สารไอโอดีนกับอีคิว ตอนที่ 5

การขาดสารไอโอดีนในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งครบกำหนดคลอด หรือแม้แต่การขาดสารไอโอดีนในช่วงวัยทารกและเด็กเล็ก ก็มีผลทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้าลง รวมทั้งระดับสติปัญญาที่ลดลงด้วย

ความสำคัญของสารไอโอดีนต่อการพัฒนาสมอง

สมองนับเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย การเจริญเติบโตและการพัฒนาการทำงานของสมองเริ่มต้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อทารกเกิด ทารกยังมีการเจริญเติบโตและการพัฒนาการทำงานของสมองอย่างต่อเนื่อง และสามารถแสดงให้เห็นจากพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในขวบปีแรก อย่างไรก็ตาม ขบวนการดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยไทรอยด์ฮอร์โมน หากทารกได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนไม่เพียงพอ ย่อมมีการสร้างสมองที่ผิดปกติ และมีพัฒนาการที่ผิดปกติได้

การขาดสารไอโอดีนในระดับรุนแรงในช่วงทารก จะทำให้ทารกเป็นโรคเอ๋อ หรือ Cretinism ซึ่งจะมีลักษณะหน้าตาที่ผิดปกติ ตาเข หน้ากลม ลิ้นใหญ่ มีความผิดปกติของประสาทรับรู้การได้ยิน หรือแม้แต่สูญเสียการได้ยิน ผิวหนังแห้งและหนา ตัวเตี้ย มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนขา โดยที่ยังมีมือและเท้าที่ยังใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากอาการของโรคสมองพิการแต่กำเนิด

นอกจากผลต่อการเจริญเติบโตและการสร้างระบบอวัยวะต่าง ๆ ของทารกแล้ว ยังพบว่าการขาดสารไอโอดีนยังมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดด้วย โดยพบว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกแปลผกผันกับระดับไทรอยด์ฮอร์โมนในมารดา และในพื้นที่ที่ขาดไอโอดีน เมื่อมีการให้ไอโอดีนเสริมแล้ว พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดลดลง