ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา กับการเรียนรู้ (2)

เป็นเรื่องที่เราต้องการให้สังคมรับรู้ คือ ในเรื่องของการอบรมกล่อมเกลาเด็กว่า เราต้องการสร้างตัวอย่างที่ดีให้มากกว่านี้เพื่อสมองของเด็กจะได้เลียนแบบส่วนเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ คือส่วนที่เรานำเสนอปัญหาจริยธรรมที่รุนแรงมาก และได้ค้นพบว่า ในเด็กหลังคลอดเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่ได้ แสดงว่าเซลล์กระจกเงามีอยู่ในมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตายเพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในเด็กก็ต้องคำนึงถึงการลอกเลียนแบบโดยเซลล์กระจกเงา

การที่เราเลือกจะทำตามบางเรื่อง หรือปฏิเสธบางเรื่องได้นั้นเป็นการทำงานของเซลล์สมองส่วนนั้นที่ทำหน้าที่ในการใช้เหตุผลและตัดสินใจ ซึ่งมีอิทธิพลต่อเซลล์กระจกเงาอีกทีหนึ่ง แต่สมองส่วนนี้จะเติบโตและทำงานได้อย่างเต็มที่ ก็ล่วงเข้าอายุ 20 ปีไปแล้ว ก็หมายความว่าในวัยเด็กนั้นเซลล์กระจกเงาจะมีอิทธิพลต่อการลอกเลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่นั่นเอง

ส่วนความผิดปกติของเซลล์กระจกเงา ที่อาจพบได้คือ ความผิดปกติของเซลล์กระจกเงา คือสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคออทิสติก ปัญหาเด็กออทิสติกเป็นปัญหาที่ยังรอการแก้ไข โดยเด็กที่ป่วยด้วยโรคนี้จะมีความบกพร่อง 3 ประการด้วยกันคือ พัฒนาการทางสังคมผิดปกติไป ผู้ป่วยโรคนี้จะหมกมุ่นอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ ทำให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ตามมา พัฒนาการทางด้านการสื่อความหมายผิดปกติ เช่น ไม่ค่อยพูด พูดแต่เรื่องเดิม ๆ หรือพูดด้วยภาษาที่แปลกประหลาด มีพฤติกรรมสนใจในเรื่องซ้ำ ๆ พฤติกรรมทั้งหมดนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องเซลล์กระจกเงาพบว่า เซลล์กระจกเงาของเด็กที่เป็นโรคออทิสติกทำงานน้อย หรือไม่ทำงานเมื่อเทียบกับเด็กทั่ว ๆ ไป

เซลล์กระจกเงา ทำหน้าที่ในการสั่งการให้ระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายให้ทำงาน ดังนั้น จึงส่งผลต่อการกระตุ้นให้สมองส่วนที่เกิดภาวะอัมพาตให้มีการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโรคนี้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตโดยการใช้วีดีโอที่แสดงการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนที่เป็นอัมพาตเพื่อกระตุ้นเซลล์กระจกเงา โดยการเปิดวีดีโอดังกล่าวให้ผู้ป่วยดูแล้วทำตามเซลล์กระจกเงาจะไปกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการทำงานซึ่งผลที่ได้ก็คือ ผู้ป่วยฟื้นจากอาการอัมพาตได้เร็วกว่าธรรมดา โครงการวิจัยนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ถ้าได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยอัมพาตในประเทศไทย

การเรียนรู้เรื่อง เซลล์กระจกเงา ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนวิธีการทำงาน ทำให้เราเดินเข้าไปหาคำตอบใหม่ ๆ ในปัญหาเดิม ๆ ที่เราพบเจออยู่ การเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ทำให้เข้าใจคนไข้ทางด้านสมองจาก “มองเห็นไปสู่กระบวนการเรียนรู้” จากงานวิจัยของสภาวิจัยมีการศึกษาเรื่องนี้ นำมาสู่การรักษาผู้ป่วยอัมพาต กล่าวคือ ให้ผู้ป่วยดูและสังเกตภาพจากวีดีทัศน์เพื่อฟื้นฟู พบว่าการดูและการสังเกตแบบนี้ ทำให้ “ผู้ป่วยหายจากอัมพาตได้เร็วกว่าวิธีการฟื้นฟูแบบดั้งเดิม” ซึ่งเป็นรายงานชิ้นที่ 3 ของโลก และเป็นชิ้นแรกของประเทศไทย โดยคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลดีเด่นจากสภาวิจัยแห่งชาติ ในขณะนี้กลุ่มนี้ยังทำการศึกษาฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กสมองพิการ โดยใช้หลักการทำงานของเซลล์กระจกเงา และกำลังทำต้นแบบเรื่องการเคลื่อนไหวอยู่ และ การเข้าใจผู้อื่นทำให้เราเข้าใจตัวเองและนำมาสู่สัมพันธภาพ เช่นการศึกษาในเด็กพิเศษทำให้เข้าใจชัดเจนว่ามีส่วนเกิดจากเซลล์กระจกเงา นั่นเอง

นำองค์ความรู้เรื่องนี้มาใช้ “พัฒนาพฤติกรรมมนุษย์” ได้ เช่น ในการพัฒนาการเด็กในโรงเรียนอนุบาล ครูเป็นอย่างไรเด็กเป็นอย่างนั้น เด็กเลียนแบบจากต้นแบบที่เขามองเห็น เราสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม พัฒนาการเรื่องภาษา เช่น เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรม เด็กเห็นเกิดความเข้าใจในเจตนา เกิดการซึมซับและปฏิบัติตามเป็นแบบอย่าง อย่างนี้เป็นต้น

“มนุษย์เรียนรู้ภาษาจากการเห็นไม่ได้เริ่มต้นจากไวยากรณ์” เกิดความเข้าใจในเจตนา นำมาสู่การพัฒนาการเด็ก ด้านภาษา ซึ่งหนังสือเล่มแรกนำการเล่านิทานการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีเซลล์กระจกนี้ได้อย่างชัดเจน

เซลล์กระจกเงาจึงเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาการของการเข้าใจมนุษย์ เช่น วงการโฆษณานำมาใช้ บริษัทไทยประกันชีวิตเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นตัวการให้เกิดความจงรักภักดีต่อสินค้า ในงานวิจัยทางด้านการตลาด

ส่วนการนำทฤษฎีเซลล์กระจกเงามาใช้ในการพัฒนาเด็กไทย โดยเฉพาะพฤติกรรมการเลียนแบบของเด็กที่เกิดขึ้น จากการทำงานของเซลล์กระจกเงาในตัวเด็กเอง ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในสังคมมีทักษะในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ “คำพูด” ในการสั่งสอนลูกก็จะเกิดประโยชน์เพราะเซลล์กระจกเงา จะทำงานได้ดีเมื่อลูกเห็นพฤติกรรมของพ่อแม่เซลล์กระจกเงาสามารถที่จะสะท้อนสิ่งที่ดีแล้วซึมซับเข้าไปเป็นลักษณะนิสัยของตัวเด็กเอง ประโยชน์ของทฤษฎีนี้ก็คือการทำให้เรารู้ว่าแบบอย่างที่ดีจากพ่อแม่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็ก

มองในมุมของการพัฒนาเด็กเล็ก สามารถนำองค์ความรู้เรื่องนี้ไปพัฒนายกระดับศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ การนำไปสู่นโยบายการคัดสรรพี่เลี้ยงเด็กอย่างจริงจัง มีทิศทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่นในช่วง 3 ขวบปีแรกนั้นคุณสมบัติของพี่เลี้ยงควรเป็นอย่างไร?

ลองจินตนาการดูว่าหากพี่เลี้ยงเด็กได้เข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว จะมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กผ่านสิ่งแวดล้อมที่พรั่งพร้อม พัฒนาการของเด็กไทยที่เป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่ที่ความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ทฤษฎีเซลล์กระจกเงานี้ควรได้รับการเผยแพร่ออกไปให้กว้างขวาง เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง