อุ้มบุญ (27) ข้อพิจารณาจากการประชุม บทนำ: ประเด็นเบื้องต้นด้านกฎหมาย

– สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการให้ทำวิจัย แต่ทำเฉพาะในเรื่องอุ้มบุญ

– สภาผู้แทนราษฎร แต่งตั้งกรรมาธิการชุดหนึ่ง ซึ่งจะมองทั้งระบบ และกำลังยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นคำที่กว้างมาก ประกอบด้วยหกหัวข้อที่เกี่ยวข้อง และออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติอนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องแรกเลยเกี่ยวกับเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ ภาพรวม เรื่องที่สอง เรื่องสุขภาพทางเพศ เรื่องที่สาม เป็นเรื่องการตั้งครรภ์และการคลอด เรื่องที่สี่เรื่องเพศศึกษา เรื่องที่ห้าเรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัว เรื่องที่หกเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเรื่องที่ประชุมในวันนี้ก็คงไปอยู่ในเรื่องที่หกของสภาผู้แทนฯ

– ในขณะเดียวกันก็มีกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งสำนักงานส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน ดร.สายสุรี จุติกุล ท่านก็ได้หยิบเรื่องนี้มา ท่านมองว่าเรื่องเหล่านี้ ผู้ใหญ่ทำกันแต่กระทบถึงเด็กด้วย จึงยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นอีกฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องหกของสภาผู้แทน

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ที่มีผู้ดำเนินการกันอยู่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยโครงการชีวจริยธรรมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทำให้ได้มาปรึกษาหารือกันในวันนี้

สำหรับประเด็นที่จะพิจารณาในวันนี้ จะพิจารณาในสี่เรื่องหลักคือ

(1) เงื่อนไขของการใช้เทคโนโลยี สามารถทำได้หรือไม่ หรือไม่ควรทำ ถ้าข้อสรุปคือไม่ควรทำก็จบแต่เป็นไปไม่ได้เพราะขณะนี้มีทำกันอยู่ การประชุมวันนี้จะมาปรึกษาหารือกันว่า ถ้าทำมีขอบเขตหรือมีเงื่อนไขการใช้เทคโนโลยีอันไหน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าคิดว่าต้องทำจะจำกัดแค่ไหน คุณสมบัติต้องเป็นคู่สมรสหรือไม่ ควรมีข้อกำหนดเรื่องอายุหรือไม่ อายุมากจะทำให้หรือไม่ ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งผู้ชายเสียชีวิตแล้วแล้วไปเอาเสปิร์มมาที่สะสมไว้มาใช้ อันนี้จะให้ทำไหม หรือว่าในเพศเดียวกันจะอนุญาตหรือเปล่า แล้วองค์กรอะไรที่จะควบคุม สิ่งเหล่านี้ต้องบอก เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายคิดไม่ถึงว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาจะต้องควบคุมอย่างไร ประกาศแพทยสภาเพียงพอที่จะใช้ควบคุมหรือไม่ ในการควบคุมถ้าควบคุมเป็นกฎหมายเลย เขียนทุกอย่างเป็นกฎหมาย ก็จำเป็นต้องถามภาคปฏิบัติว่าหากเป็นกฎหมายจะคล่องตัวหรือไม่ แต่ถ้าไม่เขียนปล่อยให้เป็นเรื่องของจริยธรรม ซึ่งจริยธรรมจะไม่มีมาตรการบังคับที่เด็ดขาดเหมือนทางกฎหมาย เป็นต้น

(2) ประเด็นที่ 2 คือการคุ้มครองตัวอ่อน ควรให้ความคุ้มครองอย่างไร ในทางกฎหมายเราจะมองภาพกว้าง ไม่ได้ลงรายละเอียดเหมือนทางวิทยาศาสตร์หรือทางแพทย์ที่ได้มองปัญหานี้ คือถ้าถามว่านักกฎหมายคุ้มครองอย่างไร ทางฝ่ายกฎหมายก็จะพูดง่ายๆ ว่าคุ้มครองชีวิตในครรภ์มารดากับคุ้มครองชีวิตมนุษย์ ถ้าคลอดมาแล้วคือชีวิตมนุษย์ ใครทำร้ายชีวิตมนุษย์ก็คือความผิดฐานฆ่าคนตาย แต่การทำลายชีวิตในครรภ์มารดาคือการทำแท้ง นี่เป็นสิ่งที่สอนกันอย่างนี้ การคุ้มครอง คุ้มครองเพียงสองช่วง แต่ในทางการแพทย์จะมองละเอียดลงไปกว่านั้นว่า มีการปฏิสนธิ มีเป็นระยะๆ เวลาจะทำบลาสโตซิส (Blastosis) ควรจะมีขอบเขตแค่ไหน หรือจะทำที่ระยะใด ไปถึงขึ้นเป็นเอ็มบริโอ (Embryo) ระยะแปดสัปดาห์หลังจากปฏิสนธิ หลังจากนั้นเป็นฟีตัส (Featus) จะคุ้มครองเพียงใด มีรายละเอียดมาก แต่นักกฎหมายจะมองเพียงชีวิตมนุษย์กับชีวิตในครรภ์มารดา การทำลายชีวิตในครรภ์มารดาคือความผิดฐานทำแท้ง แต่เมื่อมีคำถามลึกลงไปว่าแล้วชีวิตในครรภ์มารดาเริ่มเมื่อไร นักกฎหมายไม่ได้นิยามไว้ ซึ่งก็บอกว่าเป็นความรู้ทางการแพทย์ นั่นคือความฉลาดอย่างหนึ่งเพราะถ้าเขียนแล้วก็จะต้องยึดตามนั้น และเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะการเขียนกฎหมายเขียนจากสถานการณ์ในขณะนั้นก็อาจจะล้าสมัย บางอย่างก็เปิดไว้ให้เป็นความรู้ทางการแพทย์

จะสังเกตว่าในทางกฎหมาย นิยามว่าเกิดเมื่อไร ตายเมื่อไร แต่เมื่อไรคือชีวิตในครรภ์มารดาพวกนี้ไม่เขียนไว้ แต่การไม่กำหนดไว้ทำให้นักกฎหมายตามไม่ทันในวิทยาการทางการแพทย์ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาในอนาคต เพราะว่าการสอนในทางกฎหมาย เราก็บอกว่าชีวิตในครรภ์มารดาเริ่มขึ้นเมื่อปฏิสนธิ คือสอนเหมือนขบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก กฎหมายก็พอที่จะใช้ได้ แต่เมื่อมาถึงขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องถึงเรื่องปฏิสนธิเทียม เพียงแค่เรื่องคุมกำเนิดเท่านั้น นักกฎหมายก็เริ่มมีปัญหาแล้ว เช่น ถ้าสอนเพียงแค่ว่าชีวิตเริ่มเมื่อปฏิสนธิ การคุมกำเนิดแบบใส่ห่วงก็จะกลายเป็นการทำแท้ง เพราะมีการปฏิสนธิแล้ว แต่ถูกกั้นไม่ให้ไข่ที่ผสมแล้วไปฝังตัวในผนังมดลูก ซึ่งคงดูตลก ก็ต้องปรับที่คำสอนทางกฎหมายว่า ชีวิตในครรภ์มารดาเริ่มเมื่อมีการปฏิสนธิแล้วมีการฝังตัวในผนังมดลูก ตำรากฎหมายบางเล่มก็อธิบายถึงตรงนี้ บางเล่มก็ยังอธิบายเพียงแค่การปฏิสนธิอยู่ ซึ่งถ้ามีความรู้เพียงเท่านั้น ก็จะมีปัญหา

การขยายความครอบคลุมของกฎหมายให้มาถึงการคุ้มครองตัวอ่อน แทบจะไม่มีการพูดถึงเลย เป็นเรื่องการตีความว่าการคุ้มครองตัวอ่อนคืออะไร แล้วก็จะเกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ประเด็นนี้จะเป็นสิ่งที่จะปรึกษาหารือกันในวันนี้ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาว่าทางกฎหมายจะเข้ามาดูแลได้อย่างไร เพราะว่าหากกฎหมายคุมเข้มมากเกินไป แพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์ ก็จะทำอะไรไม่คล่องตัว แต่หากไม่มีกฎเกณฑ์ก็จะละเลยจนน่าเป็นห่วงว่า ทางวิทยาศาสตร์ทำอะไรก็ได้มากมาย ทางยุโรปกลัวมากเวลาที่นักวิทยาศาสตร์จะสร้างและใช้ความรู้ใหม่ๆ เพราะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงเกิดข้อคิดว่า “สิ่งที่มนุษย์ทำได้” กับ “สิ่งที่มนุษย์ควรทำ” ควรแบ่งแยกให้ชัดเจน ในเยอรมันออกกฎหมายมาควบคุมโดยมีเหตุผลชัดเจนว่า ”มนุษย์ควรทำในสิ่งที่ควรทำเท่านั้น มนุษย์ไม่ควรทำในทุกสิ่งที่ทำได้ เพราะมนุษย์ไม่ใช่พระเจ้าที่จะไปสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาทั้งหมด” ในทางธรรมชาติจะมีข้อจำกัดนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องของตัวอ่อนจะควบคุมอย่างไร ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็มีหลากหลาย หากทางกฎหมายและวิทยาศาสตร์เข้าใจตรงกัน ทางสังคมศาสตร์เข้าใจตรงกันแล้ว เผยแพร่ความรู้ออกไปให้ประชาชนด้วยก็จะดีมาก ทุกวันนี้ต่างคนต่างเข้าใจ นักกฎหมายเข้าใจอย่างหนึ่ง หมอเข้าใจอีกแบบหนึ่ง ประชาชนยิ่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย