ครอบครัวต้องการกำลังแรงงานมาช่วย และอาจนำความรุ่งเรืองมาสู่ครอบครัวนั้นๆ แม้ในปัจจุบัน ที่สังคมเกษตรกรรมมีน้อยลง ลักษณะทางเศรษฐกิจที่รัดตัว สภาพทางสังคมที่มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมากมายจนมีคู่สมรสหลายคู่ไม่ต้องการมีบุตร หรือ”ไม่มั่นใจที่จะเลี้ยงดูให้ดีในสภาพแบบนี้ได้” ได้ยกเลิกความคิดที่จะมีบุตร แต่ก็ยังมีอีกหลายคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตร ทำทุกอย่างตามประเพณีความเชื่อไม่ว่าการบนบานสานกล่าว การหาอาหารบำรุง การไปขอลูกของญาติๆมาดูแล การรับบุตรบุญธรรม หรือการเข้าพึ่งวิทยาศาสตร์การแพทย์
การไม่สามารถมีบุตรของตนเองได้มีความหมายหลายอย่างในทางจิตใจของคู่สมรส 12หลายคนอาจมองตัวเองหรือถูกมองจากคนรอบข้างว่า ครอบครัวยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีความสามารถ ไม่มีความพยายามเพียงพอ ไม่ใช่เป็นชายจริงหญิงแท้ ทำให้สูญเสียความภูมิใจในตนเอง จนอาจหมดความสุขจากชีวิตคู่ไป โดยเฉพาะหากแนวคิดของสังคมศาสนามีการส่งเสริมให้มีบุตรมากๆอย่างในศาสนาอิสลาม ผู้ไม่สามารถมีบุตรได้เองมักหมดความเชื่อมั่นว่าตนสามารถ “ควบคุม หรือสั่งร่างกายของตนเอง” ให้เป็นอย่างที่ต้องการได้ อาจมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัวหรือคู่สมรส เกิดความรู้สึกน้อยหน้าคู่สมรสอื่นที่มีลูกไปก่อนหน้า นอกจากนี้ ในหลายสังคมย่อย ที่ยังถือว่า การมีลูกจะเป็นที่พึ่งแก่พ่อแม่ในยามชรา ช่วยเลี้ยงดูส่งเสียเงินทองหรือปรนนิบัติเมื่อป่วยไข้ ดังนั้น การไม่มีลูก ก็จะทำให้สามีภรรยาคู่นั้น มีความรู้สึกมั่นคงต่ออนาคตลดลง2
หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกมองหรือได้รับการตรวจว่า เป็นหมัน ไม่สามารถมีลูกได้ ฝ่ายนั้นอาจรู้สึกว่าร่างกายของตนไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ( ในผู้หญิงไทยหลายคนอาจกล่าวว่า “มดลูกของตนไม่ดี ไม่ค่อยแข็งแรง” ) รู้สึกกดดัน รู้สึกผิด ความสัมพันธ์ระหว่างคู่อาจห่างเหินออก ในบางวัฒนธรรมสังคม อาจมีการ “สนับสนุน” ให้ฝ่ายชายไปมีคู่ใหม่โดยหวังว่าจะมีลูกได้อย่างที่ปรารถนา ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆให้เห็นอยู่
มีงานวิจัยในหลายประเทศที่สำรวจอุบัติการณ์ของโรควิตกกังวลและซึมเศร้าในคู่สมรสที่ไม่สามารถมีบุตรได้เอง และมารับบริการที่คลินิกช่วยการเจริญพันธุ์ ปรากฏผลได้แก่ ในประทศไต้หวัน 13พบว่า ร้อยละ 40.2 ของกลุ่มตัวอย่าง 112 คู่ มีอาการของโรคทางจิตเวชโดยแบ่งเป็นโรควิตกกังวลไปทั่ว(Generalized Anxiety Disorder) ร้อยละ 23.2 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 17 แต่การศึกษานี้ไม่มีกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้มาที่คลินิกเปรียบเทียบ ส่วนการศึกษาในประเทศอิตาลีซึ่งมีกลุ่มมีบุตรเป็นกลุ่มควบคุม 14พบว่า สตรีที่ไม่มีบุตรมีคะแนนของความซึมเศร้า กังวล และ โกรธ สูงกว่าสตรีที่มีบุตร
ในสเปน 15 พบว่า ร้อยละ 69.6 ของผู้รับบริการในคลินิกช่วยเจริญพันธุ์อยู่ในภาวะการปรับตัวผิดปกติ โดยมักสัมพันธ์กับเพศสตรี จำนวนความล้มเหลวหลายครั้งของการรักษาที่ผ่านมา และความยาวนานของการรอมีบุตร ส่วนในญี่ปุ่นก็พบว่า 16หญิงที่ไม่มีบุตรมีความเครียดสูงกว่าหญิงที่กำลังตั้งครรภ์อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ในทุกงานวิจัยรวมทั้งงานวิจัยจากอัฟริกาใต้ได้แนะนำให้จัดบริการให้คำปรึกษาทางสภาพจิตใจกับผู้มาที่คลินิกช่วยการเจริญพันธุ์และกล่าวถึงผลดีของการได้ให้บริการนี้ไว้ทั้งสิ้น
ลักษณะทางสังคมโดยทั่วไปของ SM
การเข้ามาเป็น SM ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันตามกฎหมายของประเทศนั้น ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการควบคุมด้วยกฎหมายอย่าง “หลวมๆ” มีตัวแทน agency ทั้งที่ต้องการผลประโยชน์และไม่ต้องการผลประโยชน์ ที่เหมือนนายหน้าจัดหา SM ให้กับ CC ส่วนในอังกฤษ ตาม Surrogacy Arrangement Act 1985 ให้ CC เป็นผู้หา SM มาเอง โดยห้ามการหาผลประโยชน์ทางการค้าจาก surrogacy แต่มิได้ห้ามการจ่ายค่าตอบแทนต่อ SM11,18
Ciccarelli 199719รายงานว่า SM 14 คนในการศึกษาของเขามีอายุระหว่าง 20 ถึง 30 ปี และมักมีบุตรของตนเองมาแล้วอย่างน้อย 1 คน เช่นเดียวกับ Baslington 200218 ที่พบว่า 15 ใน 19 รายของ SM มีบุตรมาแล้ว 1 ถึง 2 คน ยิ่งไปกว่านั้น มีถึง 14 รายเคยเป็น SM มาแล้ว
ส่วน Jadva 2003 20รายงานว่า SM 5 ใน 34 รายเคยเป็น SM มาแล้ว 1 ถึง 3 ครรภ์ ซึ่งผู้วิจัยอภิปรายว่า อาจเป็นจากวิธีการสรรหาคนที่จะมาเป็น SM จาก agency ที่มีความเชื่อว่า หญิงที่เคยมีบุตรมาแล้ว น่าจะเกิดปัญหาทั้งทางร่างกายและจิตใจในระหว่างการตั้งครรภ์น้อยกว่าหญิงที่ไม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์มาก่อนเลย ทั้งยังอาจไม่ต้องการที่จะเก็บเด็กที่คลอดไว้เองมากเท่าผู้ที่ยังไม่เคยมีลูกของตนเอง
ข้อเคลือบแคลงที่สุดของสังคมอย่างหนึ่งคือ SM อาจถูกชักจูงมาจากหญิงที่มาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่า CC หรือเป็นชนกลุ่มน้อย แต่จากการศึกษาของ Ciccarelli 1997 19พบว่า SM มักเป็นหญิงผิวขาว มีรายได้ประจำ ปานกลางถึงดี ทำงานอยู่ในระดับดี แต่ก็อาจเป็นผลจากการคัดกรองของ agency ที่จัดหา SM ก็ได้เช่นกัน
Baslington 2002 รายงานลักษณะของ SM ว่า มักมีอายุระหว่าง 21-35 ปี และ SM 7 ใน 34 รายรู้จักกับ CC มาก่อน
เหตุจูงใจในการมาเป็น SM
เป็นที่ทราบกันดีว่า ค่าใช้จ่ายเฉพาะทางการแพทย์ในการใช้เทคโนโลยีการช่วยมีบุตรนั้นสูงมาก มิใช่สิ่งที่คนที่มีรายได้น้อยจะเข้าถึงบริการแบบนี้ได้ทุกราย ( ในสหรัฐอเมริกา ค่าใช้จ่ายในการทำ IVF และค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งหมดประมาณ 25,000 ถึง 100,000 เหรียญ ) การทำ surrogacy ยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าการทำ IVF ทั่วไปเสียอีก ( ใน อังกฤษปี 1992 มีแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนแก่ SM ว่าควรอยู่ระหว่าง 6500 ถึง 10000 ปอนด์ 1หรือในสหรัฐอเมริกาจะอยู่ประมาณ 10,000 – 20,000 เหรียญสหรัฐ ) ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุจูงใจของการที่ SM มาเข้ากระบวนนี้คือแรงจูงใจทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และยังอาจเป็นข้อโจมตีได้ว่า จะมีการตั้งครรภ์เพื่อ “ขายลูก” เป็นอาชีพต่อไปในอนาคต หากปล่อยให้มีการทำ surrogacy อย่างขาดการดูแลควบคุมที่ดี
อย่างไรก็ตาม เคยมีการสำรวจในประเทศแคนาดา และอังกฤษ เมื่อปี 1994 พบว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงร้อยละ 10 ถึง 25 เท่านั้นที่ยอมรับกับการใช้เงิน “จ้าง” คนให้มาตั้งครรภ์ซึ่งเป็นอัตราการยอมรับได้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการยอมรับการทำ IVF, embryo transplant และ AI ที่มีมาก่อน แม้ในกลุ่มหญิงที่ไม่อาจตั้งครรภ์ได้เองก็ตาม ซึ่งมักมองว่า การทำ surrogacy ว่า เป็นวิธีที่ “ไม่อยากรับ แต่ก็กลายเป็นทางเลือกจำเป็น ( unwelcome but necessary option )” 2
มีการศึกษาในเรื่องนี้ที่มีการตีพิมพ์ประมาณ 20 กว่าการศึกษา โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างเล็ก และมีวิธีการเก็บข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยที่ต่างกัน บางการศึกษาเป็นลักษณะเชิงพรรณามากกว่าเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มีหลายการศึกษา ( Blyth 1994 22, Edelman 20042) ที่แสดงผลว่า แรงจูงใจหลักของการมาเป็น SM คือ ความต้องการเสียสละ ( altruistic concerns ) มีความเห็นใจคู่สมรสที่ไม่อาจมีบุตรได้ และอยากช่วยเหลือและอยากเห็นคู่นั้นมีความสุขกับการได้เป็น “พ่อแม่คน” โดยที่บางรายบอกว่า การมาเป็น SM ช่วยให้ SM เองได้เสริมความรู้สึกดีๆกับตัวเอง หรือได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเพียงการศึกษาของ Einwoher 1989 และ Baslington 2002 18เท่านั้นที่ SM ร้อยละ 40 และ 21 ตามลำดับ บอกว่า เงินเป็นแรงจูงใจหลัก แต่ไม่ใช่แรงจูงใจเดียวที่มี Jadva 2003 20รายงานว่า SM ร้อยละ 68 คือ 23 ใน 34 ราย ทราบเรื่องการเป็น SM จากสื่อต่างๆ อีกร้อยละ 15 ได้รับคำแนะนำจากเพื่อน หรือสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว ส่วนในแง่ของแรงจูงใจนั้นและ SM 31 จาก 34 รายแจ้งว่า ต้องการมาเป็น SM เพราะอยากช่วยคู่ที่ไม่อาจมีบุตร 5 รายบอกว่ามีความสุขกับการได้ตั้งครรภ์ 2 รายแจ้งว่า ทำให้ตนเองรู้สึกดีกับตัวเอง และมีเพียง 1 รายที่บอกว่า ต้องการเงิน
อย่างไรก็ตาม มีบางการศึกษาที่ใช้วิธีสัมภาษณ์กับ SM โดยตรงอย่างการศึกษาของ Baslington18ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยา (อันอาจทำให้ได้ข้อมูลเรื่องความรู้สึกในรายละเอียดมากกว่า การใช้แบบสำรวจให้ผู้ตอบตอบเลือกตามตัวเลือก ) และมี SM หลายคนรับว่า เมื่อแรกสมัครมาเป็น SM นั้น ไม่เคยมองว่าเงินสำคัญ จะไม่เรียกร้องเงินเลย แต่เมื่อได้รับเงินจาก CC เข้าจริงๆซึ่งมักเป็นจำนวนสูงดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ทำให้มีความรู้สึกดีที่ได้รับ และง่ายขึ้นที่จะรับเป็น SM อีกในครั้งต่อๆไป
ในหลายการศึกษาบอกว่า SM มีความสุขกับการได้ตั้งครรภ์ บางรายเคยแท้งบุตร หรือเคยยกลูกให้ให้คนอื่นเป็นบุตรบุญธรรม ( Parker 1983 รายงานว่ามีร้อยละ 26 ที่เคยทำแท้ง ร้อยละ 9 เคยยกบุตรบุญธรรม ในการศึกษาของเขา ) แต่อัตราการเกิดสองปัจจัยนี้ ไม่ต่างจากการตั้งครรภ์ในประชากรทั่วไป
บางการศึกษาพบว่า SM มักมีบุคลิกภาพโดยทั่วไปไม่ต่างจากมารดาที่ตั้งครรภ์ปกติ แต่อาจเป็นคนที่มีความคิดเป็นอิสระจากความคิดทางสังคมทั่วไป ยืดหยุ่นกับแนวคิดทางศีลธรรมจรรยาบรรณที่ยึดกันในสังคมที่เขาอยู่ในปัจจุบันกว่า บางรายอาจอยากเป็นคนที่ “แตกต่าง” จากผู้หญิงคนอื่น