การเล่นกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Free Play) ตอนที่ 2

พ่อแม่สามารถสนับสนุนให้ลูกเล่น โดยการจัดเตรียมของเล่นที่เหมาะสมกับวัย ของเล่นควรเป็นของเล่นที่เอื้ออำนวยให้เด็กได้ใช้จินตนาการมีลักษณะปลายเปิด เช่น ไม้บล็อก ตัวต่อ ชุดเครื่องครัว ชุดก่อสร้าง ชุดสัตว์ หรือของเล่นที่เป็นชุดต่าง ๆ

เด็กในแต่ละวัยสามารถเล่นอย่างอิสระได้ตามลำพัง แต่เด็กมักต้องการให้พ่อแม่เล่นและแสดงความสนใจร่วมด้วย ยิ่งอายุน้อย เด็กจะยิ่งต้องการให้พ่อแม่เล่นด้วยมากกว่าเด็กโต พ่อแม่ควรเล่นกับลูกตามแต่เวลาจะเอื้ออำนวย แต่ควรมีอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเล่นกับลูกถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันกับลูก โดยทั่วไปแล้วเมื่อลูกมีพฤติกรรมดื้อหรือเกเร พ่อแม่มักพยายามหาวิธีแก้ไขพฤติกรรมแบบใดแบบหนึ่ง บางคนใช้การคาดโทษ การดุ การด่า การงดสิทธิพิเศษ การทำงานชดใช้ หรืออื่น ๆ ส่วนใหญ่พบว่าวิธีการดังกล่าวได้ผลชั่วคราวหรือไม่ได้ผลเลย เพราะว่าพ่อแม่ลืมตระหนักถึงความต้องการพื้นฐานของเด็กไป ความต้องการพื้นฐานของเด็กก็คือ ความสนใจ ความรัก และความสัมพันธ์ที่ดีของพ่อแม่กับลูกนั่นเอง

หากพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับลูก การลงโทษหลากหลายวิธีรังแต่จะทำให้ปัญหาพฤติกรรมนั้นซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ควรเริ่มต้นด้วยการสานสัมพันธ์ที่ดีกับลูกผ่านการเล่นร่วมกับลูก

แล้วจะเล่นอย่างไร? ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

– เล่นตามเด็ก

หลายครั้งพ่อแม่มักสร้างกฎเกณฑ์ในการเล่นให้ลูก ไม่เปิดโอกาสให้ลูกคิดเอง โดยพ่อแม่เป็นผู้คิดวางแผนการเล่นเอง เช่น แม่กับลูกเล่นบ้านตุ๊กตากัน แม่จะคอยสั่งลูกว่า “ห้องครัวต้องอยู่ตรงนี้ลูกอ้าว เอาโต๊ะกินข้าวมาวางตรงนี้ซิลูก เอ๊ะ มีแต่โต๊ะแล้วจะนั่งกันยังไงนี่ เอาเก้าอี้มาด้วยซิลูก” การทำเช่นนี้เด็กจะรู้สึกเบื่อ ไม่สนุก และไม่รู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญ ความคิดของตนเองไม่เข้าท่า และหากเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ เด็กจะขาดความมั่นใจ เด็กบางคนขณะเล่นอาจลงเอยด้วยการคอยถามแม่ถึงวิธีการเล่นถามรายละเอียดทุกอย่าง ไม่รู้จักคิดเอง หรือบางคนเล่นไปเล่นมาอาจลงเอยด้วยเป็นฝ่ายดูพ่อแม่เล่นก็ได้

ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเล่นโดยให้ลูกเป็นผู้นำการเล่น ให้ลูกคิดเองวางแผนและจินตนาการเอง อย่าพยายามสอนลูกแต่ให้พยายามเลียนแบบติดตามเรื่องราวของลูกและทำตามที่ลูกขอร้องการทำเช่นนี้ลูกจะได้พัฒนาความสามารถในการเล่นและรู้จักคิดเอง ลูกจะรู้สึกสนุกและกระตือรือร้นมากขึ้นด้วย

บางครั้งลูกอาจชอบเล่นซ้ำ ๆ พ่อแม่ควรปล่อยให้เขาได้ใช้เวลาของเขาเต็มที่ อาจรู้สึกเบื่อและต้องการให้ลูกเปลี่ยนกิจกรรม การชักชวนหรือผลักดันให้ลูกเปลี่ยนกิจกรมเร็วเกินไปอาจทำให้เด็กจับจด ไม่ช่วยให้เด็กได้พัฒนาความสนใจและสมาธิในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

– พากย์การเล่น

บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักใช้การถามลูกขณะเล่น เช่น หนูกำลังทำอะไรอยู่? เอ๊ะ! ทำไมรถถึงจอดล่ะ? นี่สีอะไรคะ? โดยทั่วไปพ่อแม่สามารถถามได้ แต่ถ้าตลอดการเล่นพ่อแม่ใช้การถามเป็นส่วนใหญ่เด็กอาจรู้สึกเบื่อ ต่อต้าน หรือกังวลต่อการต้องตอบคำถาม ทำให้ขัดขวางการคิดหรือจินตนาการในขณะเล่นของเด็ก

ดังนั้นการพากย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่พ่อแม่น่าจะลองใช้ดูขณะเด็กกำลังเล่น เช่น ขณะลูกเล่นต่อรางรถไฟ พ่อแม่อาจพากย์ว่า “รางรถไฟต่อเสร็จแล้ว และรถไฟกำลังเคลื่อนแล้ว ฉึก ฉัก ฉึก ฉัก….” หรือขณะลูกเล่นรถ พ่อแม่พูดว่า “ตอนนี้รถกำลังเติมน้ำมันอยู่… น้ำมันเต็มถังแล้ว โอ้โห รถวิ่งเร็วเลย”

การพากย์เช่นนี้นอกจากจะไม่ขัดขวางกระแสความคิดของลูกแล้ว ลูกยังรู้สึกดีกับตนเอง เพราะได้รับความสนใจเต็มที่จากพ่อแม่ โดยไม่ต้องแสวงหาหรือเรียกร้องด้วยการสร้างปัญหาหรือทำพฤติกรรมไม่ดีต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วในเด็กเล็กที่ภาษายังพัฒนาไม่ดี ยังได้โอกาสพัฒนาความเข้าใจภาษาจากการเชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินกับการกระทำของตนอีกด้วย