ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตอนที่ 6

มีอายุอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ 4 ถึง 5 เดือน หากคุณพ่อคุณแม่ร้องเพลงหรือพูดกับลูกในท้อง ลูกก็สามารถรับรู้ได้ และเมื่อแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ เด็กสามารถรับรู้ดนตรีโดยการใช้สายตาและสามารถหันศีรษะตามแหล่งที่มาของเสียง ทั้งยังตอบสนองต่อเสียงร้องและเสียงดนตรีที่ชอบหรือไม่ชอบโดยการโยกตัว ผงกศีรษะ ตบมือตามเสียงดนตรี หรือแม้แต่ร้องไห้ เด็กในวัยนี้แม้ยังไม่รู้เรื่องของจังหวะก็สามารถร้องเป็นเสียงดนตรีได้ และชอบการเล่นนิ้วมือกับคำคล้องจอง ดังนั้นหากได้กระตุ้นการพัฒนาการฟังของเด็กอย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ก็จะทำให้เกิดทักษะการเรียนรู้ที่ดีตามมาได้

เมื่อดนตรีมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กเช่นนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ดนตรีเป็นสื่อในการสอนเปรียบเหมือนเป็นหนังสือเล่มแรก (Bookstart) สำหรับชีวิตของเด็กที่จะช่วยเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ให้แก่เด็กต่อไป วิธีการอย่างง่ายที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ เวลาอยู่ด้วยกันกับลูกให้อุ้มลูกนั่งตักและโอบกอดลูกไว้ แล้วเปิดเพลงให้ลูกฟัง โดยหาบทเพลงเด็กที่ดี ๆ ให้เด็ก ๆ ได้ฟัง เช่น เพลงกล่อมเด็ก บทเพลงสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม หรือใช้การเคาะจังหวะแทนการเปิดเพลง นอกจากนี้ในการดำเนินชีวิตประจำวันควรสอดแทรกกิจกรรมดนตรีมาบูรณาการกับการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ เช่น เวลาเข้าครัวทำกับข้าวควรให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการจัดเตรียมอาหารด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่องการสังเกต การนับจำนวนและช่วยกันแต่งเพลงเกี่ยวกับอาหาร เช่น เพลงไข่เจียว ก็ถือเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมดนตรีที่น่าสนใจ ทั้งยังกระตุ้นให้พ่อแม่ลูกได้สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างกัน และหากเป็นไปได้ควรมีการรวมกลุ่มคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่จะช่วยเหลือกัน เช่น ช่วยกันจัดกิจกรรมทางดนตรีอย่างต่อเนื่องที่เน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เด็ก ๆ เข้าร่วม โดยอาจจะหาเวลาช่วงบ่ายวันหยุดเสาร์อาทิตย์ให้หลายครอบครัวมารวมตัวกันจัดเป็นคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรีอย่างเป็นอิสระหรือตามแต่ใจเด็กปรารถนา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่ลูกและคนในสังคมแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

กลุ่มครูและผู้ดูแลเด็ก

คุณครู ถือเป็นบุคคลสำคัญและมีอิทธิพลในการช่วยให้เด็กเกิดความรักทางดนตรี มีพัฒนาการและมีประสบการณ์ทางดนตรีที่ดี นอกจากนี้ คุณครูยังเป็นผู้มีหน้าที่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทางด้านดนตรีอย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนการสอนเพื่อให้เด็กประสบผลสำเร็จทางด้านดนตรีนั้น คุณครูจะต้องนำวิธีการต่าง ๆ มาใช้ ดังนี้

1) ครูควรเสริมแรงให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจเมื่อเด็กประสบความสำเร็จทางด้านดนตรี เช่น กล่าวชมเชยอย่างจริงใจ

2) ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางด้านอารมณ์ผ่านทางเสียงดนตรีและเพลงโดยไม่ปิดกั้น เช่น ให้เด็กแสดงท่าทางต่าง ๆ ตามจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ประกอบเพลงได้อย่างเต็มที่ และไม่ควรแสดงอาการไม่พอใจหรือขบขันหากเด็กคิดท่าทางสร้างสรรค์แบบแปลก ๆ แต่สามารถแนะนำหรือตักเตือนได้หากเห็นว่าเด็กแสดงท่าทางไม่สุภาพหรือหยาบคาย เช่น ยกเท้าขึ้นมาวางบนหัวเพื่อน

3) ครูต้องจัดให้มีกิจกรรมทางดนตรีที่หลากหลายสำหรับเด็กและสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความสามารถทางดนตรีอย่างเต็มที่ เช่น จัดกิจกรรมให้เด็กช่วยกันแต่งเพลงประจำห้องโดยให้เด็ก ๆ ทุกคนได้มีส่วนร่วม ซึ่งทางด้านจิตวิทยานั้นหากเด็กได้คิดเอง ลองผิดลองถูกบ้าง จะช่วยให้เด็กเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นและกล้าคิดในสิ่งที่หลากหลายมากขึ้น

4) ครูควรใช้เทคนิคการสอนแบบต่าง ๆ เช่น นิทานดนตรี หรือนำอุปกรณ์ดนตรีและสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น puppet,parachute มาใช้เพื่อเป็นตัวช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทางด้านดนตรีและสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น

5) ครูควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการส่งเสริมการใช้ความคิดของเด็ก เช่นการทำกิจกรรมดนตรีและเคลื่อนไหวร่างกายไม่ควรจำกัดให้เด็กต้องอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น ครูอาจจะพาเด็ก ๆ ออกไปกระโดดโลดเต้นที่สนามหญ้าเพื่อให้เด็กมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ หรือให้ไปฟังเสียงธรรมชาติรอบตัว เช่นเสียงนกร้อง เสียงลมพัดใบไม้ไหว เสียงเครื่องบิน เพื่อให้แด็กได้นำประสบการณ์ที่พบมาสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ต่อไปได้

6) การสอนดนตรีเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต้องไม่ใช่สอนให้เด็กเลียนแบบเพราะนั่นจะทำให้เด็กไม่ได้ใช้จินตนาการหรือคิดสร้างสรรค์สิ่งใดเลย แต่ควรสอนให้เด็กได้คิดเอง รู้สึกเอง อยากทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กเต้นตามเนื้อเพลงหรือตามครูเพียงอย่างเดียว แต่ควรแนะนำหรือส่งเสริมให้เด็กได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระและในการสอนเด็กควรออกคำสั่งให้น้อยที่สุดเพราะเด็กจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับควบคุม