อุ้มบุญ (25) ข้อพิจารณาและผลกระทบทางการวิจัยทางการแพทย์และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ต่อ)

ตรวจวินิจฉัยป้องกันทารกไม่ให้เกิดมาพร้อมกับโรคทางพันธุกรรม ในทางปฏิบัติแพทย์จะเลือกนำตัวอ่อนเฉพาะที่ตรวจไม่พบโรคทางพันธุกรรมนั้นๆ ใส่กลับเข้าไปในร่างกาย และด้วยวิธีดังกล่าวยังสามารถใช้ในการตรวจคัดเลือกเพศของตัวอ่อนได้ไปพร้อมกัน

ประเด็นพิจารณา

แพทยสภามีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรมของตัวอ่อน ให้กระทำได้เฉพาะเพื่อวินิจฉัยโรคตามความจำเป็นและสมควร และไม่ให้ดำเนินการเพื่อคัดเลือกเพศ และการคัดเลือกเพศสามารถกระทำได้ด้วยวิธีง่ายและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่การดำเนินการดังกล่าวยังคงมีข้อถกเถียงเชิงจริยธรรมว่าสมควรดำเนินการหรือไม่

ตัวอย่างการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในต่างประเทศ

ในการบัญญัติกฎหมายของประเทศต่างๆ อาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะไม่อนุญาตให้ดำเนินการวิจัยใดๆ กับตัวอ่อน เช่น เยอรมัน นอรเวย์ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อนุญาตให้ทำการวิจัยได้ภายใต้วัตถุประสงค์ที่ไม่ฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี และอยู่ภายใต้การควบคุมแลขององค์กรที่ได้รับมอบหมาย กลุ่มตัวอย่างกฎหมายของประเทศเหล่านี้ เช่น

1. สหราชอาณาจักร

ในปี 1990 ได้ตรากฎหมาย Human Fertilisation and Embryology Act (HFE) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมีข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการตัวอ่อนและเซลล์สืบพันธุ์ เช่น เงื่อนไขการเก็บรักษา โดยกำหนดให้เก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ ไม่เกิน 10 ปี เก็บรักษาตัวอ่อนไม่เกิน 5 ปี เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย-ตัวอ่อน-ผู้บริจาค การตั้งครรภ์แทน เป็นต้น

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำไข่ที่มีการปฏิสนธิแล้วไปใช้ เพื่อวัตถุประสงค์การวิจัยถูกพิจารณาแยกต่างหากจากการนำไปใช้เพื่อการเจริญพันธุ์ ซึ่งกฎหมายอังกฤษเปิดช่องว่างสำหรับการวิจัยค่อนข้างมาก โดยกำหนดให้เสนอโครงร่างการวิจัยต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้รายละเอียดถึงวิธีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อนที่จะนำไปใช้ ถ้าผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากหน่วยงานก็สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการที่ได้เสนอนั้นเท่านั้น ดังนั้นขณะนี้จึงอาจมีการทดลองนำอสุจิของมนุษย์ผสมกับไข่ของสัตว์ เพื่อศึกษาภายใต้เงื่อนไขที่ต้องทำลายทิ้งเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัย

2. สหรัฐอเมริกา

จากข้อมูลจนถึงปี 2000 ยังไม่มีกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยเรื่องการจัดการเซลล์สืบพันธุ์หรือตัวอ่อน แต่มีกฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติไว้ในบางรัฐ เช่น รัฐฟลอริด้า และรัฐนิวแฮมเชียร์ และตามกฎหมายยังไม่กำหนดระยะเวลาการเก็บรักษา การดำเนินการต่อเซลล์สืบพันธุ์และตัวอ่อนให้เป็นไปตามข้อตกลงของปัจเจกบุคคล ในข้อกำหนดจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ (Code Medical Ethics) ให้ชายที่เป็นเจ้าของอสุจิและหญิงที่เป็นเจ้าของไข่มีอำนาจเหนือตัวอ่อนที่แช่แข็ง การบริจาคเซลล์สืบพันธุ์สามารถทำได้โดยไม่หวังค่าตอบแทน ตัวอ่อนที่ถูกนำไปใช้เพื่อการวิจัยแล้วต้องไม่ถูกนำไปฝังเพื่อให้เจริญเติบโต

3. ฝรั่งเศส

Law of Bioethics ปี 1994 อนุญาตให้ทำลายตัวอ่อนที่เก็บไว้เกินกว่า 5 ปี แต่ให้เก็บตัวอ่อนที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่แสดงความจำนงที่จะเก็บไว้ โดยจะต้องไม่นำไปใช้ประโยชน์สำหรับคู่สมรสอื่น รวมถึงการวางข้อกำหนดการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวอ่อน

นอกจากนี้ ประเด็นที่ในระดับนานาชาติกำลังถกเถียงกันได้แก่ประเด็นการทำสำเนามนุษย์ โดยองค์การ สหประชาชาติ กำลังพยายามยกร่างปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโคลนนิ่งมนุษย์ ซึ่งท่าทีของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนการห้ามทำสำเนามนุษย์โดยเด็ดขาด ซี่งมีอิตาลี คอสตาริกา และสหรัฐอเมริกา เป็นกลุ่มนำ และอีกฝ่ายเป็นฝ่ายที่สนับสนุนให้สามารถทำสำเนามนุษย์เพื่อการรักษา (Therapeutic cloning) ได้ กลุ่มนี้ได้แก่ เบลเยียม ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศไทย ในการประชุมคณะทำงานเพื่อดำเนินการยกร่างปฎิญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโคลนนิ่งมนุษย์ และคณะกรรมการหกของสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญที่ 59 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเทศไทยลงคะแนนเสียงในฝ่ายที่เห็นว่าการห้ามหรืออนุญาตการทำสำเนามนุษย์ แต่เปิดช่องให้ไทยสามารถอนุญาตการทำสำเนามนุษย์เพื่อการรักษาได้

ในกรณีของการตั้งครรภ์แทน ได้มีข้อกำหนดในหลายประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความแตกต่างกันในหลายมลรัฐ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าสัญญาให้การตั้งครรภ์แทน โดยเฉพาะเมื่อมีค่าตอบแทน ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และบางรัฐถือเป็นความผิดอาญา เจ้าของอสุจิและหญิงตั้งครรภ์ยังมีสิทธิในการเลี้ยงดูเด็กเท่าๆ กัน แต่โดยคำตัดสินของศาลฎีกาแล้ว มีแนวโน้มที่จะให้สิทธิเลี้ยงดูแก่บิดาเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก โดยให้สิทธิในการเยี่ยมเยียนเด็กแก่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนในฐานะมารดา

ในประเทศฝรั่งเศส มีความเห็นคล้ายๆ กันว่าการทำสัญญาเพื่อตั้งครรภ์แทนกระทบต่อความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ของบุคคล เสื่อมเสียและก่อให้เกิดอันตรายต่อสถาบันครอบครัว จึงไม่อาจบังคับใช้ได้