อุ้มบุญ (6) สถานการณ์และสภาพปัญหาของการปฏิสนธิเทียม (ต่อ)

ดังเคยมีรายงานทางการแพทย์ (อ้างถึงรายงานของ Hansen, M., Kurinczuk, J. J., Bower, C. & Webb, S. New Engl. J. Med. 346, pp. 725-730 (2002)) ที่กล่าวถึงความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยี IVF และ ICSI (intracytoplasmic sperm injection)ว่า เด็กที่เกิดด้วยวิธี IVF ร้อยละ 9 (จำนวน 75 ราย จากจำนวนทั้งหมด 837 ราย) และเด็กที่ใช้ ICSI ร้อยละ 8.6 (จำนวน 26 จากจำนวนทั้งหมด 301 ราย) พบว่า มีความผิดปกติเมื่อคลอดออกมา หรือตรวจพบความผิดปกติหรือความสัมพันธ์กับโรคบางอย่าง6   เพราะฉะนั้นในการใช้ความรู้จากวิทยาศาสตร์การแพทย์ซึ่งอาจมีทั้งคุณและโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงข้อพิจารณาด้านต่างๆให้ครบถ้วนจึงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อสังคมและมนุษยชาติ

3. ผลกระทบต่อสังคมและกฎหมาย

เนื่องด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ความเป็นมนุษย์” และ “การดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์” อย่างยิ่ง ดังนั้นการที่สามี ภรรยาคู่หนึ่งตัดสินใจพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ดังกล่าว เพื่อช่วยก่อกำเนิดทารกอันเป็นทายาทของตนนั้น จึงมิใช่กรณีที่จะส่งผลอันจำกัดแต่เฉพาะครอบครัวสามีภรรยาคู่นั้นเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบไปสู่สังคมโดยรวม และหมายความรวมถึงสถาบันทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่มีต่อสังคมอาจมีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่เป็นโทษ โดยหากสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อพัฒนา สนับสนุน และเกื้อกูลสังคมของ “ความเป็นมนุษย์” และ “การดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์” ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ย่อมจะทำให้สังคมครอบครัวมีความอบอุ่น เข้มแข็ง ซึ่งย่อมส่งผลต่อความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมโดยรวมด้วย แต่หากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมิได้คำนึงถึงขอบเขตความเหมาะสมซึ่งยืนอยู่บนพื้นฐานเพื่อการบำบัดรักษาความบกพร่องของสามีภรรยาผู้ต้องการมีบุตรแล้ว ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมเช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการลดคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ที่ไม่มีการควบคุมที่เหมาะสมต่อสังคมนั้น อาจกระทบต่อสถานะความเป็นบิดามารดาและบุตร กล่าวคือ การกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาและบุตรนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งย่อมประกอบขึ้นด้วยกระบวนการปฏิสนธิและการให้กำเนิดที่เป็นไปตามกระบวนการตามธรรมชาติ บิดามารดาเป็น ผู้ถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม และมารดาเป็นผู้อุ้มครรภ์และให้กำเนิด แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถนำเอาเชื้อพันธุ์ของชายและหญิงออกมาทำการปฏิสนธิได้ภายนอกร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาคือ หากเชื้อพันธุ์ที่ใช้ในการปฏิสนธิเทียมนั้นมิใช่ของสามีและภรรยา กล่าวคือ เป็นเชื้อพันธุ์ที่ได้จากการบริจาค เด็กที่กำเนิดขึ้นมาจะเป็นบุตรโดยชอบของใครปัญหาจะทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นหากเป็นกรณีมารดาอุ้มบุญ ซึ่งจะกลายเป็นการชั่งน้ำหนักหรือการให้ความสำคัญระหว่างลักษณะทางพันธุกรรมที่เด็กคนนั้นได้รับจากเจ้าของเชื้อพันธุ์ และการอุ้มครรภ์ ซึ่งรวมถึงการดูแลขณะตั้งครรภ์ และการให้กำเนิดว่าใครจะเป็นบิดามารดาที่แท้จริงโดยเฉพาะทางฝ่ายมารดาที่เป็นเจ้าของเชื้อพันธุ์และมารดาผู้อุ้มครรภ์

การใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ดังกล่าว หากมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบำบัดรักษาความบกพร่องทางกายภาพของคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีบุตรแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย อาทิ บุคคลรักร่วมเพศต้องการมีบุตร หญิงโสดที่มิได้แต่งงานหรือมีคู่สมรสต้องการมีบุตร รวมถึงกรณีหญิงต้องการมีบุตรโดยที่คู่สมรสได้เสียชีวิตไปก่อนหน้าแล้ว และกรณีคู่สมรสที่ไม่สามารถมีความสัมพันธ์กันได้ตามปกติ เช่น คู่สามีภรรยาที่อยู่ห่างกันโดยระยะทาง หรือกรณีที่คู่สมรสได้รับโทษจำคุกในเรือนจำ โดยจะเห็นได้ว่ากรณีทั้งหลายข้างต้นมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาความผิดปกติในการมีบุตรของคู่สมรส แต่กลับตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ความต้องการ” มีบุตรเท่านั้น

นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ยังสามารถกำหนดลักษณะรวมทั้งเพศของเด็กที่จะเกิดขึ้นได้ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพันธุกรรม” ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบตามมา หากการคัดเลือกดังกล่าว มิได้เพียงมุ่งประสงค์เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเท่านั้น แต่ยังก้าวไปไกลจนถึงการกำหนดคัดเลือกคุณลักษณะ สติปัญญาของเด็กที่จะเกิดมาด้วย ซึ่งถือเป็นการท้าทายต่อธรรมชาติแห่งความแตกต่างของมนุษย์อย่างยิ่ง

จากประเด็นการคัดเลือกพันธุกรรมดังกล่าว กรณีจะเป็นอย่างไร หากเด็กที่เกิดขึ้นมิได้เป็นไปตามความคาดหวังไว้ กล่าวคือ มีคุณลักษณะที่ด้อย หรือมีร่างกายที่พิการ หรือมีสติปัญญาที่ไม่สมประกอบ ซึ่งอาจไม่เป็นที่ต้องการของคู่สมรส และมารดาอุ้มครรภ์แทนด้วย เด็กผู้นั้นย่อมต้องตกเป็นภาระในการอุปการะของรัฐตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและการฟ้องร้องเป็นคดีความ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องแพทย์ผู้ทำการปฏิสนธิเทียมให้คู่สมรส รวมทั้งระหว่างคู่สมรสกับหญิงที่อุ้มครรภ์แทนด้วย

สำหรับผลกระทบที่มีต่อกฎหมายนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ ผลกระทบที่มีต่อการปรับใช้กฎหมายปัจจุบัน และกฎหมายที่จะต้องบัญญัติเพื่อรองรับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ในอนาคต

สำหรับกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิสนธิและการให้่กำเนิดตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป้นการกำหนดสถานะของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของบุตรความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร ดังปัญหาทั้งหลายที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นอาทินั้น ต่างแสดงให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมและไม่สามารถปรับใช้ได้ของกฎหมายที่มีอยู่ประกอบกับยังไม่มีกฎหมายเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้ดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม ชอบด้วยศีลธรรมและเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งการเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อช่วยบำบัดรักษาความผิดปกติในการเจริญพันธู์ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคงและเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวผลกระทบดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายในเรื่องนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้7 ดังตัวอย่างของต่างประเทศที่แม้มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไปบ้างแต่ก็บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะสำหรับรองรับความก้าวหน้าทางการแพทย์8

———————————————–

6 กรุณาดูรายละเอียดของผลของรายงานการศึกษาอื่น ๆ ใน WINSTON, Robert M.L. and HARDY, Kate, “Are we ignoring potential dangers of in vitro fertilization and related treatment?” (in fertility supplement to Nature Cell Biology & Nature Medicine) (Nature Publishing Group, October 2002), pp.14-18.

7 Alexander N.HECHT,”The Wild Wild West: Inadequate regulation of assisted reproductive technology”, Houston Journal of Health Law and Policy, 2001, pp.227-232.

8 Kathryn VENTURATOS LORIO,” The process of regulating assisted reproductive technologies: What we can learn from our neigbors: what translates and what does not.”, Loyola Law Review, Summer, 1999,pp.247-268.