ระบบบริการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัยที่คลินิกสุขภาพเด็กดี

1 ใน 3 ของเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ช้าลง และ 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัยพัฒนาการด้อยลงอีกเมื่อมีอายุ 3 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญา

ข้อมูลที่น่าสนใจเราพบว่า ผลของการขาดสารอาหารในช่วงแรกของชีวิตต่อสติปัญญามีผลไปถึงตอนโต และเป็นผลกระทบในระยะยาว

เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึง 5 ปี) เป็นช่วงสำคัญต่อ “พัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก” มาก เพราะเป็นช่วงที่เด็กมีการเรียนรู้มากที่สุดในวงจรชีวิตมนุษย์ สมองของเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตและมีน้ำหนักถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ โดยมีการสร้างเครือข่ายใยสมองและพัฒนาจากจุดเชื่อมต่อระบบประสาทในช่วงวัยนี้ มากกว่าช่วงอื่นของชีวิต จึงถือว่าเป็นโอกาสทองที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้ให้มีคุณภาพ ทั้งในด้านโภชนาการ การเลี้ยงดู การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการ

เด็กเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคต

“การให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กในช่วงนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะส่งผลต่ออนาคตเด็กและสังคมโดยรวมในอนาคต มีประสบการณ์จากต่างประเทศยืนยันข้อมูลว่า การลงทุนเพื่อสนับสนุนพัฒนาการเด็กที่มีคุณภาพตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งมีความคุ้มค่ามากในอนาคต”

เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กในช่วงวัยนี้ เช่นไม่รู้ว่าจะสนับสนุนเด็กอย่างไรให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ปกครองส่วนมากไม่เข้าถึงแหล่งความรู้ เพราะสถานบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของเด็ก ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เช่นคลินิกเด็กหรือสถานีอนามัย ส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการอธิบายและแนะนำการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างถูกวิธีแก่ผู้ปกครอง

นอกจากนี้การกำหนดนัดตรวจสุขภาพเด็กของสถานบริการทางด้านสาธารณสุขเองก็ไม่ได้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก เพราะเวลาตรวจ มักอิงตามกำหนดการ การให้วัคซีนแก่เด็ก เช่นไม่มีการนัดตรวจในอายุที่ 1 ปี เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กเริ่มฝึกพูด หรือช่วงอายุ 3-5 ปี ที่พบว่าเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้ามาก แต่มีการกำหนดนัดตรวจเพียงครั้งเดียว นอกจากนี้ยังไม่มีการตรวจวัดสายตา ตรวจวัดการได้ยิน และตรวจสภาวะโลหิตจางของเด็กเหล่านี้ ทั้งที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านกาย สมอง อารมณ์ สติปัญญาของเด็กเป็นอย่างมาก ดังนี้สถานบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของเด็กเหล่านี้ ควรมีการปรับระบบการดูแลเด็กวัยนี้ให้สอดคล้องและมีคุณภาพมากขึ้น ส่วนการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการเด็กควรใช้วิธีการอ่านหนังสือ เล่านิทาน ร้องเพลง เปิดดนตรีให้เด็กฟังหรือกิจกรรมเล่นของเล่น กิจกรรมประกอบจังหวะดนตรี กิจกรรมเหล่านี้จะส่งเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมพัฒนาการด้านสมอง สติปัญญา ในเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี

ประเด็นโภชนาการเด็กที่มีแนวโน้มจะมีเด็กอ้วนมากขึ้น กรณีที่ได้รับอาหารมากเกินไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออ้วน พบว่าเด็กอ้วนจะมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบร่างกาย เช่น เดินไม่ค่อยได้ ขาโก่งหรือขากางผิดปกติ นอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ เมื่อโตขึ้นส่งผลให้ สมาธิสั้น ผลการเรียนตก หัวใจและปอดทำงานหนัก โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจถ้าอ้วนในวัยเด็กปฐมวัย จะมีความเสี่ยงที่จะอ้วนในวัยผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 30 และหากโตขึ้นจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพในอนาคต

แนวคิดการดูแลสุขภาพเด็กดีอย่างมีมาตรฐาน

รูปแบบการดูแลสุขภาพเด็กไทย แนะนำโดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำไว้ดังนี้

แนวคิดการดูแลสุขภาพเด็กดีอย่างมีมาตรฐาน

– ครอบครัวและเด็กได้รับบริการที่สำคัญ

– มีการดูแลต่อเนื่องและครบถ้วน

– การให้บริการเป็นทีม รวมตัวเด็กและครอบครัว

– การปรับบริการตามปัจจัยเสี่ยงในระดับบุคคลและชุมชน

องค์ประกอบที่สำคัญของแนวทางการดูแลสุขภาพเด็กไทย

– รวบรวมข้อมูลประจำตัวเด็กรายบุคคลในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นและสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของเด็กในระยะยาว ทั้งทางบวก และทางลบ

– เด็กได้รับการตรวจคัดกรองความเสี่ยง และปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วนและมีคุณภาพ ทั้งโดยการสังเกตหรือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับการตรวจในแต่ละระยะ

– เด็กได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายหรือความรุนแรงของโรคหรือความพิการ

– แพทย์/บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้คำแนะนำที่ครบถ้วน ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ชัดเจน ในเวลาที่เหมาะสม