อุ้มบุญ (37) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 6

น้ำหนักของความสัมพันธ์ระหว่าง SM กับ CC นั้นมักอยู่ที่ฝ่ายภรรยาของ CC กับ SM เป็นส่วนใหญ่ โดยทั้งคู่จะเหมือนเป็นหญิงสองคนที่ได้เข้าใจและแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้สึกต่อกัน

Blyth 1994 22 ตั้งข้อสังเกตว่า CC ทั้ง 20 รายในการศึกษาของเขา ตกลงกับ SM ไว้ว่า ฝ่ายภรรยาของ CC จะอยู่กับ SM ในระหว่างที่คลอดเด็ก

Jadva 2003 20รายงานว่า จาก SM ตัวอย่าง 34 ราย ร้อยละ 97 ถึง 100 บอกว่าความสัมพันธ์กับทั้งสามีและภรรยาของ CC ถือว่า เข้ากันได้ดี เว้นแต่ในช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนคลอดที่มี SM 2 รายที่บอกว่า ความสัมพันธ์กับฝ่ายสามีเย็นชา ไม่น่าพอใจ ส่วนใหญ่คือร้อยละ 65 ถึง 71 ได้พบปะกับทั้งคู่ของ CC อย่างน้อยเดือนละครั้งทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด มีเพียง 3 รายที่ไม่ได้พบกันอีกเลยหลังคลอด

ร้อยละ 83 บอกว่า ฝ่ายภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก ส่วนฝ่ายสามีนั้นเข้ามีส่วนร่วมปานกลาง(ร้อยละ 47 )พอๆกับมีส่วนร่วมอย่างมากคือร้อยละ 44 และร้อยละ 94 มีความสุขที่ทั้งคู่เข้ามามีส่วนร่วมในระดับนี้ ไม่มีใครตอบว่า มามีส่วนร่วมมากเกินไป มีร้อยละ 6 คือ 2 รายที่ว่า CC มีส่วนร่วมไม่เพียงพอ

ความไม่พอใจของฝ่าย SM ก็มักมาจากความรู้สึกว่า CC ไม่มาดูแลให้ความรู้จักหรือสนิทสนมด้วยเท่าที่คาดหวังไว้ จากที่เคยกล่าวถึง Baslington 2002 ซึ่งได้สำรวจ SM 14 รายว่า เรื่องใดแย่ที่สุดในการเป็น SM นั้น เขารายงานว่า จำนวนสูงสุดคือ 4 รายบอกว่า ปัญหากับ CC เป็นเรื่องที่แย่ที่สุด มี SM 1 รายที่บอกว่า เสียใจที่มาเป็น SM เนื่องจากฝ่ายสามีของ CC เหมือนไม่เคารพและดูแคลนตน และอีก 1 รายที่พบว่า ฝ่ายภรรยาของ CC จงใจแต่งตัวให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้ตั้งครรภ์เสียเอง

ช่วงที่ 2

Hohman & Hagan 2001 1พบว่า การที่ CC ไปอยู่ที่โรงพยาบาลทันที หรือในระหว่างคลอด และยอมให้ SM ได้มีโอกาสพบหรืออุ้มเด็กที่คลอดบ้างจะทำให้ SM รู้สึกพอใจในการเป็น SM มากขึ้น และในรายงานเดียวกันนี้ได้เสนอว่า มี CC กับ SM บางคู่ที่ยังพบปะกันหลังการคลอดไปแล้วกว่า 10 ปี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักมีการจำกัดการติดต่อโดยมักมีแค่โทรศัพท์พูดคุย หรือส่งรูปลูกที่โตขึ้นไปให้ดู Ciccarelli 1997 พบว่า ความรู้สึกพอใจต่อการเป็น SM จะลดลงแปรตามความสัมพันธ์ที่ห่างเหินออกและรู้สึกว่าถูก CC ทอดทิ้ง

Jadva 2003 20รายงานว่า หลังคลอด SM ร้อยละ 32 ยังได้พบทั้งฝ่ายภรรยาและเด็ก ได้พบฝ่ายสามีต่ำกว่าเล็กน้อยคือ ร้อยละ 26 ประมาณเดือนละครั้ง มีร้อยละ 21 ที่ไม่ได้พบกับทั้ง CC และเด็กอีกเลย ส่วนในรายที่ได้พบเด็กห่างๆคือ ประมาณ 1 เดือนต่อครั้ง จนถึง 1 ปีต่อครั้งนั้น มีร้อยละ 44 แต่กลับได้พบฝ่ายสามีบ่อยกว่าคือร้อยละ 53

การส่งมอบเด็ก (Relinquishing)

การทำ surrogacy นับเป็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งที่ค้านความรู้สึกและความเชื่อของมนุษย์ในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างมากว่า เหตุใด SM จึงเหมือนกับ “ทิ้งลูกของตนได้ลง ทั้งที่ตั้งท้องมาเอง” หรือ “เหตุใด จึงไม่มีสัญชาตญาณความเป็นแม่” อยู่ 28ซึ่งเป็นการสะท้อนความเชื่อของสังคมอย่างมากว่า ความรักของแม่ต่อลูก จะมาจาก “สายโลหิต” หรืออีกนัยหนึ่งคือมาจากปัจจัยทางชีววิทยาต่างๆเช่น ฮอร์โมน หรือการได้สัมผัสทางกายกับลูก ซึ่งน่าจะมาจาก การได้สังเกตพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกของแม่สัตว์ต่างๆที่มนุษย์รู้จักคุ้นเคย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ยอมทิ้งลูกไปไหนจนกว่าลูกจะช่วยตนเองได้

ไม่มีตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการว่า มี SM สักเท่าใดที่ปฏิเสธการมอบเด็กให้กับ CC หลังการคลอด มีเพียง Brazier 1998 18ที่กล่าวไว้ว่า “ จากหลักฐานเท่าที่เรารวบรวมได้ มีเพียงไม่มากเท่านั้น ( คงประมาณ ร้อยละ 4-5 เท่านั้น ) ที่ SM จะปฏิเสธการมอบเด็ก “ หรือที่ Baslington 2002 ทบทวนไว้ว่าในอังกฤษระหว่างปี 1992-3 มี SM 5 ใน 50 รายเท่านั้นที่ปฏิเสธ ส่วน van den Akkar 1999 27สำรวจคลินิกและ agency รวม 8 แห่ง พบว่า มีการปฏิเสธเพียง 2 ใน 210 รายเท่านั้น ซึ่งทำให้ สังคมมีความสงสัยมากขึ้นในประเด็นที่กล่าวแล้วในย่อหน้าแรกของบทนี้ ( ไม่เคยมีรายงานว่า CC ปฏิเสธที่จะรับเด็กเมื่อหลังคลอดเลย )

Jadva 2003 20รายงานว่า เมื่อจะต้องยกเด็กให้ CC นั้น SM ร้อยละ 91 บอกว่าเป็นความรู้สึกที่เข้าใจตกลงกันได้ดีกับ CC มี CC 3 รายที่ยกให้ SM ตัดสินใจเองว่า จะมอบเด็กให้เมื่อใด และ SM ทั้ง 34 คนบอกว่ามีความสุขกับการได้มอบเด็กให้ไป โดยไม่มีคนใดบอกว่า ลังเล หรือรู้สึกว่ายากลำบากเลย โดยระดับความรู้สึกว่าไม่มีอะไรยากนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามเวลาหลังการมอบ คือเพิ่มจาก ร้อยละ 65 ในทันทีที่มอบเด็ก เป็นร้อยละ 85 ในสองสามเดือนถัดมา และเป็น ร้อยละ 94 ใน 1 ปีหลังจากนั้น ส่วนรายที่บอกว่า รู้สึกยากลำบากบ้างเมื่อมอบเด็กในระยะแรก 11 รายหรือร้อยละ 32 นั้น ความรู้สึกลำบากจะค่อยๆลดลงเหลือร้อยละ 15 ใน 3 เดือน และ เหลือ ร้อยละ 6 ใน 1 ปี ไม่มีรายใดที่แจ้งว่า รู้สึกยากลำบากอย่างมากเลย เกือบร้อยละ 90 ของ SM สามารถปรับตัวกับกระบวนการนี้ได้โดยไม่ต้องไปปรึกษาปัญหาทางจิตใจกับใครทั้งก่อนและหลังคลอด มีเพียงร้อยละ 9 ที่ไปพบแพทย์ทั่วไป และร้อยละ 3 คือ 1 รายที่ไปตรวจเป็นผู้ป่วยนอกทางจิตวิทยา

ในรายงานเดียวกันนี้ ยังบอกอีกว่า กรณีที่ CC กับ SM เป็นคนรู้จักกันมาก่อนซึ่งมี 7 ใน 34 รายนั้น SM 3 ราย รู้สึกว่าได้รับบทบาทเป็นพิเศษ ส่วนที่เหลือกล่าวว่าเหมือนเดิม ไม่มีอะไรพิเศษ ในขณะที่ SM 6 ใน 7 รายรับว่า รู้สึกผูกพันกับเด็กเป็นพิเศษ

แต่ในกรณีที่ CC กับ SM ไม่รู้จักกันมาก่อนนั้น มี SM 5 ใน 27 รายที่รู้สึกว่าได้รับบทบาทเป็นพิเศษ 14 รายได้พบปะกับเด็ก 4 รายได้พบแต่กับ CC เท่านั้น ที่ต่างจากกรณีที่ SM กับ CC รู้จักกันมาก่อนมาก ก็คือมีเพียง 8 รายของ SM กลุ่มที่ไม่รู้จัก CC ที่รู้สึกว่าตนเองมีความสัมพันธ์พิเศษกับเด็ก อีก 19 รายบอกว่า ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

ในทางตรงข้าม มี SM รายหนึ่งในการศึกษาของ Baslington 2002 ที่กลับกังวลอย่างมากเมื่อทราบว่า ภรรยาของ CC คู่สัญญาของตนถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง (ภายหลังทราบว่า วินิจฉัยผิด) และสามีมาแจ้งว่า อาจไม่รับเด็กไปเนื่องจากคงสู้กับปัญหาทั้งภรรยาที่กำลังจะตายและทารกเกิดใหม่ไม่ไหว