โทรทัศน์ออกข่าวว่าน้ำท่วมเพราะเหตุนั้นๆ หมอกควันที่ปกคลุมภาคเหนือตอนบนเพราะเหตุนั้นๆ นักเรียนที่ยกพวกตีกันจนผู้อื่นถึงตายควรนำไปเข้าค่ายทหารอบรมบ่มนิสัยแล้วจะมีนิสัยดี สุริยจักรวาลมีดาวพระเคราะห์เก้าดวง นางนพมาศเป็นผู้ริเริ่มประเพณีลอยกระทง ฯลฯ ปัญหาของเด็กไทยคือเชื่อทุกอย่างที่เรียน ไม่มีข้อสงสัยหรือความคิดเชิงวิพากษ์เลยซึ่งจะนำไปสู่สภาพไม่มีนวัตกรรมในตอนท้าย
เพราะความคิดเชิงวิพากษ์เป็นต้นทาง นวัตกรรมเป็นปลายทาง นวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นลอย ๆ ได้ด้วยความบังเอิญ
เมื่อสงสัย ไม่เชื่อ ขั้นตอนต่อไปอย่างน้อยก็ควรเถียงในใจว่า “อาจจะไม่จริง” หลังจากนั้นอาจจะทำได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือพูดออกไปตรง ๆ ว่าอาจจะไม่ใช่ ดาวพระเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลน่าจะมีมากกว่าเก้าดวง ทางที่สองคือตั้งคำถามออกไป เช่น ที่ว่ามีเก้าดวงนั้นกำหนดจากระยะทางจากดวงอาทิตย์ หรือกำหนดจากรูปร่างของวงโคจร หรือกำหนดจากขนาดของดาวหรือเทหวัตถุ เป็นต้น ทางที่สามคือไม่พูดไม่ถามแต่ออกไปค้นคว้าคำตอบอื่น ๆ ที่เป็นไปได้
เด็กไทยไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้และมีแนวโน้มที่จะไม่มีต่อไปเพราะการสอบที่บังคับให้เด็กไทยต้องเชื่อครูหรือตำราแต่เพียงฝ่ายเดียว
การพูดออกไปและการตั้งคำถามเป็นเรื่องเสียมารยาทสำหรับเด็กไทยอย่างไม่มีข้อสงสัยและเป็นปัญหาระดับชาติ เป็นต้นเหตุที่จะฉุดรั้งและดึงคุณภาพของเด็กไทยดิ่งเหวลงไปเรื่อย ๆ เพราะไม่กล้าคิดอะไรเลย อย่าแปลกใจหากจะพบว่าคุณภาพของภาพยนตร์ นวนิยาย การ์ตูน หรืองานศิลปะแขนงต่างๆเราจะเป็นรองชาติอื่น ๆ เพราะเด็กไทยไม่มีจินตนาการ การไม่คิดย่อมทำให้ไม่มีทางจะมีจินตนาการตั้งแต่แรก
เราเรียกร้องให้เด็กไทยมีจินตนาการและนวัตกรรม แต่เรากลับสกัดกั้นต้นทางของเรื่องทั้งหมดไปในตัว การตั้งข้อสงสัยและการตั้งคำถามเป็นเรื่องต้องฝึก จะไม่เกิดขึ้นเอง
เด็กไทยทุกคนควรถูกสอนวิธีตั้งคำถามที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมาไม่ยอกย้อน ตั้งคำถามให้ฟังรู้เรื่องว่าจะถามอะไร ด้วยถ้อยคำที่สุภาพและอ่อนน้อม นี่คือข้อที่หนึ่ง
เด็กไทยทุกคนควรถูกสอนให้รู้วิธีค้นหาความรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะจากแหล่งเรียนรู้ใดตั้งแต่หนังสือ โทรทัศน์ แผ่นสารคดี อินเทอร์เน็ต ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ การสัมมนาวิชาการ ฯลฯ เพื่อให้ข้อสงสัยและคำถามของตนเองมีน้ำหนัก มิใช่สักแต่เถียงข้าง ๆ คู ๆ โดยไม่มีหลักฐานอะไรรองรับ นี่คือข้อที่สอง
อย่างไรก็ตาม แม้เด็กไทยจะมีมารยาทดีเพียงใดหรือมีหลักฐานอ้างอิงคำพูดของตนมากเพียงใด เชื่อได้ว่าก็จะถูกกล่าวหาว่าไร้สัมมาคารวะอยู่ดีเพราะวัฒนธรรมไทยเป็นเช่นนั้นเอง
ปัญหาจึงมิได้อยู่ที่เด็ก แม้จะเป็นความจริงว่าเด็กไทยบางส่วนหรืออาจจะส่วนใหญ่ทั้งไร้มารยาททั้งมีแต่คำพูดที่เลื่อนลอยหาสาระอันใดมิได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่เองที่ต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นในการจุดชนวนทักษะการเรียนรู้
นั่นคือมีท่าทีที่รับฟัง
ครูที่ดีควรมีท่าทีรับฟังเด็กพูดหรือถามด้วยใจเปิดกว้างเสมอ ไม่ตัดสินผิดถูกและไม่ให้ความสำคัญกับคำพูด คำตอบหรือข้อสงสัยของเด็กว่าผิดหรือถูก ต่อเมื่อเด็กสัมผัสได้ว่าครูรับฟังจึงจะเกิดสัมพันธภาพที่ดี เมื่อมีสัมพันธภาพที่ดีครูจึงจะมีโอกาสและหาจังหวะช่วยให้เด็กรู้ว่าเขาควรไปหาคำตอบข้อสงสัยนั้นได้ที่ไหนและอย่างไร ครูจะทำเช่นนี้ได้เมื่อต้องก้าวข้ามตนเองว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องและไม่จำเป็นเลยที่ต้องเก่งกว่านักเรียนและยิ่งไม่จำเป็นเลยที่ต้องตอบคำถามของเด็กได้ทุกคำถาม
ครูที่ชาญฉลาดควรแสดงออกว่าข้อสงสัยหรือคำถามของเด็กนั้นน่าสนใจมาก ชมเชยที่เขาคิดข้อสงสัยและตั้งคำถามออกมาได้ ชื่นชมที่เขากล้าแสดงออกด้วยการตั้งข้อสงสัยต่อคำพูดของครูและกล้าถาม จากนั้นครูจึงทำหน้าที่เป็นโค้ชให้เขาค้นหาหนทางเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไปว่าที่แท้แล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่สุริยจักรวาลจะมีดาวเคราะห์มากกว่าเก้าดวง น้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขื่อน หมอกควันไม่เกี่ยวอะไรกับการเผาป่า ฯลฯ
ครูที่ดีควรชวนนักเรียนมาช่วยกันหาคำตอบ ครูที่ดีควรรู้ว่ากระบวนการหาคำตอบมีความสำคัญมากกว่าคำตอบ เพราะที่แท้แล้วในโลกที่ซับซ้อนนี้ไม่มีคำตอบหนึ่งเดียวต่อปัญหาใด ๆ อยู่ก่อนแล้ว
กระบวนการหาคำตอบที่ดีย่อมเกิดจากการทำงานเป็นทีมที่ทีมมีความเห็นแตกต่างกันในตอนต้นแล้วร่วมมือกันค้นหาคำตอบหลากหลายที่ไม่มีจุดจบง่าย ๆ การปะทะสังสันทน์ทางความคิดของสมาชิกทีมด้วยความช่วยเหลือและให้กำลังใจของครูจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้และเกิดนวัตกรรมในตอนท้าย
ย้ำอีกครั้งว่าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมิใช่ของลอยลงมาจากฟ้าและมิใช่ของที่จะเกิดขึ้นได้จากวัฒนธรรมว่านอนสอนง่ายเชื่อ ๆ ตาม ๆ กันไป หากต้องเกิดจากการคิดเห็นต่างในเรื่องเดียวกัน ปะทะกัน แล้วหาทางออกร่วมกัน
การปะทะกันไม่จำเป็นต้องเสียมารยาท การสอนมารยาทกระทำได้เสมอเมื่อครูและเด็กมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน แต่ประเด็นมิได้อยู่ที่มีหรือไม่มีมารยาท ประเด็นอยู่ที่ผู้ใหญ่ไทยมักไม่รับฟังเด็กพูดนั่นเท่ากับปิดตายการเรียนรู้และพัฒนาการ