1. ปัญหาสถานะทางกฎหมายเกี่ยวกับเซลล์สืบพันธุ์ (อสุจิและไข่) ตัวอ่อน และสภาพบุคคลของตัวอ่อน
สถานะทางกฏหมายของเซลล์สืบพันธุ์ ตัวอ่อน มีความสำคัญต่อการพิจารณาระดับความคุ้มครองทางกฎหมาย เมื่อมีข้อพิพาท รวมถึงกรณีของผู้ใช้สิทธิดำเนินการต่อสิ่งเหล่านี้ และสิทธิของตัวอ่อนและเด็กที่อาจเกิดขึ้น
1.1 ในแง่ของทรัพย์สิน
เซลล์สืบพันธุ์ (อสุจิและไข่) เมื่อยังคงอยู่ในร่างกายไม่มีฐานะเป็นทรัพย์สิน แต่เมื่อหลุดพ้นจากร่างกายอาจถือเอาได้ จึงเป็นทรัพย์
ตัวอ่อน ถือได้ว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งตามกฎหมาย เนื่องจาก ถือเอาได้และเป็นวัตถุแห่งสิทธิ (object of right) แต่จัดได้ว่าเป็นทรัพย์นอกพาณิชย์ จึงไม่สามารถซื้อขายกันได้
ประเด็นพิจารณา
การอ้างสิทธิเหนือตัวอ่อนก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอ่อนที่ปฏิสนธินอกร่างกาย
เช่น เป็นทรัพย์ที่เป็นสินส่วนตัว หรือสินสมรส หรือกรณีการจัดการตัวอ่อนควรเป็นอย่างไร ดำเนินการได้ตามลำพังหรือต้องขอความยินยอมสองฝ่าย หรือในกรณีตกเป็นทรัพย์มรดก เป็นต้น
แม้ว่ากฎหมายไทยมีบัญญัติเรื่องทรัพย์สินไว้แล้วในกรณีต่างๆ แต่การดำเนินทางในฐานะทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเซลล์สืบพันธุ์และตัวอ่อน ยังไม่เพียงพอ และมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมในกรณีของตัวอ่อนในสถานะของสิ่งมีชีวิตและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์
1.2 ในแง่ของบุคคล
ในแง่มุมของกฎหมาย การเริ่มต้นของสภาพบุคคลเป็นเรื่องสำคัญและได้รับการคุ้มครอง โดยกฎหมายให้ความคุ้มครองทั้งชีวิตในครรภ์มารดา แต่ในการคุ้มครองของกฎหมายเริ่มต้นเมื่อไข่ผสมกับอสุจิและตัวอ่อนฝังตัวในโพรงมดลูกแล้ว โดยพิจารณาจากไม่มีข้อกำหนดความผิดในการคุมกำเนิด (เช่น การคุมกำเนิดด้วยวิธีใส่ห่วง ที่ป้องกันการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว) แต่กำหนดความผิดในการทำให้แท้งลูก ตามประมวลกฎหมายอาญา และรวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิ แม้ยังไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขที่คลอดมาและอยู่รอด ตามประมวลกฎหมายแพ่ง
ประเด็นพิจารณา
ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งเทคนิคที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย ความคุ้มครองทางกฎหมายควรดำเนินการยังคงมีช่องว่าง และในปัจจุบันควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
นอกจากประเด็นสถานะทางกฎหมายแล้ว ประเด็นที่ควรพิจารณาเนื่องจากมีข้อถกเถียงที่เกิดจากสัญญาให้ หรือซื้อขาย โดยเทียบกับการขายอวัยวะมนุษย์ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ ทั้งนี้เนื่องจากการซื้อขายอวัยวะขัดต่อกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสังคม แต่จากข้อยกเว้นในส่วนประกอบบางอย่างของร่างกายที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ทดแทนได้ และมิได้ลดคุณค่าหรือความเป็นมนุษย์ลง สามารถให้ซื้อขายได้ เช่น ซื้อขายผม น้ำนม
ขณะนี้ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ในบางกรณีใช้อสุจิจากการบริจาค ซึ่งมักจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ในกรณีใช้ไข่จากการบริจาค ซึ่งหญิงผู้บริจาคอาจได้รับความเจ็บปวดหรือไม่สะดวกต่างๆ จากกระบวนการ ซึ่งผู้บริจาคควรได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน ในทางปฏิบัติอาจมีการซื้อขายทางอ้อม โดยจ่ายเงินเป็นค่าชดเชยความไม่สะดวกและความเสี่ยง
ประเด็นพิจารณา
ข้อยกเว้นตามกฎหมายสามารถปรับใช้กับเซลล์สืบพันธุ์ด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุที่เป็นส่วนที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นทดแทนได้ แต่ในกรณีคุณค่าของความเป็นมนุษย์จะมีข้อพิจารณาอย่างไร และสำหรับสัญญาซื้อขาย หรือการซื้อขายทางอ้อม สมควรได้กระทำได้หรือไม่ และหากอนุญาตให้ทำได้ จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นด้วยหรือไม่ ควรมีข้อกำหนดในเรื่องนี้อย่างไร