[คุยกับความคิด] ภนิธา โตปฐมวงศ์
a-chieve คือ ธุรกิจเพื่อสังคม
ธุรกิจเพื่อสังคม คือ ธุรกิจที่ตั้งใจเปิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคม
ปัญหาสังคมที่ a-chieve อยากแก้คือ “เด็กไทยไม่รู้จักตัวเอง”
กิจการเพื่อสังคมแห่งนี้เริ่มต้นที่อีเมล์ฉบับหนึ่งที่ส่งหาเพื่อน 2 คน เพื่อชักชวนมาทำอะไรสักอย่าง จนทุกวันนี้กลายเป็น กิจการเพื่อสังคมอาชีฟ อย่างที่หลายๆคนรู้จัก แต่สำหรับบางคนที่ไม่รู้จักเราอยากชวนคุณอ่านบรรทัดต่อไป
‘ต่าย’ ภนิธา โตปฐมวงศ์ คือผู้ที่ส่ง อีเมล์ฉบับนั้น และ ‘ต่าย’ คนเดียวกัน คือผู้ออก(จากอาชีฟ) เพื่อไปเรียนรู้การศึกทางเลือก
ต่าย : เหตุผลที่ออกไปเป็นครูเพื่อฝึกตัวเอง และต้องการเข้าใจเรื่องของการศึกษาทางเลือก เรามองว่าเป็นอีกทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษา
Q : ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องการศึกษา
ต่าย : ส่วนตัวเรา มี Passion เรื่องการศึกษา เรื่องการพัฒนาคน การดึงศักยภาพของคนอยู่แล้ว ก็เลยไปที่โรงเรียนเพื่อทำความเข้าใจ พอไปถึงจุดหนึ่งที่มันรู้สึกว่ามันได้ในสิ่งที่เราต้องการ และอาชีฟมันต้องการเรา เราก็เลยกลับมา
Q : เคยคิดที่จะไม่กลับมาไหม
ต่าย : มันเหมือนลูก มันไม่เคยคิดว่าจะไม่กลับมา
หากย้อนเวลากลับไปคำว่าธุรกิจเพื่อสังคมเป็นคำใหม่มากในประเทศของเรา
เด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากทำอะไรสักอย่างที่พยายามให้เด็กไทยได้ค้นพบตัวเอง เอาความเชื่อมั่นมาจากไหน
ว่าเขาจะดูแลกิจการเล็กๆแห่งนี้โดยไม่ เจ๊ง!!!
ต่าย : ตอนทำไม่ได้คิดขนาดนั้น เพราะสิ่งที่เราทำมันไม่ได้มีนิยามว่าเราคือ อาชีพอะไร แต่ว่ามันมี Passion มาชี้นำการกระทำ เราเชื่อมาตลอดอยู่แล้วว่าเราออกแบบชีวิตเราได้ เราอยากทำ และเรารู้สึกว่าเราต้องเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้แล้วก็เชื่อตลอดว่ามันต้องมีสักทางที่ทำได้”
Q : มีวันที่ความเชื่อของคุณถูกสั่นคลอนบ้างไหม
ต่าย : ไม่เคยเลย ตอนนั้นที่บ้านมีปัญหาเรื่องเงิน แต่มันก็เป็นช่วงที่ดื้อ เหมือนปิดตาไปข้างหนึ่ง
Q : ทำไมคุณถึงไม่เคยคิด ที่จะไปทำงานบริษัท
ต่าย : ถ้าเราต้องทำงานที่ไหนสักที่ มันต้องทุ่มเทใช่เปล่า ต้องทำงาน OT ดึกๆ มันก็ถามตัวเองว่า แล้วกูจะทุ่มเทอย่างนั้นเพื่ออะไรวะ แล้วคำตอบที่ได้มาก็คือ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท ก็คือเพื่อเข้ากระเป๋าเจ้าของซึ่งเหตุผลนี้สำหรับเรามันไม่ใช่
Q : คุณผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากมาได้อย่างไร
ต่าย : อย่างเดียวที่อยู่มาได้คือ ถึก แล้วสิ่งที่ทำมันทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำต่อเรื่อยๆ มันยังไม่เสร็จ มันยังต้องทำอีก มันไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า อายุเท่านี้ เอาเงินเดือนเท่านี้จริงหรือ ไปหาโอกาสที่อื่นดีกว่าไหม ไม่รู้สิ มันไม่เคยคิด เพราะตัวเองผลักดันด้วย เรารู้สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า เราพร้อมที่จะเหนื่อยกับมัน
กิจการเพื่อสังคมแห่งนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่า
การศึกษาไทยมันเดินทางในทางที่ถูกต้องแล้วหรือ
Q : การศึกษาไม่ได้แก้ปัญหานี้เหรอ
ต่าย : ไม่ ตอนนี้ก็มีอยู่หลายฝ่ายที่เห็นปัญหาของการศึกษาและก็พยายามจะแก้ แต่อาชีฟ เป็นองค์กรที่ให้เด็กกลับมาตั้งคำถามว่า เรียนไปเพื่ออะไร”
Q : คุณเชื่อว่าทำอย่างนี้แล้วประเทศเราจะเปลี่ยน
ต่าย : มันต้องเปลี่ยน การพัฒนาประเทศมันต้องกลับไปพัฒนาระบบการศึกษา แต่ตอนนี้เด็กไม่รู้เรียนไปเพื่ออะไร การศึกษาไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเขาแต่มันตอบโจทย์ตลาดแรงงาน”
Q : พูดอย่างนี้เหมือนคุณมีปัญหากับคนที่ทำอะไรตามกระแสหรือความต้องการของตลาด
ต่าย : เราไม่มีปัญหาอะไรกับคนที่ทำงานในตลาด และมันก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ สิ่งที่อาชีฟเชื่อเสมอคือเราเชื่อเรื่องของการออกแบบชีวิต ซึ่งการออกแบบชีวิตของเรา มันไม่ได้มาจากแค่ความฝันอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการที่คุณรู้จักตัวเองมากพอ ทั้งความต้องการ ความฝัน ความสามารถ ครอบครัว สภาพแวดล้อม มันต้องเกิดจากการที่คุณมองเห็นทั้งหมดแล้วคุณค่อยตัดสินใจเลือก วิเคราะห์ด้วยตัวคุณเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าเขาจะอยู่แบบไหน เราโอเคนะ ถ้าเขาเลือกด้วยตัวเขาเอง เพราะว่าปัจจัยชีวิตแม่งโคตรแตกต่าง แต่ถ้าเขาได้เลือกชีวิตด้วยตัวเอง เขาก็จะเติมเต็มตัวเอง
Q : แล้วที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันไม่ดีหรือ
ต่าย : มันหดหู่ไปนะพี่ ทำงานเพื่อเงิน แล้วก็เอาเงินไปหาความสุข ที่นี้เราว่ามันมีทางเลือกอื่นด้วยนะ คุณก็ทำสิ่งคุณเชื่อได้ ตอบแทนด้านเงินได้ แล้วก็ได้ตอบแทนคุณค่าของตัวเองไปพร้อมๆกัน เราเชื่อเร่ืองนี้ไง
Q : เด็กวัยรุ่นทุกวันนี้เขาต้องการอะไร
ต่าย : พอเราได้เจอเด็กมากขึ้น มุมมองที่เรามองเด็กมันชัดขึ้น เรารู้เลยว่าเขาขาดอะไร เขาขาดคนรับฟัง
Q : แล้วอาชีฟเข้าไปทำอะไรกับเขา
ต่าย : สิ่งเรารู้สึกว่าทำได้ดีขึ้นคือเราจัดกระบวนการกับเขา สิ่งที่เราทำเป็นหลักการสำคัญ คือ เราเปิดพื้นที่ ให้เขาพูดให้เขาได้เป็นตัวของเขาเอง
Q : การทำอาชีฟ ทำให้คุณเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ต่าย : มันเติบโตขึ้นทุกอย่างเลย เรารู้จักตัวเองมากขึ้นนะ มันรู้ว่าบทบาทตัวเองควรอยู่ตรงไหน”
Q : แล้วคุณได้เรียนรู้อะไร
ต่าย : ถ้าคุณมุ่งมั่นและคุณชัดเจนในสิ่งที่คุณเชื่อ และ คุณทำ ยังไงมันจะมีทางไปต่อเรื่อยๆ”