อุ้มบุญ (34) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 3

การที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งแรงงานของลูกหลานอย่างมาก มาเป็นสังคมเมืองและอุตสาหกรรม คนใช้เวลาอยู่ในระบบการศึกษายาวนานเกือบหนึ่งในสามของอายุขัย จนมาเริ่มชีวิตแต่งงานที่อายุ 26 ถึง 29 ปี ( เป็นอายุเฉลี่ยในอิตาลีและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ) ซึ่งล่าช้ากว่าเมื่อศตวรรษที่ 18 – 19 และยังต้องรออีกหลายปีกว่าจะเริ่มมีบุตร ด้วยความเชื่อที่คิดว่า คู่สมรสควรจะมีทรัพย์สินผ่านระดับมาตรฐานที่สังคมหนึ่งก่อน ( เช่นมีบ้าน มีรถของตนเอง มีเงินพอส่งลูกเรียนก่อน ) จึงควรจะมีลูกได้ แต่ในตลาดแรงงาน รายได้ของคนหนุ่มสาวทั่วไปกลับต่ำกว่ามาตรฐานสังคมที่กำหนดไว้อย่างเห็นได้ชัด ทำให้ยิ่งต้องประวิงเวลาการเริ่มมีบุตรออกไปอีก ส่วนฝ่ายหญิงเองถึงแม้ว่า จะอยากมีบุตร แต่ก็ยังต้องการอยู่ในตลาดงานเพื่อหารายได้เพิ่ม ในสหรัฐอเมริกา พบว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 3เป็นต้นมา ซึ่งรายได้ของสตรีดีขึ้นนั้นกลับพบว่า อัตราการมีบุตรลดต่ำลงอย่างเป็นสัดส่วนกัน ประมาณกันว่า ด้วยนิยามของ infertility ข้างต้น ในประเทศทางตะวันตก จะมีคู่สมรสที่ตกในข่ายนี้ราวร้อยละ 8-15 มีบางคู่สมรสที่ตกลงเห็นพ้องกันว่า การไม่มีบุตรกลับช่วยให้ตนใช้ชีวิตได้อย่างกังวลกับอนาคตน้อยกว่า

แต่เมื่อมีการเกิดของเด็กหลอดแก้วรายแรกของโลกขึ้น และตามมาด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์ กลับมีคู่สมรสจำนวนมากซึ่งมีระดับเศรษฐานะผ่านจุดที่ต้องการมาแล้ว แต่กลับมาพบเมื่อวัยผ่านไปหรือเมื่อสุขภาพของตนได้ทรุดโทรมลงเพราะการทำงานไปแล้วว่า ด้วยวัย หรือด้วยความไม่สมบูรณ์ของร่างกายต่างๆของทั้งคู่ ทำให้ตนไม่สามารถมีบุตรได้เอง จึงก้าวเข้ามาขอรับบริการเพื่อช่วยการมีบุตร ซึ่งในแง่หนึ่ง อาจมองได้ว่า สวนกับกระแสส่วนใหญ่ของโลกที่ต้องการลดอัตราการเพิ่มของจำนวนประชากรลง เช่นกัน (ในประเทศจีน ไม่อนุญาตให้มี gestational surrogacy ตั้งแต่ สิงหาคม 2001 แต่อาจด้วยเหตุผลทางจริยธรรมมากกว่าการควบคุมจำนวนประชากรแต่เพียงอย่างเดียว )

จากรายงานของ American Society for Reproductive Medicine 2002 แจ้งว่า ระหว่างปี 1985 ถึง 1999 มีเด็กที่เกิดจาก IVF ในประเทศถึง 129,000 ราย ในจำนวนนี้ ระหว่างปี 1991 ถึง 1999 มีการคลอดจาก IVF Surrogacy ประมาณ 1600 ราย ซึ่งเชื่อได้ว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจาก จากการรายงานสถิติแบบสมัครใจ เพราะกฎหมายที่บังคับให้มีการรายงานสถิติของการทำ surrogacy นั้นเพิ่งใช้บังคับเมื่อปี 2003 และเป็นความต้องการของบุคคลทั่วไปอยู่แล้วที่มักมีความประสงค์ให้กระบวนการ surrogacy ทั้งหมดของตนเป็นความลับ

แนวคิดจากศาสนา9-10

ศาสนาคริสต์ 21เนื่องจากศาสนาคริสต์มีหลายนิกาย และมีแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ซึ่งซับซ้อนมีแง่มุมที่ต้องพิจารณามากขึ้นเรื่อยๆ

  •  Jewish Law โดยหลักการเน้นความเป็นเอกภาพของครอบครัวมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ดังนั้นการใช้สเปอร์ม หรือไข่จากผู้บริจาค ซึ่งเป็นบุคคลที่สามในระบบครอบครัว ได้รับการคัดค้านจากนักบวชที่เคร่งครัด โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้บริจาคมิใช่ชาวยิว เนื่องจากการมีหลักฐานว่าใครเป็นเจ้าของเชื้อและไข่มีความสำคัญในทางศาสนา ศาสนายิวไม่ห้ามการทำ surrogacy แต่บุตรที่เกิดต้องถือเป็นบุตรของชายเจ้าของสเปอร์ม และ surrogate mother ต้องเป็นศาสนาเดียวกับคู่สมรสที่สัญญากัน นอกจากนั้น กฎหมายอิสราเอลกำหนดให้การทำ surrogacyต้องรับอนุญาตคณะกรรมการหลายสาขาอาชีพจำนวน 7 คนก่อน
  •  Roman Catholic Church สำนักวาติกันมีความเห็นชัดเจนว่าคัดค้านเทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์ทุกแบบมาตั้งแต่ปี 1956 โดยสันตะปาปา ปิอุส ที่ 12 ( Pope Pius XII ) โดยถือว่า เป็นการไม่ให้เกียรติต่อความเป็นมนุษย์ เด็กที่เกิดมาจะปราศจากจิตวิญญาณเพราะไม่ได้กำเนิดมาจากการร่วมเพศด้วยความรักของสามีภรรยา แต่จะยอมรับเพียงการทำ GIFT ที่นำเชื้อเพศชายที่หลั่งในช่องคลอดจากการร่วมเพศปกติไปให้ปฏิสนธิที่ท่อนำไข่
  •  Protestantism, Baptist, Mormon, Presbyterian, Jahovah’s Witness และ Aglican Church ค่อนข้างให้อิสระแก่ผู้นับถือในเรื่องนี้

ศาสนาอิสลาม11 เป็นที่ทราบกันดีว่า ศาสนาอิสลามสนับสนุนให้มีบุตรหลานมากๆ ( แต่ไม่อนุญาตต่อการรับบุตรบุญธรรม ) ดังนั้นการรักษาตัวให้มีบุตรได้จึงไม่เพียงแต่เป็นข้ออนุญาต แต่ถือเป็นหน้าที่พึงปฏิบัติ เว้นแต่การใช้สเปอร์มของสามีที่เสียชีวิตแล้วหรือของผู้บริจาค

อย่างไรก็ตาม แม้ในประเทศซาอุดิอเรเบียจะเคยอนุญาตให้มีการทำ surrogacy ในระหว่างเหล่าภรรยาของสามีเดียวกัน แต่ในการประชุมสภาอิสลาม ที่นครเมกกะ ในปี 1985 ได้มีความเห็นเพิกถอนคำอนุญาตการทำ surrogacy สำหรับชาวอิสลามออกแล้ว

ศาสนาพุทธ ไม่มีการกล่าวถึงความเห็นของศาสนาต่อเรื่องนี้ในภาพรวมโดยตรง ยังคงให้เป็นตามวิจารณญาณของผู้ต้องการมีบุตรเอง ว่าเป็นใจเจตนาบริสุทธิ์ที่ต้องการมีและเลี้ยงดูบุตร หรือเป็นความอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ มีสุข ของหญิงผู้รับตั้งครรภ์หรือไม่