ไม่ยอมรับว่าสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากส่วนของมนุษย์เป็นทรัพย์ เพราะจะกระทบว่ามนุษย์จะเป็นทรัพย์ได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์ไม่เป็นทรัพย์ เพราะฉะนั้นส่วนของมนุษย์ก็ไม่น่าเป็นทรัพย์ด้วย แต่ว่าจะละเลยไม่ดูแลเลยก็เป็นไปไม่ได้ จึงควรที่จะคุ้มครองในระดับหนึ่ง จึงยอมรับสภาพการเป็น Quasi-property แต่ปัญหามีว่าเมื่อมีการผสมกันแล้ว แล้วเก็บเอาไว้แล้วและพ่อแม่ไม่ต้องการ หรือคนใดคนหนึ่งต้องการ การต้องการของคนใดคนหนึ่งจะก่อหน้าที่คือโดยสภาพการเป็นบิดามารดาก่อหน้าที่ทั้งสองฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งจะไปขออนุญาตเรียกร้องเพื่อที่จะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ในกรณีนี้ในอเมริกา จะให้เป็นเรื่องของความยินยอมของทั้งสองฝ่ายเพราะว่าการที่จะเกิดบุตร จะต้องเป็นเรื่องของความยินยอมของทั้งบิดามารดา
ความเห็น 3:
คำจำกัดความของ “ตัวอ่อน” ต้องทำให้ชัดเจน และต้องคุ้มครอง
การคุ้มครองต้องพิจารณาเรื่องเงื่อนเวลาด้วยว่า การเก็บตัวอ่อนควรเก็บไว้นานเท่าไร มีกรณีที่เกิดในประเทศอังกฤษที่เศรษฐีประเทศตะวันออกกลางไปผสมเทียมที่นั่นแล้วหลังจากกลับประเทศไปแล้วบังเอิญตายทั้งคู่ เขามีทรัพย์สินมากและมีพินัยกรรมระบุ ยกทรัพย์สินทั้งหมดนี้ให้กับตัวอ่อนของเขาที่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยจะจัดการอย่างไรก็ได้ที่ให้ตัวอ่อนเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ได้ เพื่อให้ทรัพย์สินทั้งหมดแก่ตัวอ่อน กรณีนี้อังกฤษจึงออกกฎหมายกฎหมายกำหนดระยะเวลาการเก็บตัวอ่อน ประเด็นที่จะติดตามมาคือกำหนดว่าให้การเก็บตัวอ่อนได้นานเท่าไร เทคโนโลยีนี้แม้เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลของคนที่มีความชำนาญและรู้เท่านั้นทำให้สามารถที่จะเอาไป abuse ได้กับคนทั่วไป
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องแพทยสภาที่ทุกคนเห็นว่าหลายอย่างควรจะต้องให้แพทยสภาเป็นคนทำ แม้ว่าจะเห็นด้วย แต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด สิ่งที่ควรจะทำคือให้ประชาคมและคนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรที่จะเป็นคนทำเรื่องนี้แล้วเสนอเรื่องนี้ไปให้องค์กรวิชาชีพที่รับผิดชอบ หรือแม้แต่เราเองก็ทำได้ เราไม่ควรจะให้องค์กรรับผิดชอบหรือให้องค์กรวิชาชีพทำฝ่ายเดียว เพราะเนื่องจากว่าทุกองค์กรวิชาชีพมีทั้งข้อแข็งและข้ออ่อน ข้ออ่อนขององค์กรวิชาชีพทุกองค์กรที่สำคัญคือว่าจะมองภาพไม่รอบด้าน ในขณะที่ประชาคมลักษณะแบบนี้ซึ่งรวมคนจากหลากหลาย จะมองได้รอบด้านกว่า
ความเห็น 4:
ประเด็นที่หนึ่ง ข้อมูลข้อบังคับแพทยสภาเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นมาตรฐานแรกที่แพทยสภาออกใช้ ก่อนหน้านั้นแพทยสภาได้ออกประกาศเกณฑ์วินิจฉัยสมองตาย แต่ก็ไม่ใช่มาตรฐานวิชาชีพ
ประกาศเกณฑ์วินิจฉัยสมองตาย ที่แพทยสภาออกนั้นทำโดยคำแนะนำของนักกฎหมายโดยที่คำว่า “ตาย” ในทางกฎหมายไม่มีคำจำกัดความ กฎหมายก็จะไปเปิดพจนานุกรมว่าคำจำกัดความว่าเป็นอย่างไรก็ใช้คำนั้น ถ้าหากจะแก้กฎหมาย เรื่องตายนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก จึงมีประชุมกันระหว่างนักกฎหมายกับแพทย์ และได้ข้อสรุปว่าให้แพทยสภาไปออกเกณฑ์วินิจฉัยสมองตายขึ้นมา หลังจากนั้นมาตรฐานที่ออกมานี้สถานะก็เป็นกฎหมาย แต่เป็นกฎหมายวิชาชีพ เพราะออกตามข้อบังคับของแพทยสภาที่กำหนดว่าแพทย์จะต้องปฏิบัติตาม
สำหรับมาตรฐานที่แพทยสภาออกมาก็เป็นมาตรฐานที่ใช้เวลาสามปีกว่าจะเสร็จ เพราะก็จะเชิญทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันช่วยกันคิด ปัญหาคือว่าเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีความเจริญมากและมีความซับซ้อนมากเกินกว่าที่แพทย์ทั่วไปจะเข้าใจได้ และเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ แล้วจะทำอย่างไรให้กฎเกณฑ์ที่ออกมานี้เป็นที่เข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ ได้พยายามทำความเข้าใจความเจริญของวิชานี้โดยให้อาจารย์ทางสูติจากวิทยาลัยสูติอธิบายทั้งหมด เขียนยกร่างทั้งหมด แล้วก็เอามาแปลงเป็นภาษาที่ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นเกณฑ์นี้ก็จะเป็นเกณฑ์ของทั้งตัวสถาบันว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ตัวบุคลากรว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ตัวกระบวนการว่าต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากเกณฑ์ทั่วไปแล้วจะมีคำอธิบายค่อนข้างละเอียด บอกหมดเลยว่าจะทำแต่ละเรื่อง จะมีอัตราความเสี่ยงอย่างไรบ้าง อัตราความสำเร็จแค่ไหน อย่างไร ค่อนข้างยากมากในแต่ละอัน แล้วตอนที่เขียนก็มีช่องโหว่ ดังอาจารย์ได้กล่าวถึงแล้วก็คือ ตัวอ่อนนี้ที่เหลือจะเอาไปทำอย่างไร ขณะนั้นยังไม่ได้ข้อยุติว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไรต่อไป
การประชุมวันนี้คงมีประโยชน์เพื่อคิดต่อตรงนี้ว่าเราจะออกกฎเกณฑ์อย่างไรต่อไป ผลที่สุดแล้วก็คงต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องทำต่อไป แพทยสภาคงมีหน้าที่ที่จะทำตรงนี้ ในกระบวนการเห็นด้วยว่าคงต้องมีหลายท่านมาช่วยกันคิดก่อนที่จะออกกฎเกณฑ์ต่างๆ นี้ต่อไป
ประเด็นที่สองคือ เรื่องชื่อเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เป็นคำที่ใช้มาก่อนค่อนข้างนานประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ก่อนนั้นก็ผสมเทียม คำว่าผสมเทียมเข้าใจว่าแทนที่หญิงชายจะร่วมประเวณีกันแล้วเกิดลูก นั่นคือผสมจริง ก็เปลี่ยนเป็นการเอาเชื้อไปโดยที่ไม่มีการร่วมประเวณีแล้วก็เกิดลูกเรียกว่า “ผสมเทียม” ความหมายเป็นอย่างนั้น แต่ลักษณะของปฎิสนธิเป็ลักษณะของธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วแต่เราจะตีความ