อุ้มบุญ (19) ปัญหากฎหมายในความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่เกิดขึ้น (ต่อ)

ในความสัมพันธ์ระหว่าง คู่สัญญา ซึ่งก็อาจแบ่งออกได้อีกหลายสถานการณ์ตามแต่ว่าคู่สัญญามีคู่สมรสหรือไม่

เมื่อคู่สมรสไม่ให้ความยินยอมย่อมมีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสถานการณ์ กล่าวคือ การไม่ให้ความยินยอมโดยคู่สมรสของผู้ว่าจ้าง ไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นเหตุในการฟ้องหย่าได้ แต่อาจเกิดปัญหาในการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเนื่องจากต้องอาศัยความยินยอมของคู่สมรส

อย่างไรก็ตามการปฏิเสธความยินยอมโดยคู่สมรสของหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน แม้มิใช่เป็นเรื่องที่ภริยาจำต้องขอความยินยอมตามกฎหมายก็ตาม ก็อาจเป็นเหตุให้สามีอ้างเพื่อฟ้องหย่าได้ตามปพพ.มาตรา 1516(2)และ(6)เนื่องจากอาจมองได้ว่าเป็นการทำให้ต้องอับอาย มีภาระเพิ่มเติมในฐานะบิดาตามกฎหมาย อีกทั้งสามียังมีสิทธิฟ้องปฏิเสธการเป็นบิดาได้ด้วย

สำหรับกรณีที่ผู้ว่าจ้างไม่มีคู่สมรส แต่ผู้รับตั้งครรภ์มีสามี แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติของไทย แต่หากผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของอสุจิซึ่งทำให้หญิงผู้รับจ้างตั้งครรภ์ ชายผู้ว่าจ้างก็ย่อมไม่เข้าข่ายเป็นชู้กับหญิงดังกล่าว เพราะปราศจากองค์ประกอบเรื่องการร่วมประเวณี

ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างมีคู่สมรส แต่หญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนไม่มีคู่สมรส ในแง่ของความสะดวกก็คือตัดปัญหาเรื่องความยินยอมของคู่สมรสของผู้รับตั้งครรภ์

สถานการณ์สุดท้ายซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างปราศจากคู่สมรส หญิงผู้รับจ้างตั้งครรภ์มีฐานะเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคู่สัญญาผู้เป็นชายหรือหญิงฝ่ายผู้ว่าจ้างแม้จะเป็นบิดาหรือมารดาทางพันธุกรรมตามลำดับต่างก็ไม่อาจจดทะเบียนรับรองบุตรได้ แม้หญิงผู้รับตั้งครรภ์จะให้ความยินยอมก็ตาม เนื่องจากมาตรา1548 มุ่งการจดทะเบียนรับรองบุตรสำหรับบิดาที่รับรองเด็กที่เกิดจากหญิงที่เป็นภรรยาของตนผู้คลอดเด็กเท่านั้น จึงไม่ครอบคลุมถึงกรณีการอุ้มบุญแต่อย่างใด

ดังนั้นการอนุญาตให้ผู้ว่าจ้างซึ่งปราศจากคู่สมรสทำสัญญาให้มีการรับตั้งครรภ์แทนได้นั้น จะเกิดความไม่เหมาะสมและอาจกระทบผลประโยชน์ของเด็กเองแล้ว ยังก่อให้เกิดความยุ่งยากทางกฎหมายเพิ่มเติมอีกด้วย จึงสมควรตัดสถานการณ์ดังกล่าว

ในความสัมพันธ์ระหว่างเด็กที่เกิดมากับบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนซึ่งคลอดทารกจะเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1546และมาตรา 1536 ดังนั้นการอุ้มบุญย่อมก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อนว่าผู้ว่าจ้างซึ่งประสงค์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กไม่มีฐานะเป็นบิดา มารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และจำต้องดำเนินขั้นตอนที่ยุ่งยากต่างๆตามกฎหมายเพื่อให้ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง และอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหากต้องอ้างสิทธิขัดแย้งในการเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองกับหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและผลประโยชน์ของเด็กจึงควรปรับปรุงกฎหมายให้รองรับสถานการณ์ซับซ้อนเหล่านี้

สำหรับบิดาของเด็กนั้น หากหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนมีคู่สมรส กฎหมายสันนิษฐานตามมาตรา 1536 ว่าสามีเป็นบิดาของเด็กโดยเฉพาะเมื่อมีการให้ความยินยอมไว้ แต่หากปราศจากความยินยอมสามีก็มีสิทธิฟ้องปฏิเสธการรับบุตรได้ ส่วนกรณีที่หญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนมิได้มีคู่สมรส เด็กมีฐานะเป็นบุตรนอกสมรสโดยมิได้มีความผูกพันกับชายผู้เป็นต้นกำเนิดทางพันธุกรรมหรือผู้บริจาคอสุจิ ดังนั้นในปัจจุบันไม่ว่ากรณีใดก็ตามชายผู้ประสงค์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งเป็นฝ่ายผู้ว่าจ้างตามกฎหมายไทยแล้วย่อมไม่อาจรับรองเด็กเป็นบุตรได้ นอกจากการเลี่ยงไปใช้กระบวนการอื่นในเรื่องการรับบุตรบุญธรรม

เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้วกฎหมายไทยยังไม่มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมและสามารถแก้ไขปัญหายุ่งยากอย่างเหมาะสมในเรื่องอุ้มบุญ เนื่องจากยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆทั้งฝ่ายที่เป็นผู้ประสงค์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือบิดามารดาทางพันธุกรรม ฝ่ายเด็ก และฝ่ายของหญิงผู้รับจ้างตั้งครรภ์แทน ในกรณีที่อนุญาตให้ใช้เทคนิคเจริญพันธุ์นี้ได้ก็สมควรพัฒนากฎหมายด้านครอบครัวให้รองรับความก้าวหน้าทางการแพทย์และเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

ก) แนวทางในการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายเปรียบเทียบ

โดยทั่วไปมีหลักกฎหมายที่วางข้อสันนิษฐานเรื่องสตรีผู้คลอดทารกว่าเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่หลักการนี้อาจถูกโต้แย้งในกรณีนี้ เพราะในกรณีนี้มีการตกลงกันว่าจะมอบทารกให้แก่ผู้ประสงค์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็ก ศาลใช้เกณฑ์ในการคุ้มครองผลประโยชน์ของเด็ก คือให้บุคคลที่สามารถดูแลเด็กได้อย่างดีที่สุด จึงเลือกระหว่างมารดาตามธรรมชาติกับผู้เลี้ยงดู

เฉพาะอิสราเอล เลือกนิยามความเป็นแม่ตามเกณฑ์ทางพันธุกรรมด้วยเหตุผลทางศาสนา ส่วนประเทศอื่นๆ อังกฤษ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ บัลกาเรีย และอัฟริกาใต้ ถือว่าสตรีผู้ให้กำเนิดเป็นมารดาของเด็ก โดยคำนึงถึงสำนึกเรื่องเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุผลทางจริยธรรม ประวัติศาสตร์และทางปกครอง

โดยสรุปแล้วกฎหมายส่วนใหญ่ของนานาชาติยึดหลักว่าหญิงซึ่งคลอดทารกเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก โดยมีข้อยกเว้นให้หญิงที่เป็นเจ้าของไข่เป็นมารดาได้สำหรับกรณีของการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ส่วนชายผู้เป็นสามีของหญิงผู้คลอดทารกก็เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย แต่กรณีของการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ความยินยอมของสามีเป็นเงื่อนไขหลักในการยืนยันการเป็นบุตรโดยชอบของสามีซึ่งไม่อาจปฏิเสธความเป็นบิดาได้ในกรณีนี้ นอกจากนี้ประเทศส่วนใหญ่วางหลักกฎหมายไว้เพื่อตัดสิทธิความเป็นบิดาหรือมารดาทางพันธุกรรมสำหรับผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างสิทธิความเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กโดยผู้บริจาคและในทางกลับกันเพื่อคุ้มครองผู้บริจาคมิให้ถูกเรียกร้องความรับผิดชอบในภาระต่างๆของเด็กที่เกิดมา โดยกฎหมายเหล่านี้ล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก และมีวัตถุประสงค์จะบรรเทาความยุ่งยากอันอาจเกิดขึ้นจากการเรียกร้องสิทธิระหว่างฝ่ายต่างๆผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

ง) ข้อเสนอสำหรับประเทศไทย

ควรใช้แนวทางของกฎหมายต่างประเทศซึ่งแม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดแต่รับหลักการร่วมกันหลายประการโดยเฉพาะในเรื่องการยอมรับให้บิดา มารดาทางพันธุกรรมเป็นบิดา มารดาผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ ทั้งนี้จะต้องมีกฎหมายพิเศษรองรับหลักการดังกล่าวขึ้น เนื่องจากการเป็นบิดา มารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นวางหลักให้หญิงที่เป็นผู้คลอดทารกเป็นมารดาและสามีของหญิงนั้นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีสิทธิใช้อำนาจปกครองได้เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนว่าเด็กที่เกิดมามีใครเป็นบิดา มารดาทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นกฎหมายควรกำหนดยอมรับความเป็นบิดา มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายให้ตรงกับบิดา มารดาทางพันธุกรรมซึ่งจะเป็นหลักการที่ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผล ส่วนสถานะของหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนนั้น แม้ว่าจะเป็นหญิงที่เป็นผู้คลอดทารก แต่ความประสงค์ของหญิงผู้รับตั้งครรภ์เป็นเพียงการรับตั้งครรภ์แทนเท่านั้น มิได้มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองและรับภาระเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมา ด้วยเหตุนี้กฎหมายพิเศษจึงควรมีข้อกำหนดแก่หญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนให้มีข้อจำกัดในการใช้อำนาจปกครองและความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างหญิงผู้รับตั้งครรภ์ กับทารกที่คลอด

แนวทางดังกล่าวย่อมช่วยในการแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากโดยเฉพาะในกรณีอุ้มบุญซึ่งผู้ประสงค์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง และไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงไปใช้กระบวนการรับบุตรบุญธรรม หรือการแจ้งเท็จเกี่ยวกับสถานะของตนอีกต่อไป