อุ้มบุญ (15) ปัญหากฎหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เพื่อการปฏิสนธิเทียมและแนวทางแก้ไข (ต่อ)

สำหรับประเทศที่ห้ามการซื้อขายอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายโดยถือเป็นอาชญากรรม การห้ามจะครอบคลุมเรื่องการซื้อขายเชื้ออสุจิ ไข่ ตลอดจนตัวอ่อนด้วยหรือไม่ คำตอบขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์นิยามของคำว่าอวัยวะมนุษย์ซึ่งอาจมีความชัดเจนมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละกรณีศึกษา นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกว่าหากวัตถุประสงค์มิใช่เพื่อการปลูกถ่ายจะเข้าข้อห้ามด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติมีช่องโหว่ในการบังคับใช้พอสมควร เช่น อาจจ่ายค่าชดเชยให้ผู้บริจาคในฐานะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเสียเวลาในการทำงาน

ข) ข้อเท็จจริงกรณีของประเทศไทย

การบริจาคเชื้ออสุจิสำหรับเทคนิคนี้เป็นไปโดยปราศจากค่าตอบแทน โดยเป็นการรับบริจาคเชื้อของ(นักศึกษา)แพทย์ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลในสังคมที่มีศักยภาพด้านสติปัญญาและความสามารถสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของประชาชนคนไทย และคัดจากผู้มีลักษณะทางกายภาพที่สอดคล้องกับคู่สมรสที่ต้องการใช้เทคนิคนี้

ตามประกาศของแพทยสภาที่ 21/2545 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์(ฉบับที่2) ข้อ4/2(1) (ข) กรณีคู่สมรสต้องการมีบุตรโดยภริยาเป็นผู้ตั้งครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอาจให้บริการโดยรับบริจาคตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์และตามข้อ 4/2(3) การให้บริการต้องไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้บริจาคเซลสืบพันธุ์ในลักษณะที่เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อขาย และมีเอกสารแนบท้ายฉบับที่ 3 เป็นแบบหนังสือแสดงความยินยอมรับอสุจิหรือไข่บริจาค ดังนั้นจากเอกสารทั้งสองฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า วงการแพทย์ไทยมีการยอมรับบริจาค เชื้ออสุจิ ไข่ รวมทั้งตัวอ่อนเพื่อใช้กับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ได้ เพียงแต่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตามแบบความยินยอมท้ายประกาศข้างต้นต้องถูกเก็บเป็นความลับและไม่อาจเปิดเผยได้

ในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อขาย อสุจิและไข่ แม้ตามกฎหมายไทยร่างกายหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของมนุษย์มิใช่ทรัพย์ที่ซื้อขายกันได้เพราะขัดกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสังคม นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะตามปพพ. มาตรา 150 แต่มีข้อยกเว้นในเรื่องส่วนประกอบบางอย่างของร่างกาย เช่น เส้นผม น้ำนมและเลือดที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นใหม่ทดแทนได้ อีกทั้งการซื้อขายมิได้เป็นการลดคุณค่าหรือความสามารถในการเป็นมนุษย์ไป ดังนั้นจึงยังเป็นปัญหาว่าจะนำเหตุผลของข้อยกเว้นนี้มาปรับใช้กับกรณีของไข่และอสุจิได้หรือไม่ เพราะแม้จะเป็นส่วนของร่างกายที่ผลิตทดแทนได้ แต่ก็มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการปฏิสนธิของมนุษย์และเป็นต้นกำเนิดของมนุษยชาติ

ในกรณีของตัวอ่อนซึ่งปฏิสนธิแล้ว ปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อยยิ่งเด่นชัดขึ้นอีกระดับหนึ่งเนื่องจากศักยภาพในการพัฒนาเป็นมนุษย์ของตัวอ่อนอยู่ในขั้นที่ก้าวหน้ามาก อย่างไรก็ตามกฎหมายที่มีอยู่ยังขาดความชัดเจน จึงต้องตีความเพื่อกำหนดขอบเขตการให้ความคุ้มครองตัวอ่อนอย่างเหมาะสม หากมองในด้านของสถานภาพของสิ่งที่มีศักยภาพเป็นมนุษย์ในสังคมพุทธเช่นประเทศไทยโดยหลักการแล้วก็น่าจะเข้าข่ายการเป็นเรื่องที่ต้องห้ามและขัดต่อความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

ค) แนวทางแก้ไขตามกฎหมายเปรียบเทียบ

ประเทศส่วนใหญ่แม้จะไม่ห้ามการบริจาค แต่ก็มีข้อห้ามชัดเจนเรื่องการซื้อขายตัวอ่อน

ง)ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย

เพื่ออุดช่องโหว่ของกฎหมายในเรื่องนี้ควรออกกฎหมายคุ้มครองสถานะของตัวอ่อนให้ชัดแจ้ง และหากจะอนุญาตให้มีการบริจาคได้ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขอย่างละเอียดและเคร่งครัดในการดำเนินการเพื่อป้องกันการซื้อขายแอบแฝง

2. ปัญหาเรื่องการจัดการ (ใช้ เก็บรักษา การคัดเลือก ทดลองและการกำจัด)ตัวอ่อนและการคัดเลือกทางพันธุกรรม

เมื่อมีส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ตัวอ่อนเพื่อนำไปปลูกฝังในโพรงมดลูกแล้ว ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือการดำเนินการกับตัวอ่อนเหล่านี้ ซึ่งเมื่อยอมรับกันว่าตัวอ่อนมีสถานะทางกฎหมายบางประการที่สมควรได้รับการคุ้มครอง การจัดการต่างๆกับตัวอ่อนก็ย่อมต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมดังจะได้วิเคราะห์ปัญหาเพื่อเสนอแนะแนวทางต่อไป