อุ้มบุญ (33) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 2

การที่คู่สมรสไม่มีการตั้งครรภ์หลังจากมีเพศสัมพันธ์กันสม่ำเสมอมานาน 12 เดือน3

การตั้งครรภ์แทน (surrogacy) การที่คู่สมรสที่มีความตั้งใจจะเป็นบิดามารดา ได้ติดต่อให้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ให้ ( อาจใช้เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์ชนิดต่างๆอย่างไรก็ได้ ตามความจำเป็น) และสัญญากันว่า หญิงคนนั้นจะยกเด็กให้คู่สมรสเป็นลูกหลังคลอด

ตามร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พศ … การตั้งครรภ์แทนหมายถึง4 การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยหญิงผู้ตั้งครรภ์มีเจตนาหรือข้อตกลงไว้ก่อนตั้งครรภ์ที่จะให้ทารกในครรภ์นั้นเป็นบุตรหรืออยู่ในอำนาจปกครองของผู้อื่น

traditional surrogacy การตั้งครรภ์แทนโดยหญิงผู้รับตั้งครรภ์ ( surrogate mother SM )จะตั้งครรภ์โดยมีปฏิสนธิระหว่างไข่ของตนเองผสมเทียมกับเชื้อสเปอร์มของฝ่ายสามีของคู่ที่ตกลงกันไว้ ( artificial insemination ) ในกรณีนี้ SM กับเด็กจะมีพันธุกรรมเกี่ยวข้องกันบางส่วน2

gestational surrogacy การตั้งครรภ์แทนโดยหญิงผู้รับตั้งครรภ์จะตั้งครรภ์โดยการรับตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิในห้องทดลองระหว่างไข่และสเปอร์มของคู่ที่ตกลงกัน ในกรณีนี้ SM จะเป็นเพียงผู้มีครรภ์โดยไม่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับเด็กเลย2

intended/social or commissioning couples ( CC ) หมายถึง คู่สมรสที่มีความตั้งใจจะเป็นบิดามารดาและเป็นผู้ติดต่อสัญญาให้เกิดการตั้งครรภ์แทนและยกเด็กให้หลังคลอด

IVF in vitro fertilization คือการนำเชื้ออสุจิและไข่ออกจากร่างกายของชายและหญิงมาทำให้เกิดการปฏิสนธิได้ตัวอ่อนคือ embryo

ประเด็นอภิปรายในแง่จิตสังคม

กระบวนการช่วยการเจริญพันธุ์ทางวิทยาศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนช่วยสร้างความหวังให้แก่คู่สมรสในโลกนี้มานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่กำเนิดของ Louise Brown เด็กหลอดแก้วรายแรกของโลกในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1978 อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากบุคคลกลุ่มต่างๆเกี่ยวกับกระบวนการนี้ในมนุษย์ซึ่งนับวันจะก้าวหน้าไป จนแนวคิดของสังคมวัฒนธรรมหลอมรวมไม่ทัน ก็ยังมีข้อถกเถียงในแง่มุมต่างๆ ดังเช่น

• ตั้งแต่พื้นฐานแล้ว เทคนิคในการช่วยให้ตั้งครรภ์ไม่ว่าวิธีใดถูกมองได้ว่า อาจนำไปใช้ให้มีการคัดเลือกชาติพันธุ์มนุษย์อย่างผิดธรรมชาติ ( การเลือกลักษณะที่ต้องการของเจ้าของผู้บริจาคไข่หรือสเปอร์มได้ ) มีการเลือกเพศ หรืออาจมีการนำตัวอ่อนไปใช้ในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงพาณิชย์21

• surrogacy ทำให้ความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับการมีลูกกับครอบครัวแตกแยกซับซ้อนยิ่งกว่าแนวคิดเดิม ประการแรก ด้วยลักษณะของเทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์เอง ทำให้การมีลูกของมนุษย์เป็นเรื่องทางชีววิทยา ไม่ได้มาจากการพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึกที่มีเพศสัมพันธ์กันอีกต่อไป

ประการที่สอง surrogacy ทำให้มนุษย์เห็นว่า ความเป็นแม่ กับการตั้งครรภ์เด็ก ไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เด็กที่เกิดมา กลับมามีพันธุกรรมที่อาจเกี่ยวข้องทั้งหมด หรือบางส่วนกับคู่สามีภรรยานั้น ( ซับซ้อนไปกว่าการรับบุตรบุญธรรมเดิม ซึ่งประเด็นด้านพันธุกรรมไม่มีบทบาทอีกต่อไป ) และประการที่สาม surrogacy นำบุคคลที่สามเข้ามามีบทบาทที่สำคัญมากกับครอบครัวใหม่5-6

• แม้ในวงการแพทย์เอง การศึกษาจริยธรรมที่ได้ยึดหลักความยุติธรรม ( justice ) เคารพในความเป็นบุคคล (autonomy ) หน้าที่ที่จะก่อคุณประโยชน์ ( duty to do good ) และหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดผลร้าย ( nonmaleficence ) ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า กระบวนการ surrogacy ไม่ควรมีความขัดแย้งกับจริยธรรมทางการแพทย์แต่อย่างไร ถึงกระนั้น แนวคิดนี้ ก็ยังต้องถูกถ่วงด้วยสมดุลย์ระหว่างจริยธรรมระดับย่อยรายบุคคล กับจริยธรรมระดับสังคม และความสมดุลระหว่างสมาชิกในสังคมกับสังคมนั้นๆด้วย เนื่องจาก วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ไม่อาจแยกตัว อยู่โดดเดี่ยวโดยไม่เกี่ยวพันหรือ เคารพกับแนวคิดทางศีลธรรม ศาสนา ปรัชญา หรือหลักการทางสังคมได้ เนื่องจากระบบกรอบคิดเหล่านี้จะเป็นผู้สะท้อนบอกผู้สร้างเทคโนโลยีทางการแพทย์อีกครั้งว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นสร้างความยุติธรรม ก่อประโยชน์ โดยไม่สร้างผลร้าย ต่อสังคม ที่เหนือไปกว่าการเป็นประโยชน์ต่อปัจเจกบุคคลหรือไม่ เพียงใด

• ค่าใช้จ่ายสำหรับเทคโนโลยีนี้ที่สูงมาก รวมถึงกระบวนการหา และจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงที่รับตั้งครรภ์ ทำให้มองได้ว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ห่างขึ้นอีกในอีกหนึ่งมิติแล้ว ( Beckman 2005)7

ดังได้กล่าวแล้วว่า แม้กระบวนการของการรับตั้งครรภ์แทนจะมีมานานกว่ายี่สิบปี แต่การศึกษาลักษณะต่างๆทางจิตวิทยาและสังคมวิทยาของหญิงที่รับตั้งครรภ์ยังมีน้อยมาก เนื่องจากประเทศที่มีการใช้กระบวนการนี้มากๆอย่างในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป มิได้มีกฎหมายบังคับให้มีการติดตามรายงาน หรือศึกษาข้อมูลของหญิงเหล่านี้ คู่สมรสที่ตกลงกันไว้ และเด็กที่เกิดมาอย่างเป็นทางการ จนเพิ่งมีกฎหมายออกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2003 นี้เองที่บังคับให้มีการรายงานการทำ surrogacy แก่รัฐทุกราย ซึ่งต่างและล่าช้ากว่าการใช้บังคับกับการช่วยการเจริญพันธุ์วิธีอื่น เช่น IVF ซึ่งมีการบังคับทางกฎหมายให้มีการบันทึกทางสถิติมาตั้งแต่ปี 1992 แล้ว1

การทบทวนเอกสารฉบับนี้ได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา มานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ที่มีทั้งหมดของมหาวิทยาลัยมหิดลระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม 2548 และพยายามจำกัดการรวบรวมในเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องทางจิตวิทยา และสังคมเป็นหลัก และจะนำเสนอผลการทบทวนเอกสารในเรื่องหลักๆที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

• สถานการณ์การเจริญพันธุ์ทั่วไปในโลก

• ความเห็นของศาสนาต่างๆ

• สภาพทางจิตใจของคู่สมรสที่ไม่อาจมีบุตรได้เองตามธรรมชาติ

• ลักษณะทั่วไปทางสังคมของทั้ง SM และ CC

• เหตุใดหญิงเหล่านี้รับตั้งครรภ์ให้คู่สามีภรรยาอื่น ( เหตุจูงใจ )

• SM มีความผูกพันกับเด็กที่ตนตั้งครรภ์มาจนคลอดเหมือนมารดาที่ตั้งครรภ์ธรรมชาติหรือไม่

• SM มีความรู้สึกหรือคิดอย่างไรเมื่อต้องสละเด็กที่คลอด ( relinquishing the child )ให้คู่สมรสที่ตกลงกันไว้ ( CC ) และหลังจากนั้น SM ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เกิดโรคทางจิตเวชขึ้นหรือไม่

• ความสัมพันธ์ระหว่าง SM และ CC ทั้งก่อน ระหว่างและหลังตั้งครรภ์มีลักษณะอย่างไร มีผลอย่างไรต่อสภาพจิตใจของทั้งสองฝ่าย

• ความสัมพันธ์ของ SM กับสามี หรือลูกของตนเองที่คลอดมาก่อนเป็นอย่างไร และครอบครัวของ SM คิดอย่างไรกับการทำ surrogacy นี้

• กลุ่มบุคคลพิเศษที่ต้องการมาใช้เทคโนโลยีนี้ โดยเฉพาะ กลุ่มรักร่วมเพศ

• หลักการการให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าสู่กระบวนการ surrogacy แก่ทั้งผู้ให้คำปรึกษา แพทย์ และองค์กรที่จัดให้มีบริการนี้