อุ้มบุญ (26) ข้อพิจารณาและผลกระทบทางการวิจัยทางการแพทย์และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ต่อ)

1. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้การสนับสนุนการศึกษาผลกระทบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แทน

2. มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มุ่งดำเนินงานทางวิชาการเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในด้านดังกล่าว โดยมิได้มุ่งให้เกิดการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นหลัก ที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนการศึกษาข้อเสนอแนะทางกฎหมายและจริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิสนธิเทียม และการคัดเลือกทางพันธุกรรม และมีแผนที่จะให้การสนับสนุนการศึกษาผลกระทบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการทำสำเนามนุษย์

3. คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษายกร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ ในคณะกรรมการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาร่างกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์

4. สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ – ยกร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ….

การดำเนินงานที่ปรากฎจนเป็นร่างกฎหมายแล้ว ได้แก่

1. “ร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์” คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษายกร่างกฎหมายอนามัยเจริญพันธุ์ ในคณะกรรมการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทางวิชาการ ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนามัยเจริญพันธุ์ แบ่งออกเป็น 6 คณะ ได้แก่

คณะที่ 1 – สุขอนามัยเจริญพันธุ์

คณะที่ 2 – สุขภาพทางเพศ

คณะที่ 3 – การตั้งครรภ์และการคลอด

คณะที่ 4 – เพศศึกษา

คณะที่ 5 – การคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว

คณะที่ 6 – เทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์

เฉพาะคณะที่ 6 เท่านั้นที่ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมาย เป็นหมวด 6 ของร่างกฎหมายดังกล่าว โดยร่างหมวด 6 ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดย ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการให้บริการผสมเทียมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการตั้งครรภ์แทน

2. “ร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ….” สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ

โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมมิให้ดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในทางที่ไม่ถูกต้อง และเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย บทนิยาม และหมวดย่อย 7 หมวด ได้แก่

หมวด 1 คณะกรรมการควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

หมวด 2 การให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

หมวด 3 การตั้งครรภ์แทน

หมวด 4 ความเป็นบิดาและมารดาของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

หมวด 5 การสร้าง เก็บรักษา วิจัย หรือใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน

หมวด 6 การควบคุมการดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

หมวด 7 บทกำหนดโทษ

ข้อเสนอแนะ

จากข้อจำกัดของกฎหมายไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะจัดทำร่างกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมกำกับการดำเนินงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ แต่ความก้าวหน้าของกระบวนการและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งผลกระทบกว้างขวางยิ่งไปกว่าความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ขอเสนอให้ท่านดำเนินการ

1. พิจารณายกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พิจารณาจากร่างกฎหมาย 2 ฉบับข้างต้นที่ได้มีความพยายามดำเนินการอยู่ โดยขยายขอบเขตในภาพกว้างให้ครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลของการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงความสัมพันธ์ของบุคลคลในครอบครัว รวมถึงการตั้งครรภ์แทน

2. พิจารณายกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน การสำเนามนุษย์ทั้งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างมนุษย์และการรักษา รวมถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยอาจพิจารณาเป็นกฎหมายเฉพาะแยกต่างหากก็ได้