1. วันที่ 23 กันยายน 2547 เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ พ.ศ. … จัดทำโดยคณะอนุกรรมาธิการการพิจารณาศึกษายกร่างกฎหมายอนามัยการเจริญพันธุ์ ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ร่วมจัดโดยชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยและ Planned Parenthood Federation of America-International (PPFA-I) โดยการประชุมเป็นการนำเสนอร่างพรบ.อนามัยเจริญพันธุ์ และขอความคิดเห็นจากที่ประชุม
ร่างพรบ.การคุ้มครองอนามัยเจริญพันธุ์ที่จัดทำขึ้นนี้ แบ่งออกเป็น 6 หมวด ได้แก่
1) สุขอนามัยวัยเจริญพันธุ์
2) สุขภาพทางเพศ
3) การตั้งครรภ์และการคลอด
4) เพศศึกษา
5) การคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว
6) เทคโนโลยีด้านการเจริญพันธุ์
ในหมวดที่ 6 จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการชีวจริยธรรมฯ ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการได้ยกร่างแล้ว สาระสำคัญจะเน้นไปที่การตั้งครรภ์แทน รวมถึงการใช้เซลล์สืบพันธุ์ที่ได้รับจากผู้อื่น โดยอนุญาตให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ แต่ต้องได้รับการตรวจเพื่อประเมินความพร้อมทั้งทางด้านสุขภาพกาย ใจ และปัจจัยแวดล้อมทางสังคม และห้ามมิให้มีการทำเชิงพาณิชย์
ที่ประชุมได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่มีเห็นตรงกันว่าในครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นในการร่าง ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องปรับปรุงรวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นจากสังคมหลายๆกลุ่ม ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการจะดำเนินการต่อไป
2. วันที่ 22 ธันวาคม 2547 เข้าร่วมเสวนาวิชาการเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. …. โดยสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) การร่างพรบ. ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิของเด็กที่เกิดมาจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเน้นการห้ามมิให้มีการกระทำแต่ก็มีการเปิดช่องว่างให้มีการใช้เทคโนโลยีได้ตามสมควรโดยจะต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในกรณีการรับตั้งครรภ์แทนจะอนุญาตให้เฉพาะคู่สามีภรรยาที่มีปัญหาและต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทน ผู้ที่มารับตั้งครรภ์แทนต้องมีบุตรมาก่อนและผ่านการเห็นชอบ แต่ไม่อนุญาตให้นำไข่หรืออสุจิบริจาคมาใช้ สำหรับการวิจัยตัวอ่อน ห้ามมิให้มีการทำสำเนามนุษย์ รวมไปถึงห้ามมิให้มีการจำหน่าย ซื้อ ขาย เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า
ที่ประชุมมีการอภิปรายกันในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคณะกรรมการเพื่อการควบคุมดูแลการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นการแต่งตั้งตามกฎหมายและเป็นการตั้งโดยคณะกรรมการเป็นไปโดยตำแหน่ง ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า คณะกรรมการดังกล่าวอาจจะไม่มีความรู้เพียงพอ ควรพิจารณาให้ทางแพทยสภาหรือราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ เข้ามาดูแลเรื่องนี้แทน โดยกำหนดตามกฎหมายให้การสนับสนุนด้านงบประมาณน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า ซึ่งทางคณะทำงานได้รับจะนำไปปรับปรุงและนำเสนอในการเสวนา เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากสังคมครั้งต่อๆไป
จากการที่มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว ทางโครงการชีวจริยธรรมฯ จึงได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่สนใจเหล่านี้มาเข้าร่วมประชุมเวทีภาคีพัฒนาชีวจริยธรรมกับการวิจัยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในสังคมไทย เพื่อนำเสนอการทำงานและร่วมกันหาแนวทางการทำงานต่อไป