนเด็กเข้าวัยรุ่น พบแต่งานวิจัยจากยุโรปของ Golombok et al 2002 31ซึ่งติดตามครอบครัวบุตรบุญธรรม IVF และ Donor Insemination ( DI ) และครอบครัวทั่วไป อย่างละประมาณ 100 ครอบครัว จากกลุ่มศึกษาเดิมที่เขาเคยวิจัยตีพิมพ์ไว้เมื่อปี 1996 จนเด็กเข้าวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งอาจอนุมานมาแทนการศึกษาครอบครัว surrogacy ไว้ก่อน ซึ่งเขาพบว่า ไม่มีความแตกต่างของลักษณะครอบครัวในแต่ละกลุ่มที่กล่าวมาเลย ส่วนที่แตกต่างก็มักเป็นข้อดีของครอบครัวที่มีลูกโดยเทคโนโลยีการช่วยมีบุตร ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับลูกมากกว่าครอบครัวทั่วไป เด็กเหล่านี้ไม่มีปัญหาในทางจิตใจ แต่อย่างไรก็ตาม มีเด็กเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้นที่ได้รับการบอกเล่าถึงวิธีการเกิดของตน

นอกจากนี้ Golombok 2005 32ได้ศึกษาครอบครัวของเด็กเหล่านี้เมื่อเด็กอายุครบ 2 ขวบทั้งในแง่การทำหน้าที่ผู้ปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็ก และพัฒนาการทางจิตใจของเด็กเอง พบว่าไม่มีความแตกต่างจากครอบครัวที่เด็กเกิดจากการบริจาคไข่ หรือครอบครัวปกติเลย แต่แม่ของเด็ก surrogacy กลับจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กมากกว่าเสียอีก