สารไอโอดีนกับอีคิว ตอนที่ 8

การขาดสารไอโอดีนนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กไทยที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต การแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะทำให้ประชาการได้รับสารไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างก่าย ในทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การให้สารไอโอดีนเสริม การใช้เกลือเสริมไอโอดีนและการใช้เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า จากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก พบว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด คือการให้เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า

การให้สารไอโอดีนเสริม (Iodine supplementation)

การให้สารไอโอดีนเสริม เป็นการทำให้ประชากรได้รับสารไอโอดีนเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยให้เสริมในรูปของยา นอกเหนือไปจากอาหารที่รับประทานประจำวัน องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้มีการเสริมสารไอโอดีนในประชากรของประเทศที่มีปัญหาขาดสารไอโอดีน ในขณะที่มีนโยบายการใช้เกลือเสริมไอโอดีน หรือเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้าควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา

การให้สารไอโอดีนเสริมสามารถให้ได้ใน 2 รูปแบบ คือ ยารับประทานรูปเม็ดเหมือนยาทั่วไป ให้รับประทานทุกวัน เท่ากับความต้องการสารไอโอดีนในแต่ละวัน โดยมีประมาณสารไอโอดีนเท่ากับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน และรูปแบบสารไอโอดีนที่ละลายในไขมัน ซึ่งจะมีสารไอโอดีนในปริมาณสูง สามารถให้ปีละ 1 ครั้ง สารไอโอดีนที่ละลายอยู่ในไขมันจะค่อย ๆ ถูกนำไปใช้ตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน เหมาะกับพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ไม่สามารถให้สารไอโอดีนในรูปแบบยาเม็ดที่รับประทานทุกวันได้สะดวก

เกลือเสริมไอโอดีน (Iodized salt)

การผลิตเกลือเสริมไอโอดีน เพื่อใช้ในการบริโภคเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้ประชากรได้รับสารไอโอดีนจากการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน ในขบวนการเติมสารไอโอดีนในเกลือบริโภคนั้น จะมีการเติมสารโพแทสเซียมไอโอเดทหรือ โพแทสเซียมไอโอไดด์ในรูปแบบผงหรือสารละลายลงไปในเกลือที่ผลิต แต่ขบวนการต่าง ๆ ในการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนจากโรงงานอุตสาหกรรมจนถึงผู้บริโภคในครัวเรือน พบว่ามีการสูญเสียสารไอโอดีนบางส่วนไปกับขั้นตอนขบวนการการผลิต และการประกอบอาหาร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่การผลิตเกลือเสริมไอโอดีน จะต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด

เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า

การเติมสารไอโอดีนลงในเกลือบริโภคให้ได้มาตรฐานนั้น อาจไม่ได้เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย เนื่องจาก จากการสำรวจแหล่งของโซเดียมคลอไรด์ที่คนไทยได้รับนั้น พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้น้ำปลา ซีอิ้วขาว ในการประกอบอาหารเป็นสัดส่วนมากกว่าเกลือ และยังได้รับโซเดียมคลอไรด์จากอาหารอื่น ๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารว่างเป็นต้น

ดังนั้น หากเครื่องปรุงรสและอาหารเหล่านี้มีการเติมสารไอโอดีนลงไปด้วย ก็จะทำให้ประชากรได้รับสารไอโอดีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในการบริโภคเกลือหรืออาหารรสเค็ม ซึ่งเป็นแหล่งของโซเดียมคลอไรด์ในกลุ่มประชากรที่ป่วยเป็นโรคความดันสูง โรคไต โรคอ้วน เป็นต้น หรือแม้แต่ในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีภาวะเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ ในกลุ่มประชากรเหล่านี้ การบริโภคเกลือโซเดียมคลอไรด์มากเกินไป อาจทำให้มีผลเสียต่อสุขภาพได้ ทางองค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้บริโภคเกลือ โซเดียมคลอไรด์ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเติมสารไอโอดีนลงในเกลือเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถทำให้ประเทศไทยขจัดโรคขาดสารไอโอดีนได้ เนื่องจากเกลือไม่ได้เป็นเครื่องปรุงหลักในการประกอบอาหารของคนไทย และยังมีข้อจำกัดในการบริโภคเกลือในประชากรบางกลุ่มด้วย