ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตอนที่ 4

การจำกัดขอบเขตความคิด การแสดงออก จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบการเรียนรู้ของเด็กในภายภาคหน้าได้ เพราะเมื่อมีการจำกัดซึ่งกระบวนการในการคิดโดยไม่ได้มีการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เด็กได้คิดเป็นหรือสร้างสรรค์เป็นแต่อย่างใดนั้น ก็เหมือนว่าการเรียนรู้นั้นย่ำอยู่กับที่

ดังนั้นจึงเกิดแนวความคิดที่จะปรับเปลี่ยนแนวการพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นให้คนคิดเป็น ทั้งสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาความรู้ด้านต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองอย่างไม่หยุดอยู่กับที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มมีการปรับเปลี่ยนคนตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และเครื่องมือที่เห็นว่าจะสามารถพัฒนากระบวนการฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นแก่เด็กได้ง่ายที่สุดและดีที่สุดประการหนึ่ง ก็คือการใช้ดนตรีเป็นสื่อนั่นเอง เพราะดนตรีนั้นเป็นที่โปรดปราน เปรียบเหมือนขนมหวานที่รับประทานได้ง่ายสำหรับเด็กทุก ๆ คน

ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านร่างกาย

เมื่อเด็กได้ยินเสียงดนตรีที่มีทำนองและจังหวะที่สนุกสนาน เด็กจะกระโดดโลดเต้นเคลื่อนไหวร่างกายตามเสียงดนตรีอย่างมีความสุข เป็นการออกกำลังกาย เป็นการช่วยให้เด็ก ๆ มีร่างกายแข็งแรงเพราะได้บริหารกล้ามเนื้อทุกส่วนร่างกาย

ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจ

อารมณ์ความรู้สึกของคนมีขึ้นมีลงคล้ายท่วงทำนองของเสียงดนตรี ดนตรีที่มีจังหวะช้าจะทำให้เด็กมีอารมณ์ผ่อนคลาย สงบ มีสมาธิและช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ในขณะที่ดนตรีที่มีจังหวะเร็ว จะทำให้เด็ก ๆ มีอารมณ์แจ่มใสและมีจิตใจที่เบิกบาน

ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านสังคม

-กิจกรรมดนตรีแบบกลุ่ม คือ การที่เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมดนตรีร่วมกับผู้อื่น เช่น ร้องเพลง เต้น ระบำ รำละคร หรือการตั้งวงดนตรีเล่นกับพ่อแม่ในบ้านหรือกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้รู้จักการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

-กิจกรรมดนตรีแบบเดี่ยว เช่น การเล่นดนตรี การร้องเพลง หรือการเต้นระบำรำฟ้อนคนเดียวต่อหน้าคนอื่น ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นการสนับสนุนให้เด็กได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เด็กเห็นคุณค่าและตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง

ดนตรีช่วยพัฒนาทางด้านสติปัญญา

-ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ เช่น เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องจำนวนและการนับหรือการที่เด็กหัดอ่านโน้ตดนตรี

-ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ

-ดนตรีช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษา เช่น เพลงที่มีคำศัพท์ต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพลงคำคล้องจอง

ข้อควรระวังในการใช้ดนตรีพัฒนาเด็กปฐมวัย

สิ่งที่สำคัญที่ต้องคำนึงเป็นอย่างมากสำหรับการใช้กิจกรรมดนตรีเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์คือ ต้องไม่ปลูกฝังการสอนดนตรีอย่างผิดทิศทาง เพราะนั่นถือเป็นการปิดการสร้างความคิดสร้างสรรค์ในเด็กได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งที่พึงระวังคือ

1.ไม่ควรสอนดนตรีในลักษณะให้เลียนแบบ เพราะเด็กจะไม่ได้คิดสร้างสรรค์ด้วยตนเอง

ผู้ใหญ่ควรเป็นผู้สังเกตไม่ใช่ผู้ออกคำสั่งให้เด็กทำตาม ดังนั้นเพียงแค่สังเกตว่าเด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเหมาะสมกับวัยของเขาและไม่เป็นอันตรายก็เพียงพอแล้ว เช่นเมื่อเด็กเต้นประกอบเพลงแล้วเคลื่อนไหวท่าทางโดยกระโดดสูงมากเกินไปหรือหมุนตัวเร็วเกินไปก็ต้องให้คำแนะนำเพราะอาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้

2.ไม่ควรสร้างค่านิยมว่าการเล่นดนตรีบางชนิดสามารถเล่นได้เฉพาะเด็กที่มีฐานะทางสังคมสูงเท่านั้น เช่น เด็กที่จะเรียนหรือเล่นไวโอลีนหรือเปียโนได้ต้องมีเงินเด็กในชนบทเรียนไม่ได้เพราะไม่มีเงินค่านิยมเหล่านี้เป็นค่านิยมที่ทำร้ายทั้งจิตใจและทำร้ายทั้งการพัฒนาการเรียนรู้ทางดนตรีของเด็กอย่างมากมายทีเดียว

3.ไม่ควรมุ่งเน้นการประกวดในกิจกรรมดนตรีที่ไม่เหมาะสม เช่น ประกวดเต้นรำด้วยการใช้ท่าทางการเต้นหรือการแต่งตัวที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมกับวัยที่บริสุทธิ์ของเด็กและไม่ควรกดดันและคาดหวังในผลแพ้ชนะ เพราะนั่นจะทำให้เด็กไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมดนตรีอย่างสร้างสรรค์แต่อย่างใดเลย มีแต่จะทำให้เด็กเกิดความเครียดและบางคนอาจไม่อยากที่จะทำกิจกรรมดนตรีอีกต่อไปซึ่งจะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ของเด็กได้