ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย

1. เป็นเด็กที่มีความคล่องตัวในการคิด (fluency) หมายถึง มีความสามารถในการคิดที่คล่องตัวเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้รวดเร็ว ฉับไว และเมื่อมีปัญหาคิดหาทางออกหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

2. เป็นเด็กที่มีความคิดยืดหยุ่น (flexibility) หมายถึง มีความสามารถในการปรับรูปแบบในการคิดที่ไม่ตายตัว สามารถคิดได้หลายประเภท หลายทางและ หลายแง่หลายมุม

3. เป็นเด็กที่มีความคิดริเริ่ม (originality) หมายถึง มีความคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับความคิดของคนอื่น

4. เป็นเด็กที่มีความคิดตกแต่งละเอียดลออ (elaboration) หมายถึง สามารถคิดในรายละเอียดหรือคิดได้อย่างละเอียดลออชัดเจน

ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อเด็กอย่างไร ?

จากข้อมูลของสมาคมเศรษฐศาสตร์การศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึง คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนในยุคปัจจุบันและสิ่งที่ผู้สอนจำเป็นต้องให้กับผู้เรียนมี 4 ข้อ คือ

1) การแก้ปัญหา

2) ความคิดสร้างสรรค์

3) นวัตกรรม

4) การอยู่ร่วมกัน

เมื่อเห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญแล้ว จึงต้องย้อนกลับมาดูที่การศึกษาในปัจจุบันว่าเหตุใดในโรงเรียนจึงมักจะใช้วิธีการสอนแบบเลียนแบบมากกว่าที่จะใช้วิธีสอนแบบใช้ความคิดสร้างสรรค์ นั่นอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งระบบการศึกษาของเรามุ่งเน้นความรู้ในตำราเรียนเป็นหลักและมักวัดความรู้จากการเข้าใจหรือความสามารถในการจำเนื้อหาในแต่ละวิชาได้เท่านั้น จึงทำให้เข้าใจกันว่าการใช้ความคิดสร้างสรรค์มิใช่สิ่งจำเป็นในการเรียนตามระบบแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้วนักคิดหรือนักประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสากลหลายท่าน ต่างพัฒนางานของตนผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์แทบทั้งสิ้น เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่มีความคิดที่ไม่เหมือนคนอื่น จึงสามารถคิดประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ได้

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ก่อให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดได้ ด้วยเหตุนี้การฝึกให้เด็กเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นเป้าหมายที่จะทำให้บุคลากรที่จะเป็นอนาคตของประเทศนั้นได้คิดเป็น ทำเป็นและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคมได้ต่อไปอย่างไม่มีวันหยุดยั้ง

เข้าใจพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ใส่ใจเรื่องดนตรี

คุณรู้หรือไม่ว่า ตามปกติทารกสามารถรับรู้เรื่องการได้ยินเสียงตั้งแต่มีอายุอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ 4 ถึง 5 เดือน โดยมีจังหวะหัวใจของคุณแม่เป็นจังหวะดนตรี

เมื่อแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ มีการรับรู้ดนตรีโดยการใช้สายตาและสามารถหันศีรษะตามแหล่งที่มาของเสียง ทั้งตอบสนองต่อเสียงร้อง แสดงออกต่อเสียงดนตรีที่ชอบหรือไม่ชอบ โยกตัว ผงกศีรษะ ตบมือตามเสียงดนตรี แม้ยังไม่รู้เรื่องของจังหวะ สามารถร้องเป็นเสียงดนตรีได้ และชอบแกว่งตัวหรือโยกตัวขณะถูกอุ้ม

ช่วงอายุ 1 ถึง 2 ขวบ สามารถเรียนรู้เพลงสั้น ๆ ง่าย ๆ มีการตอบสนองต่อเพลงที่ชอบอย่างกระตือรือร้น ชอบให้ร้องเพลงให้ฟังบ่อย ๆ และชอบการเล่นนิ้วมือกับคำคล้องจอง

ช่วงอายุ 3 ถึง 4 ขวบ รู้จังหวะที่หลากหลายและเข้าใจองค์ประกอบของตนตรีมากขึ้น ชอบร้องเพลงและแสดงท่าทางตามเพลง สามารถแต่งเพลงได้

อายุ 5 ถึง 6 ขวบ วัยนี้เด็ก ๆ จะชอบแสดงออกท่าทางและเคลื่อนไหว มีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีกับเพื่อน ๆ ให้ความสนใจต่อเสียงใหม่ ๆ และอยากลองเล่นเครื่องดนตรีแปลก ๆ ใหม่ ๆ สนใจกับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะจังหวะ และชอบทำเสียงมากกว่าการฟังเสียงเครื่องดนตรี