อุ้มบุญ (4) บทนำ

จริยธรรมและขอบเขตในการดำเนินการ อีกทั้งยังสร้างปัญหากฎหมายที่ซับซ้อนซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ไม่อาจแก้ไขได้อย่างเหมาะสมเพราะมิได้ครอบคลุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ในเรื่องนี้เพราะฉะนั้นประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคมโลกและติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างใกล้ชิดจึงมิอาจหลีกเลี่ยงการเผชิญปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ จึงจำต้องศึกษาปัญหาดังกล่าวทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหายุ่งยากโดยเฉพาะปัญหากฎหมายที่อาจเกิดขึ้นซึ่งรวมถึงเรื่องสิทธิและหน้าที่ต่างๆที่มีเพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากกรณีของการให้กำเนิดเด็กตามธรรมชาติ โดยในตอนแรกมุ่งพิจารณาสถานการณ์ของการปฏิสนธิเทียมโดยอาศัยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ทั้งในแง่ของวิธีการทางการแพทย์ที่ใช้กันอยู่ รวมทั้งผลกระทบด้านต่างๆที่ตามมา ตลอดจนขอบเขตที่สมควรนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย ก่อนที่จะวิเคราะห์ปัญหากฎหมายต่างๆที่เกิดจากการปฏิสนธิเทียมในตอนที่สอง เพื่อให้ทราบถึงสภาพปัญหา ประเด็นปัญหากฎหมายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนากฎหมายให้รองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ โดยเปรียบเทียบและใช้บทเรียนจากต่างประเทศประกอบข้อเสนอแนะตามลำดับ

ตอนที่1

สภาพการณ์ของการปฏิสนธิเทียม หลักการรวมทั้งเหตุผลทางกฎหมายของข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งเรื่องความเหมาะสมในการใช้วิธีการปฏิสนธิเทียมโดยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์

ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความก้าวหน้าจนถึงขั้นสามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิเทียมโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์จะมีบุตรแต่มีข้อจำกัดหรือความบกพร่องทางร่างกายให้มีบุตรได้ตามความปรารถนา อย่างไรก็ตามการปฏิสนธิเทียมก็เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและความขัดแย้งในหลายประเด็น ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดของมนุษย์ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและความพร้อมทางร่างกายของชายและหญิงเพื่อนำไปสู่การสร้างครอบครัวอันเป็นสถาบันรากฐานของสังคม ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์เพื่อช่วยให้กำเนิดทารกจึงเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธรรมชาติและผลที่ตามมาย่อมกระทบบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ สถาบันครอบครัว รวมถึงสังคมและมนุษยชาติโดยรวมด้วย

นอกจากนี้การปฏิสนธิเทียมยังก่อให้เกิดการถกเถียงในเรื่องความเหมาะสมทางจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว และที่สำคัญคือทำให้กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่างๆซึ่งบัญญัติไว้สำหรับกรณีการกำเนิดตามธรรมชาติไม่อาจนำมาปรับใช้ได้อย่างเพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีนี้อันเป็นเหตุให้มีการพัฒนาและปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ให้สามารถรองรับปัญหาได้ในประเทศที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินการในอีกหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยซึ่งเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีและวิธีการที่ใช้ ดังนั้นจึงควรวิเคราะห์สถานการณ์และสภาพปัญหาของการปฏิสนธิเทียมโดยการศึกษาวิธีการต่างๆที่นำมาใช้ สาเหตุและความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์มาใช้ ตลอดจนผลกระทบต่อสังคมและกฎหมาย ก่อนที่จะพิจารณาหลักการต่างๆทางกฎหมายที่ทั้งสนับสนุนและคัดค้านการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์เพื่อการปฏิสนธิเทียม รวมถึงกรณีต่างๆที่มีการโต้แย้งกันเรื่องความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปเรื่องความเหมาะสมรวมทั้งขอบเขตในการนำเทคโนโลยีเจริญพันธุ์มาใช้ในประเทศไทย

 

————————————————————

1 Lori B. ANDREWS, Nanette ELSTER,”Regulating reproductive technologies”, Journal of Legal Medicine,March, 2000, pp.35-44.