สารไอโอดีนกับอีคิว ตอนที่ 3

มีการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมนในทารกที่อยู่ในครรภ์ ตั้งแต่ต่อมไทรอยด์ของทารกยังไม่มีการสร้างและพัฒนาเต็มที่ ซึ่งแสดงว่า ทารกได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนจากมารดาผ่านทางรก นอกจากนั้น ยังพบว่าในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์จนครบกำหนดคลอด ยังต้องใช้ไทรอยด์ฮอร์โมนจากมารดาถึงร้อยละ 20-50

ในช่วงไตรมาสแรก ทารกจำเป็นต้องได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนและสารไอโอดีนจากมารดาผ่านทางรก เนื่องจากทารกยังไม่มีการสร้างต่อมไทรอยด์ที่สมบูรณ์ ไม่สามารถสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนได้เองต่อมาในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เมื่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ของทารกมีสร้างและพัฒนามากขึ้นต่อมไทรอยด์ของทารกสามารถทำหน้าที่ได้แต่ยังไม่สมบูรณ์ ทารกยังมีความจำเป็นต้องได้รับไทรอยด์ฮอร์โมนบางส่วนจากมารดา และยังต้องได้รับสารไอโอดีนเพื่อนำมาสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนของทารกเอง

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า สารไอโอดีนมีความจำเป็นมากในหญิงตั้งครรภ์และการขาดสารไอโอดีนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อมารดาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ในช่วงแรกของชีวิต ความผิดปกตินี้อาจเป็นความผิดปกติถาวรซึ่งไม่สามารถกลับมาแก้ไขได้อีกในภายหลัง

การขาดสารไอโอดีนในมารดา ทำให้มีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนของมารดาลดลง ไทรอยด์ฮอร์โมนจึงผ่านมาสู่ทารกลดลง รวมทั้งสารไอโอดีนจากมารดาก็ผ่านมาสู่ทารกลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ทารกมีไทรอยด์ฮอร์โมนไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาระบบอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้ทารกมีการเจริญเติบโตช้า และมีการสร้างระบบอวัยวะต่าง ๆ ที่ผิดปกติไป หากมีภาวะขาดสารไอโอดีนรุนแรง อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความพิการหรือเสียชีวิตในครรภ์

ตามเกณฑ์การประเมินภาวะสารไอโอดีนขององค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้ในพื้นที่ที่มีสารไอโอดีนเพียงพอ หญิงตั้งครรภ์มีค่ามัธยฐานของระดับสารไอโอดีนในปัสสาวะ 150-249 ไมโครกรัมต่อลิตร อย่างไรก็ตาม การสำรวจภาวะสารไอโอดีนในร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยพบว่ายังมีค่ามัธยฐานของระดับสารไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร อย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าประเทศไทยยังเป็นพื้นที่ที่ยังมีปัญหาการขาดสารไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง