อุ้มบุญ (32) โครงการการทบทวนเอกสารเรื่องสุขภาพจิต/จิตวิทยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ กรณีตั้งครรภ์แทน ตอนที่ 1

1. ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทำให้มีการแยกการปฏิสนธิ เป็นขั้นตอนออกจากการตั้งครรภ์

2. ด้วยการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ได้มีการแยกการตั้งครรภ์และการคลอด ออกจากการได้เป็นพ่อแม่

3. ด้วยการที่หญิงผู้ตั้งครรภ์มอบเด็กที่คลอดให้คู่สมรสที่สัญญากันไว้ คล้ายกับยอมรับว่า เจ้าของพันธุกรรมสมควรเป็นพ่อแม่มากกว่าผู้ตั้งครรภ์

4. เป็นการนำบุคคลที่สามเข้ามีส่วนในการสร้างครอบครัว

5. การมีพลังทางการเงิน ทำให้หญิงฝ่ายหนึ่งสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะได้ “ความเป็นแม่” แต่อำนาจทางการเงินก็อาจทำให้หญิงอีกฝ่ายสละ “ความเป็นแม่” ได้

เห็นได้ว่า 3 ประเด็นแรก คล้ายกับการเน้น ความเป็นพ่อแม่จากชีววิทยาโดยเฉพาะพันธุศาสตร์ มากกว่า ความเป็นพ่อแม่ดั้งเดิมทางสังคมและจิตวิญญาณ

ปัญหาที่อาจเกิดจากประเด็นข้างต้น อาจได้แก่

1. ปัญหาทางกฎหมาย ทั้งการตัดสินความเป็นพ่อแม่ลูก และครอบครัว และการควบคุมการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเหมาะสม

2. ปัญหาทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละฝ่ายที่มีส่วนร่วม

3. ปัญหาความเท่าเทียมกันในสังคม

4. ปัญหาอันอาจเกิดจากกลุ่มคนพิเศษต่างๆที่อาจขอเข้าสู่กระบวนการนี้ เช่น กลุ่มรักร่วมเพศ เป็นต้น

การทบทวนเอกสารในที่นี้ จะเน้นในปัญหาที่ 2 เป็นหลัก โดยทบทวนเอกสารจากสืบค้นจากฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และบทความตามนิตยสารต่างๆเป็นหลัก ได้ทำการเรียบเรียงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2548

ผลการทบทวนเอกสาร

ความเห็นทางศาสนา

ศาสนาคริสต์ เนื่องจากมีหลายนิกาย แต่ความเห็นคัดค้านที่ชัดเจนมาจากโรมันแคธอลิกเท่านั้น

ศาสนาอิสลาม ส่งเสริมการให้มีลูกหลานมากๆ ยกเว้นเรื่องการทำ gestational surrogacy ที่มีประกาศห้าม

ศาสนาพุทธ ไม่มีความเห็นเป็นทางการไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง

สภาพจิตใจของผู้ไม่อาจมีบุตรได้ตามธรรมชาติ จากรายงานในหลายเชื้อชาติพบตรงกันว่า มีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงกว่าผู้ที่มีบุตรได้

ลักษณะของหญิงผู้รับตั้งครรภ์ ไม่พบลักษณะทางสังคมหรือเศรษฐานะที่ต่างไปจากประชากรทั่วไป บางรายอาจมีฐานะการเงินที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย มักเคยมีบุตรมาก่อน มีครอบครัวของตนเองอยู่แล้ว ซึ่งครอบครัวก็ให้การสนับสนุน บุคลิกภาพอาจมีลักษณะที่ไม่ยอมตามสังคมเท่าคนอื่น

พบว่า แรงจูงใจมักมาจากการอยากช่วยให้ผู้อื่นมีบุตรได้ แต่ค่าตอบแทนและความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่สมรสที่สัญญากันไว้ จะเป็นสิ่งที่หญิงเหล่านี้พอใจ

ลักษณะของคู่สมรสที่ให้สัญญา มักมีฐานะทางการเงินดีกว่าทั่วไป ฝ่ายภรรยามักเป็นฝ่ายเริ่มคิด และทั้งคู่ต้องการมีบุตรที่มีพันธุกรรมของตน จึงไม่เลือกการรับบุตรบุญธรรม และในระหว่างเข้าสู่กระบวนการ มีการใช้วิธีคิดต่างๆหลายอย่างมาช่วยให้ตนได้รู้สึกเหมือนเป็นพ่อแม่ของเด็กจริงๆมาช่วย ส่วนมากมักพยายามคิดเรื่องการเป็นพ่อแม่และการมีบุตรในรูปแบบทางชีววิทยามากกว่าทางสังคมและมานุษยวิทยา

น่าสังเกตว่า คนกลุ่มนี้มีความรู้เกี่ยวกับการทำและปัญหาที่อาจเกิดไม่มากเมื่อมาขอรับบริการ

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างหญิงผู้รับความตั้งครรภ์และคู่สมรสที่สัญญากัน แม้ว่าจะมีการทำแบบเป็นความลับที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้พบกันเลยเกิดขึ้น ทั่วไปในการมีการพบปะกันอย่างใกล้ชิดได้สร้างความพอใจกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น และไม่น้อยที่พบปะกันต่อหลังเด็กคลอด แต่อาจไม่มีเด็กอยู่ด้วย

การมอบเด็กหลังคลอด มักเกิดขึ้นทันที โดยเกิดปัญหาที่หญิงผู้รับตั้งครรภ์ไม่ต้องการมอบเด็กให้คู่ที่สัญญากันน้อยมาก ทั้งนี้ อาจเนื่องจากหญิงเหล่านี้มีบุตรของตนมาก่อนแล้ว และได้ใช้กลไกทางจิตและความคิดหลายอย่างมาช่วยให้ผ่านการมอบเด็กผ่านไปได้ เช่น การมองว่า ไม่ใช่บุตรของตนตั้งแต่ต้นแล้ว ทำงานของตนให้จบสิ้นไป โดยสภาพจิตของหญิงกลุ่มนี้ที่มีปัญหา จะมีความรุนแรงน้อยลงเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป มีหญิงน้อยรายมากที่เข้ารับการรักษาทางจิต

หญิงเหล่านี้มักต้องการให้เด็กได้ทราบเมื่อโตขึ้นว่า เด็กเกิดมาได้อย่างไร และยินดีที่จะพบกับเด็ก หากเด็กต้องการ

เด็กและครอบครัวที่รับเด็ก การศึกษาในระยะสั้นพบว่าเด็กและครอบครัวไม่มีความแตกต่างกับครอบครัวที่มีลูกเกิดโดยธรรมชาติ ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ

ประเด็นหลักในกรณีนี้คือการที่บิดามารดาตัดสินใจว่าจะบอกเด็กหรือไม่เรื่องการเกิดของตน แม้ว่าคนเหล่านี้มักตอบแบบสอบถามก่อนเด็กคลอดว่าจะแจ้งกับเด็ก แต่ในทางปฏิบัติ มีการแจ้งกับเด็กน้อยมาก ยังไม่มีข้อมูลว่าการแจ้งหรือไม่ จะเกิดผลกับเด็กอย่างไร เหมือนหรือต่างกับกรณีบุตรบุญธรรม ที่มักแนะนำให้แจ้งกับเด็กโดยเร็วที่สุดหรือ กรณีของการเกิดโดยรับบริจาคไข่หรือสเปอร์มหรือไม่

กลุ่มคนพิเศษ ข้อมูลที่มีมากพอคือกลุ่มรักร่วมเพศที่ต้องการมีบุตร แม้จะไม่ใช่การศึกษาจาก surrogacy โดยตรง แต่เป็นข้อมูลจากการที่คนเหล่านี้ได้เป็นพ่อแม่ในกรณีอื่นๆมาก่อน พบว่า คนเหล่านี้สามารถปฏิบัติตนเป็นพ่อแม่ของเด็กได้เป็นอย่างดี ในบางด้านอาจเหนือกว่าพ่อแม่ทั่วไปเสียอีก ไม่พบว่า เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ การถูกกระทำทางเพศ การปรับตัวกับเพื่อนไม่ได้ ( แต่มักไม่บอกเพื่อน) หรือมีอัตตลักษณ์ทางเพศที่เบี่ยงเบน อันแตกต่างจากเด็กจากครอบครัวที่มีลักษณะคล้ายกันแต่อย่างไร

ส่วนกรณี หญิงที่ยังไม่แต่งงานแต่ต้องการมีบุตร กลุ่มคนที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือการใช้ตัวอ่อนหรือไข่ หรือสเปอร์มของผู้เสียชีวิตแล้วนั้น ยังไม่มีข้อมูลมากพอจะสรุปได้

คำแนะนำกับแพทย์และองค์กรที่ให้บริการ สนับสนุนให้มีการให้คำปรึกษาทั้งด้านเทคนิค สุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และทางกฎหมายแก่ทั้งคู่สมรส และหญิงที่รับตั้งครรภ์ ตลอดตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังกระบวนการ โดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม และกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน มีลายลักษณ์อักษร และควรได้เน้นการเตรียมพร้อมสำหรับการแจ้งเรื่องการเกิดแก่เด็กไว้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ โดยเน้นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกๆฝ่ายอย่างเท่าเทียม

การจ่ายค่าตอบแทนแก่หญิงผู้ตั้งครรภ์ควรให้กับความตั้งใจ ความพยายามที่เหนื่อยยาก เสี่ยงต่อผลเสียทางสุขภาพกาย จิต สังคมและการงาน มิใช่เป็นการตอบแทนการคลอดและส่งมอบ “สินค้า”ทารกที่แข็งแรง

แพทย์ควรได้ปฏิบัติงานนี้โดยไม่รู้สึกขัดแย้งกับจริยธรรม ความถูกต้องทางการแพทย์ หรือความเชื่อส่วนตัวเกี่ยวกับการช่วยมีบุตรกับกรณีเฉพาะบางราย และมีสิทธิปฏิเสธการทำหน้าที่นี้ได้ในบางราย

องค์กรที่ให้บริการควรเตรียมการระวังรักษาความลับของผู้รับบริการ และมีความสามารถในระยะยาวที่จะช่วยเหลือเด็กที่ต่อไปอาจมีสิทธิทางกฎหมายมาขอรับทราบข้อมูลการเกิดของตน

บทสรุป

การรับตั้งครรภ์แทนยังถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมมนุษย์ ซับซ้อนกว่าการรับบุตรบุญธรรมเดิม หรือการช่วยให้มีบุตรด้วยเทคโนโลยีทั่วไป แม้ว่า การทบทวนเอกสารที่เสนอ ไม่พบผลลบที่ชัดเจนจากกระบวนการนี้ต่อบุคคลผู้เกี่ยวข้อง แต่การศึกษาไม่พบปัญหา อาจหมายถึงการใช้ตะแกรงที่ไม่ถูกขนาดมาร่อนหาสิ่งที่ยังไม่มีใครรู้ว่า หน้าตารูปร่าง หรือขนาดเป็นอย่างไร รวมทั้งเกือบทั้งหมดยังเป็นการศึกษาที่มีขนาดตัวอย่างเล็ก ในระยะสั้นๆ วิธีการวิจัยมีความแตกต่างกันมาก ยังมีสิ่งที่ต้องสังเกต ติดตาม ศึกษาในระยะยาวอีกมาก โดยเฉพาะครอบครัวของเด็กที่เกิดมา และการนำวิธีการนี้ไปใช้โดยคนกลุ่มพิเศษ หรือสถานการณ์เฉพาะ วิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้ยังต้องรอการยอมรับจากสังคม กฎหมายไม่อาจรับรอง สร้างความยอมรับกับกระบวนการนี้ หากขัดแย้งกับกระแสความเห็นของคน ในขั้นต้นนี้ กฎหมายควรมีบทบาทในการกำหนดขอบเขตของการใช้เทคโนโลยีนี้ให้เหมาะสม ให้มีการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อเป็นแนวทางในการออกข้อกำหนดในระยะต่อไป และเกิดประโยชน์แก่ครอบครัวโดยรวม ควรระวังการมีกฎบังคับที่เอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งอิงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จนอาจถูกนำไปใช้ผิดทางได้เช่น การรับรองเป็นอาชีพ เป็นต้น